
Red Hat ชี้ การพัฒนานวัตกรรมและบริการบนโอเพ่นซอร์ซ แบงก์-โทรคมนาคมยังเป็นผู้นำ เชื่อการปรับใช้คลาวด์แบบไฮบริด และ Open Enterprise AI บนโอเพ่นซอร์ซ จะขยายสู่ธุรกิจอื่น ๆ ด้วยต้นทุนที่ต่ำลง
นางสาวสุพรรณี อำนาจมงคล ผู้จัดการประจำประเทศไทยของ Red Hat ผู้ให้บริการเทคโนโลยีโซลูชั่น-ซอฟต์แวร์ บนสถาปัตยกรรมโอเพ่นซอร์ซ เปิดเผยว่า การพัฒนานวัตกรรมและบริการบนโอเพ่นซอร์ซ กำลังเติบโตในภูมิภาค เฉพาะในประเทศไทยกลุ่มลูกค้าหรือพาร์ตเนอร์ส่วนใหญ่มาจากฝั่งสถาบันการเงิน และบริษัทโทรคมนาคม ซึ่งใช้บริการซอฟต์แวร์โอเพ่นซอร์ซมานานแล้ว เพราะเป็นบริษัทเทคโนโลยีรายแรก ๆ ของไทย
ต่อมาการเปลี่ยนแปลงทางเทคโนโลยีซับซ้อนขึ้น ผลสำรวจ Red Hat 2024 Global Tech Trends พบว่า ธุรกิจในภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิกให้ความสำคัญกับการลงทุน 3 ด้านหลัก ได้แก่ การพัฒนาแอปพลิเคชั่นคลาวด์-เนทีฟ การยกระดับประสบการณ์ดิจิทัลของผู้ใช้ และการเร่งกระบวนการนำเสนอแอปพลิเคชั่น/บริการออกสู่ตลาด
Red Hat ได้รับความวางใจจากพาร์ตเนอร์ทั่วโลกในกลุ่มสายการบิน แบงก์ และโทรคมนาคมในการสร้างความมั้นใจจากซอฟต์แวร์โอเพ่นซอร์ซและการเปลี่ยนระบบการทำงานสู่ Open Hybrid Cloud ซึ่งวันนี้ที่กำลังเข้าสู่โลกของเอไอ เราก็มีการสร้างแพลตฟอร์มโอเพ่นซอร์ซสำหรับเอไอ ไม่ว่าจะเป็น AI Model (RHEL AI), AI Platform (OpenShift AI), AI Enabled Portfolio (Lightspeed) และ AI Workloads
สิ่งเหล่านี้คือ Open Enterprise AI ที่จะช่วยให้ลูกค้าที่ต้องการใช้งานเอไอในองค์กรได้มีต้นทุนต่ำ แต่มีความยืดหยุ่นและเชื่อถือได้ เช่น หากต้องการเทรนด์โมเดลเอไอขนาดเล็กใช้เอง ก็สามารถใช้แพลตฟอร์มเหล่านี้ร่วมกับเอไอของเรา อย่างโมเดลพื้นฐาน Granite ก็จะทำให้ไม่ลงทุนสูงแต่ได้ SLM (Small Language Model) ไปรันบนคอมส่วนตัวได้เลย
“เรามีความเชี่ยวชาญในการทำให้โมเดลเล็กและราคาถูกลง นั่นก็เป็นอีกคุณสมบัติของโอเพ่นซอร์ซ”
นางสาวสุพรรณีกล่าวด้วยว่า แม้ระบบหลักของธนาคารจะไม่สามารถขึ้นบนคลาวด์ได้หมด แต่หลายเซอร์วิสก็ได้ใช้ไฮบริดคลาวด์แล้ว เมื่อรวมกับการบริหารจัดการซอฟต์แวร์และการพัฒนานวัตกรรมด้วยต้นทุนที่ถูกลง เชื่อว่า เมื่อแบงก์ซึ่งเป็นลูกค้าหลักของเราเดินนำแล้ว กลุ่มธุรกิจอื่น ๆ อย่างโรงงานอุตสาหกรรมก็จะเริ่มปรับตัวตาม และอาจต้องการโซลูชั่นคลาวด์โดยเฉพาะ เช่น ใช้ Edge Computing เพื่อประมวลผลใกล้โรงงานสำหรับลดความเสี่ยงในการเกิดอุบัติเหตุระหว่างผลิต เป็นต้น
โดยตัวอย่างการใช้โซลูชั่นของเร้ดแฮทอย่างสร้างสรรค์ เพื่อตอบสนองความต้องการของลูกค้าที่เปลี่ยนแปลงอย่างต่อเนื่องนั้น ทาง Red Hat ได้ยกย่องด้วยรางวัล Red Hat APAC Innovation Awards 2024 ประจำประเทศไทย โดยยกย่องความสำเร็จอันโดดเด่นของบริษัท เนชั่นแนล ไอทีเอ็มเอ๊กซ์ จำกัด (National ITMX Co., Ltd.) และธนาคารออมสิน (GSB)
National ITMX
ประเภทรางวัล : Digital Transformation และ Cloud-native Development
ผู้ได้รับรางวัล : บริษัท เนชั่นแนล ไอทีเอ็มเอ๊กซ์ จำกัด (National ITMX Co., Ltd.)
บริษัท เนชั่นแนล ไอทีเอ็มเอ๊กซ์ จำกัด (NITMX) ก่อตั้งขึ้นเพื่อเป็นโครงสร้างพื้นฐานด้านการชำระเงินของประเทศ โดยมีบทบาทสำคัญในการพัฒนาเทคโนโลยีการชำระเงิน เพื่อให้ระบบการชำระเงินและบริการทางการเงินของประเทศให้เกิดความทั่วถึง (Inclusive) ได้อย่างมีประสิทธิภาพ (Efficient) รวมถึงมีเสถียรภาพ (Stability) เพื่อให้สอดคล้องกับเศรษฐกิจดิจิทัลที่กำลังเติบโตและเพิ่มศักยภาพของประเทศในการแข่งขันระดับสากล
ปัจจุบันการโอนเงินและชำระเงินแบบดิจิทัลกลายเป็นทางเลือกหลักของผู้บริโภคและภาคธุรกิจ บทบาทของ National ITMX จึงมีความสำคัญในการสนับสนุน Thailand’s National e-Payment Roadmap บริษัทมุ่งมั่นและให้ความสำคัญในการเพิ่มขีดความสามารถในการรองรับปริมาณธุรกรรม (Scalability), การเชื่อมต่อระบบ (Interoperability) และความปลอดภัย (Security) เพื่อสร้างระบบการเงินที่แข็งแกร่งและไร้รอยต่อ ซึ่งจะช่วยขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทยให้เติบโตอย่างยั่งยืน และเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันในระดับโลก
ด้วยการเติบโตอย่างรวดเร็วของ PromptPay ซึ่งมีจำนวนผู้ใช้งานและปริมาณธุรกรรมเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ทำให้การเพิ่มขีดความสามารถในการรองรับปริมาณธุรกรรมจำนวนมาก, ความเสถียรของระบบ และการเชื่อมต่อกับระบบอื่น ๆ จึงกลายเป็นปัจจัยที่สำคัญอย่างยิ่ง เพื่อรองรับการเติบโตดังกล่าว บริษัท เนชั่นแนล ไอทีเอ็มเอ๊กซ์ จำกัด (NITMX) ได้ลงทุนพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานการชำระเงินใหม่ โดยร่วมมือกับเร้ดแฮท เพื่อนำ Red Hat OpenShift Container Platform, Red Hat Enterprise Linux และ Red Hat Ansible Automation Platform มาใช้เป็นเทคโนโลยีหลัก
การนำเทคโนโลยีคอนเทนเนอร์ (Containerization) ระบบอัตโนมัติ (Automation) และซอฟต์แวร์โอเพ่นซอร์ซระดับองค์กรมาใช้ ช่วยเสริมสร้างความสามารถของระบบ PromptPay ให้มีความยืดหยุ่น ปลอดภัย และสามารถรองรับปริมาณธุรกรรมที่เพิ่มขึ้นได้อย่างมีประสิทธิภาพ
โดยการพัฒนาดังกล่าวช่วยให้ระบบ PromptPay สามารถยกระดับการทำงานร่วมกับสถาบันการเงินและเครือข่ายการชำระเงินได้อย่างไร้รอยต่อ ตลอดจนสนับสนุนให้ประเทศไทยก้าวสู่การเป็นผู้นำด้านการชำระเงินดิจิทัลและนวัตกรรมทางเศรษฐกิจในระดับสากล
ธนาคารออมสิน
รางวัล : Digital Transformation และ Cloud-native Development
ผู้ได้รับรางวัล : ธนาคารออมสิน (GSB)
ธนาคารออมสินเป็นธนาคารเพื่อสังคมที่มีวัตถุประสงค์หลัก 2 ประการ คือ ลดความเหลื่อมล้ำ สร้างการเข้าถึงแหล่งทุนที่เป็นธรรม ด้วยการนำกำไรจากการดำเนินกิจการเชิงพาณิชย์ไปสนับสนุนภารกิจเพื่อสังคม ปัจจุบันธนาคารมีฐานลูกค้ามากกว่า 26 ล้านบัญชี และยังคงมุ่งมั่นปรับภาพลักษณ์และพัฒนาบริการให้ทันสมัย เพื่อตอบสนองความต้องการและความพึงพอใจของลูกค้าทุกกลุ่ม ท่ามกลางการแข่งขันที่สูงในการเปิดตัวบริการทางการเงินใหม่ ๆ เพื่อขยายฐานลูกค้าและเพิ่มรายได้ ธนาคารออมสินเล็งเห็นถึงความจำเป็นในการเดินหน้าสู่กระบวนการเปลี่ยนแปลงทางดิจิทัล (Digital Transformation)
ธนาคารออมสินได้ร่วมมือกับเร้ดแฮทเพื่อทรานส์ฟอร์มทีมพัฒนาแอปพลิเคชั่นของธนาคาร ผ่าน Red Hat Open Innovation Labs Residency โดยใช้พัฒนาโครงการนำร่องด้านบริการสินเชื่อ ส่งผลให้ปัจจุบันลูกค้าสินเชื่อของธนาคาร สามารถลงทะเบียนขอสินเชื่อ และตรวจสอบวงเงินที่สามารถขอสินเชื่อได้ ผ่านแพลตฟอร์ม Online Lending Advisor ในสาขาที่กำหนด หรือผ่านทางแอปพลิเคชั่นบนมือถือ GSB MyMo แทนกระบวนการแบบเดิมที่ต้องดำเนินการด้วยตัวเอง
ซึ่งมักจะต้องผ่านขั้นตอนคัดกรองเบื้องต้นที่สาขา และใช้ระยะเวลา 1 สัปดาห์หรือมากกว่านั้น การดำเนินการดังกล่าว ช่วยให้กระบวนการพัฒนาแอปพลิเคชั่นทำได้รวดเร็วยิ่งขึ้นเมื่อเทียบกับแอปพลิเคชั่นโมโนลิทิก (Monolithic) แบบเดิมที่เคยใช้ ทำให้ธนาคารสามารถนำผลิตภัณฑ์ออกสู่ตลาดได้เร็วขึ้น นอกจากนี้ ทีมพัฒนาแอปพลิเคชั่นภายในองค์กรของธนาคารออมสิน ยังได้นำวัฒนธรรม DevOps มาใช้ ซึ่งช่วยส่งเสริมการทำงานร่วมกันภายในทีม เปิดโอกาสให้มีการแลกเปลี่ยนแนวคิดและทักษะระหว่างสมาชิกในทีม เพื่อสร้างแอปพลิเคชั่นที่ตอบโจทย์และส่งสู่ตลาดได้ในเวลาที่เหมาะสม