LINE ย้ำ Life Platform ตอบโจทย์ชีวิตดิจิทัล เสริมคม SMEs

LINE
นรสิทธิ์ สิทธิเวชวิจิตร-รัฐธีร์ ฉัตรดำรงค์ศักดิ์

“ไลน์” (LINE) แอปแชตที่อยู่ในชีวิตประจำวันตั้งแต่ตื่นจนนอนหลับมาเกือบ 14 ปี ไม่ว่าจะสนทนากับเพื่อน ครอบครัว พูดคุยเรื่องงาน การรวมตัวของคนที่สนใจเรื่องเดียวกัน สู่การเป็นแพลตฟอร์มสำหรับซื้อขายสินค้า, เพย์เมนต์ และอีกมากมาย ปีล่าสุด 2025 LINE ชูพันธกิจใหม่ “Create an amazing life platform that brings WOW ! to our users” จากเดิมที่มุ่งเชื่อมผู้คนเข้าด้วยกัน (Closing the Distance) เพื่อก้าวสู่การเป็น “Life Platform” เพื่อการใช้ชีวิตบนโลกดิจิทัลของคนไทย

“นรสิทธิ์ สิทธิเวชวิจิตร” รองประธานเจ้าหน้าที่ฝ่ายปฏิบัติการ LINE ประเทศไทย กล่าวว่า นำจุดแข็งของฟีเจอร์แชตมาผสานกับกลยุทธ์การพัฒนาบริการแบบ “Hyper-localization & Humanization” เพื่อพัฒนาบริการใหม่ ๆ ที่ตอบโจทย์ความต้องการผู้ใช้ในไทยกว่า 56 ล้านคน (ข้อมูล ณ มิ.ย. 2567)

ผุด 3 บริการใหม่

ประกอบด้วย 3 บริการใหม่ที่จะให้บริการในปีนี้ คือ 1.LINE PREMIUM ระบบสมาชิกที่มาพร้อมฟีเจอร์พิเศษ เช่น Multiple Profiles สำหรับสร้าง Sub profile เปลี่ยนรูปและชื่อโปรไฟล์ของตนเองให้เหมาะกับเพื่อนแต่ละกลุ่ม และ Message Backup ที่ช่วยเก็บรักษาข้อความ รูปภาพ ไฟล์เอกสาร และวิดีโอได้แบบไม่มีวันหมดอายุ พร้อมพื้นที่จัดเก็บสูงสุด 100GB ราคา 169 บาทต่อเดือน คาดว่าจะเปิดให้สมัครสมาชิกในไตรมาส 2 และไทยเป็นประเทศที่ 2 ต่อจากญี่ปุ่น

“บริการนี้ใช้เวลาพัฒนากับบริษัทแม่ค่อนข้างนาน เพราะไม่มีประเทศไหนใช้ LINE ทำงานแบบไทย ส่วนที่ต้องเก็บค่าบริการ เพราะใช้ทรัพยากรในการบริหารจัดการมากขึ้น คาดว่าฟีเจอร์ Message Backup จะได้รับความนิยมในกลุ่มผู้ใช้ชาวไทย เนื่องจากระยะเวลาในเก็บไฟล์ถือเป็นเพนพอยต์มานาน”

บริการที่ 2.LINE GIFT เป็น e-Gifting ที่ช่วยให้ผู้ใช้ LINE ส่งของขวัญให้เพื่อนผ่านหน้าแชตด้วย e-Voucher และสินค้าจากแบรนด์ต่าง ๆ ที่ส่งตรงถึงผู้รับแม้ไม่รู้ที่อยู่ ซึ่งไทยเป็นประเทศที่ 2 ต่อจากไต้หวัน จากพฤติกรรมการใช้งานที่ใกล้เคียงกัน คาดว่าจะเริ่มให้บริการได้ในครึ่งปีหลัง

“เราพูดคุยกับแบรนด์พาร์ตเนอร์แล้วกว่า 50 ราย คาดว่าช่วงแรกสินค้าที่คนนิยมส่งผ่าน LINE GIFT จะเป็นของกินของใช้ หรือของที่ราคาไม่สูง เมื่อเกิดเรียนรู้มากขึ้นก็น่าจะส่งสินค้าที่ราคาสูงขึ้น เช่น กลุ่มสินค้าลักเซอรี่ เป็นต้น LINE GIFT น่าจะช่วยเพิ่มโอกาสให้แบรนด์ต่าง ๆ ในการขายเต็มราคาท่ามกลางการทำโปรโมชั่น หรือตัดราคาในบางแคมเปญ เพราะคนจะคิดว่าการให้ของขวัญต้องให้สิ่งที่ดีที่สุด จึงไม่ซีเรียสเรื่องราคา”

ADVERTISMENT

บริการที่ 3.LINE HEALTH จะเชื่อมต่อผู้ใช้กับผู้ให้บริการทางการแพทย์ออนไลน์ มีทั้งบริการจาก Health at Work ผู้ให้บริการดูแลสุขภาพโดยแพทย์ และผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้าน และการให้คำปรึกษาสุขภาพจิตโดย OOCA ผู้ให้บริการปรึกษาจิตแพทย์และนักจิตวิทยาผู้เชี่ยวชาญทางออนไลน์ พร้อมใช้งานในระยะทดลองผ่านการเพิ่มเพื่อนบัญชีทางการ @LINEHEALTH

“เร็ว ๆ นี้ LINE HEALTH จะเปิด Health Shop ศูนย์รวมผลิตภัณฑ์เพื่อสุขภาพ พร้อมทั้งขยายเครือข่ายความร่วมมือ เชื่อมต่อกับผู้ให้บริการรายอื่น ๆ รวมถึงการให้บริการสำหรับผู้ถือสิทธิบัตรทองด้วย”

ADVERTISMENT

พัฒนาโซลูชั่นเพื่อธุรกิจ

นอกจากบริการสำหรับผู้ใช้ทั่วไปแล้ว LINE ยังเปิดตัว “LINE MINIAPP” ขยายขีดความสามารถของแพลตฟอร์มให้นักพัฒนาสร้างแอปบน LINE ได้ ลดข้อจำกัดในการพัฒนา Native App ที่ใช้เวลา และทรัพยากรสูง รวมถึงมีโปรแกรม LINE DEVELOPER PARTNER ส่งเสริมศักยภาพนักพัฒนาไทย และเปิดโอกาสให้นักพัฒนาเข้าถึงการสนับสนุนจาก LINE

ในฝั่ง LINE Official Account (LINE OA) ที่ปัจจุบันมีกว่า 6 ล้านบัญชี ก็เป็นโซลูชั่นพื้นฐานในการสร้างหน้าร้านดิจิทัล ที่ช่วยให้เอสเอ็มอี (SMEs) สร้างการเติบโตผ่านการเข้าถึงลูกค้ากลุ่มใหม่ ๆ และปิดการขายได้ง่ายขึ้น

“รัฐธีร์ ฉัตรดำรงค์ศักดิ์” รองประธานเจ้าหน้าที่ฝ่ายการพาณิชย์ LINE ประเทศไทย กล่าวว่า โซลูชั่นของ LINE ช่วยให้แบรนด์หรือเอสเอ็มอีออกแบบ Customer Journey ได้ตามวัตถุประสงค์ที่ต้องการ ตั้งแต่ทำความรู้จัก การสร้างความสนใจ ตัดสินใจซื้อครั้งแรก และกลับมาซื้อซ้ำพร้อมบอกต่อ

เริ่มจากการมี LINE OA ไว้พูดคุยกับลูกค้า และหาลูกค้าที่ใช่ด้วยการลงโฆษณาผ่าน LINE Ads พร้อมใช้ Rich Menu ในการอำนวยความสะดวกให้ลูกค้าค้นหาข้อมูลสินค้าและบริการ และใช้ Rich Message ในการนำเสนอคอนเทนต์ที่ดึงดูดและตรงใจ เพิ่มโอกาสให้ลูกค้าคลิกและมีส่วนร่วมกับแบรนด์มากขึ้น

โดยร้านค้าที่ใช้ Rich Menu มียอดขาย และออร์เดอร์สูงกว่าปกติ 19 เท่า และร้านค้าที่ทำภาพสะดุดตา ใช้คำน่าสนใจ มีจำนวนคลิก LINE Ads สูงกว่าปกติ 3 เท่า เมื่อกระตุ้นความสนใจด้วยบรอดแคสต์รูปแบบคูปองจะช่วยเพิ่มอัตราการเปิดอ่านสูงกว่าแบบข้อความ 3.2 เท่า

และเมื่อลูกค้ากำลังตัดสินใจซื้อสินค้า ก็มีเครื่องมือปิดการขายอย่าง My Shop ให้เลือกสินค้า ดูรายละเอียด และกดสั่งซื้อได้โดยตรงผ่านแชต รวมถึงมีฟีเจอร์ Chat Tag ที่ช่วยให้ธุรกิจระบุกลุ่มลูกค้าได้ดีขึ้น พร้อมทั้งรักษาความสัมพันธ์กับลูกค้าเพื่อให้เกิดการซื้อซ้ำและบอกต่อด้วยระบบสมาชิก MyCustomer I CRM ที่มีการมอบสิทธิพิเศษ ข้อเสนอเฉพาะบุคคล และการสื่อสารที่ตรงใจ

เสริมเขี้ยวเล็บเอสเอ็มอี

“80-90% ของบัญชี LINE OA เป็นเอสเอ็มอี ซึ่ง Top 3 จะเป็นแฟชั่น ค้าปลีก และอาหาร สอดคล้องกับจำนวนร้านบน My Shop ที่มีราว 6 แสนร้าน หลายร้านมีการโปรโมตบน LINE SHOPPING ด้วย เก็บค่าธรรมเนียมการขาย 3% แต่ร้านที่ขายสินค้าแบบคัสตอมเฉพาะบุคคล ก็อาจโฟกัสที่การขายบน My Shop อย่างเดียว”

“รัฐธีร์” กล่าวด้วยว่า นอกจากโซลูชั่นต่าง ๆ ที่ออกมาเพื่อซัพพอร์ตเอสเอ็มอีแล้ว ปีนี้ LINE ยังผลักดันเรื่องการให้ความรู้เกี่ยวกับการสร้างแบรนด์ (Branding) เพื่อให้เอสเอ็มอีสร้างความสัมพันธ์กับลูกค้าในระยะยาว เนื่องจากช่วงที่ผ่านมาภาคธุรกิจยังคงเผชิญกับความท้าทายหลายด้าน ไม่ว่าจะเป็นกำลังซื้อที่ลดลง ปัญหาหนี้ครัวเรือน ต้นทุนดำเนินงานที่สูงขึ้น การแข่งขันในช่องทางออนไลน์ที่รุนแรง และการนำเข้าสินค้าราคาถูกจากจีนที่เพิ่มขึ้น 10.34% ในปี 2024

“การทำธุรกิจด้วยการแจกโปรโมชั่นไปเรื่อย ๆ ไม่ Healthy กับเอสเอ็มอีในระยะยาว สิ่งที่ LINE แนะนำได้ คือการที่เอสเอ็มอีต้องสร้าง Branding ให้ลูกค้ารู้สึกถึงคุณค่ามากกว่าแค่มาซื้อสินค้าเฉย ๆ บอกให้ชัดว่าเราเป็นใคร ขายอะไร และที่สำคัญต้องเก็บ First Party Data เพื่อให้รู้ว่าคนที่มาซื้อของเราเป็นใคร และเข้าถึงลูกค้าได้อย่างมีประสิทธิภาพ”