สภาองค์กรของผู้บริโภค ยื่นหนังสือ กสทช. วอนชะลอประมูลคลื่นความถี่

สภาองค์กรของผู้บริโภค ยื่นหนังสือ กสทช. วอนชะลอประมูล 6 คลื่นความถี่ ชี้มีผู้เข้าร่วมแค่สองราย การถือครองคลื่นกระจุกตัว อาจทำให้รัฐ-ประชาชนเสียประโยชน์ทางเศรษฐกิจดิจิทัลในระยะยาว หวังให้ดูแล NT เป็นทางเลือกด้านโทรคมนาคมให้ประเทศ

นางสาวสุภิญญา กลางณรงค์ ประธานอนุกรรมการด้านกิจการสื่อสารโทรคมนาคมและสารสนเทศ สภาองค์กรของผู้บริโภค ได้ยื่นหนังสือต่อคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) โดยมี พล.อ.สิทธิชัย มากกุญชร ผู้ปฏิบัติงานประจำประธาน กสทช. ปฏิบัติหน้าที่โฆษกประจำประธาน กสทช. รับหนังสือดังกล่าวที่สำนักงาน กสทช.

นางสาวสุภิญญาเปิดเผยว่า ปกติถ้ามีการประมูลคลื่นความถี่โดยเฉพาะโทรคมนาคม เราก็จะเห็นว่า เป็นเรื่องใหญ่แล้วก็จะมีข้อถกเถียงเป็นธรรมดาที่กรรมการ กสทช. ก็อาจมีความคิดเห็นไม่ตรงกัน การประมูลรอบนี้มีถึง 6 ย่านความถี่ ซึ่งคิดว่ามันค่อนข้างจะใหญ่ จะส่งผลต่อภาพรวมของการจัดคลื่นความถี่ที่เป็นภารกิจหน้าที่หลักของ กสทช.

“วันนี้เรามาก็ได้แค่ 2 เหตุผลหลัก ๆ ก็คืออยากที่จะให้การจัดสรรคลื่นเสรีเป็นธรรม และการคุ้มครองผู้บริโภค เราก็อยากจะขอเวลาในการที่จะให้สังคมและผู้บริโภคได้ร่วมแสดงความคิดเห็น โดยเฉพาะตอนนี้กิจการโทรคมนาคม มีผู้แข่งขันน้อยราย และอาจมีการกระจุกตัวการถือครองคลื่นความถี่ในประเทศไทย ถ้าอยู่ในมือน้อยรายมันอาจจะส่งผลต่อเรื่องของเศรษฐกิจดิจิทัลระยะยาว”

เพราะว่าในยุคไอโอที การทำธุรกรรมการเงิน เรียนหนังสือ เสพข้อมูลข่าวสาร ต้องอยู่บนคลื่นความถี่หมด ถ้าเกิดมีน้อยรายแล้วติดขัดอะไรขึ้นมา มันก็กระทบทั่วประเทศเลย มันคงต้องมีการออกแบบ การบริหาร กระจายคลื่นความถี่ที่ไม่ให้กระจุกตัวผูกขาด

และที่สำคัญเราก็กังวลอนาคตของ NT (บริษัท โทรคมนาคมแห่งชาติ จำกัด (มหาชน)) ซึ่งเป็นวิสาหกิจของชาติ ได้กำหนดหมดใบอนุญาตแล้ว เกณฑ์การประมูลก็ไม่รู้ว่า NT จะมีสิทธิ์ลุ้นไหม อย่างน้อย NT สามารถเป็นทางเลือกเล็ก ๆ ของผู้บริโภค

ADVERTISMENT

“อย่างน้อยเรารับประกันได้ว่าอุ่นใจ ในแง่ที่ว่าถ้าเกิดอะไรขึ้น เรายังมีแพลตฟอร์มคลื่นความถี่ที่รัฐบริหาร แล้วก็อาจจะบริการให้กับผู้มีรายได้น้อย หรือพื้นที่ห่างไกล เพราะว่าเอกชน ถ้าพูดไปตรง ๆ มาเขาก็ต้องทำหนึ่งกำไรเป็นแบบนี้ ใครจะดูแลเรื่องของประโยชน์ผู้บริโภค”

เพราะฉะนั้น หนึ่งเราก็ห่วงทั้งเรื่องภาพรวมการจัดสรรคลื่นความถี่ที่นำไปสู่การกระจุกตัว และอีกส่วนคือ อนาคตของ NT ซึ่งเป็นรัฐวิสาหกิจของชาติ ซึ่งน่าจะได้รับการดูแล เพราะฉะนั้นถ้าเกิดมาพร้อมกันแล้วเขาไม่มีสิทธิ์มันก็จะลำบาก สามารถเป็นไปได้ไหมที่ทยอยประมูล แบบนี้ไม่ต้องมาประจุเดี๋ยวมันจะดูแบบกระจายไป ยังไม่นับถึงมีข่าวว่า มีการลดราคาคลื่นความถี่ 30% จริงไหม ก็จะต้องฝากให้ขอชี้แจงว่า ถ้าประมูลลอตเดียวเทกระจาดหลายรายแล้วลดราคามันจะทำให้กระทบประโยชน์ประเทศชาติหรือไม่ อย่างไร

ADVERTISMENT

แล้วก็ประเด็นคุ้มครองผู้บริโภค ก็อยากจะมีหลักประกันอยู่ในเงื่อนไขการประมูลว่าไม่ว่าใครจะชนะจะต้องมีเงื่อนไขทั้งในเรื่องของการกำกับดูแล ประเด็นกลไกการเข้าถึงในชนบท หรือกลไกราคาบริการหรืออะไร อยากจะมา

เรามาเพียงจะบอกว่าขอให้ท่านชะลอเพื่อให้รับฟังความคิดเห็นจากภาคส่วนต่าง ๆ อย่างรอบด้าน จากการ ประมูลครั้งนี้ มันจะได้ออกมาไม่ถูกสังคมวิพากษ์วิจารณ์ หรือมีปัญหามากเกินไป เพราะในสถานการณ์ปัจจุบัน หลังการควบรวมกิจการโทรคมนาคม ทั้งเน็ตบ้านและเน็ตมือถือ ทำให้เรามีทางเลือกน้อยรายอยู่แล้ว เราก็ไม่แน่ใจว่าเราประมูลคลื่น 6 ย่านรอบนี้ จะนำพาสังคมไทยไปสู่อะไร