“BNPL” บูมขึ้นในไทย ร้านค้า 35% บอกลูกค้านิยม “ซื้อก่อน จ่ายทีหลัง”

BNPL-Buy Now Pay Later

IDC เผย 94% ของการชำระเงินในตลาดอีคอมเมิร์ซอาเซียน จะเป็นการชำระเงินดิจิทัล ภายในปี 2571 เพิ่มโอกาสผู้ค้าข้ามพรมแดนปั๊มยอดขาย เจาะมาที่ไทยพบ “Buy Now Pay Later” (BNPL) บูมขึ้นช่วง 12 เดือนที่ผ่านมา ร้านค้า 35% บอกลูกค้าใช้บริการ “ซื้อก่อน จ่ายทีหลัง” มากขึ้น

เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เป็นพื้นที่เศรษฐกิจขนาดใหญ่อันดับ 5 ของโลก ที่เศรษฐกิจดิจิทัลมีความแข็งแรงมาก ๆ สะท้อนผ่านวิถีชีวิตที่ผูกติดกับโลกออนไลน์ในหลายด้าน รวมถึงการใช้งานแพลตฟอร์มอีคอมเมิร์ซ และการชำระเงินดิจิทัลที่มีแต่จะเพิ่มขึ้นทุกวัน

จากข้อมูลของรายงาน How Southeast Asia Buys and Pays 2025 โดยบริษัทวิจัยตลาด IDC ที่จัดทำตามคำสั่งของแพลตฟอร์มการชำระเงิน 2C2P และแอนทอม (Antom) เพื่อศึกษาภูมิทัศน์การชําระเงินดิจิทัลที่เปลี่ยนแปลงไปในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ผ่านการสำรวจความเห็นกลุ่มตัวอย่าง 600 คน ในอินโดนีเซีย ฟิลิปปินส์ มาเลเซีย สิงคโปร์ ไทย และเวียดนาม พบว่า

ตลาดอีคอมเมิร์ซในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้จะเติบโตจนมีมูลค่าถึง 3.25 แสนล้านเหรียญสหรัฐ (11.21 ล้านล้านบาท) ภายในปี 2571 โดยมีปัจจัยสนับสนุนจากการขยายตัวของการชำระเงินดิจิทัลอย่างรวดเร็ว รวมถึงการชำระเงินดิจิทัลจะมีสัดส่วนถึง 94% ของการชำระเงินทั้งหมดในตลาดอีคอมเมิร์ซ ซึ่งช่องทางการชำระเงินภายในประเทศ และกระเป๋าเงินดิจิทัล จะมีบทบาทสำคัญในการขยายตัวของอีคอมเมิร์ซในภูมิภาคที่มีการใช้บัตรเครดิตน้อยกว่า

ในปี 2566 กระเป๋าเงินดิจิทัลเป็นตัวเลือกที่ได้รับความนิยมสูงสุดในอินโดนีเซีย มาเลเซีย และเวียดนาม ขณะที่ช่องทางการชำระเงินภายในประเทศครองความนิยมในสิงคโปร์และไทย แนวโน้มนี้ยังคงดำเนินต่อไปในปี 2567 โดยกระเป๋าเงินดิจิทัลเป็นวิธีการชำระเงินที่ได้รับการยอมรับเป็นอันดับ 2 จากผลสำรวจผู้ค้าในสิงคโปร์และฟิลิปปินส์ และเป็นอันดับ 3 ในอินโดนีเซียและไทย

ส่วนการชำระเงินแบบเรียลไทม์ (RTPs) จะเติบโตอย่างก้าวกระโดดในปี 2571 คาดว่าจะมีมูลค่ามากกว่า 11 ล้านล้านเหรียญสหรัฐ (379.5 ล้านล้านบาท) ซึ่งเริ่มเห็นการเติบโตของ RTPs อย่างชัดเจนแล้วในสิงคโปร์ เช่น PayNow เป็นวิธีการชำระเงินที่ได้รับความนิยมสูงสุดเป็นอันดับ 3 จากผลสำรวจผู้ค้าในปี 2567

ADVERTISMENT

การเติบโตของการชำระแบบเรียลไทม์ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ได้รับแรงผลักดันจากโครงการริเริ่มของรัฐบาลที่มุ่งลดการพึ่งพาเงินสดและส่งเสริมวิธีการชำระเงินที่รวดเร็วและมีต้นทุนต่ำ ซึ่งตอบสนองความต้องการของทั้งผู้บริโภคและผู้ค้า

อย่างไรก็ตาม แนวโน้มการขยายตัวของตลาดอีคอมเมิร์ซและการชำระเงินดิจิทัล ยังช่วยเพิ่มโอกาสของธุรกิจการค้าข้ามพรมแดนในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ที่มูลค่าตลาดมีโอกาสสูงถึง 14.6 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ (5.04 แสนล้านบาท) ภายในปี 2571 นับว่าโตขึ้น 2.8 เท่าจากปี 2566

ADVERTISMENT

จากการสำรวจพบว่า 62% ของผู้ค้าชาวเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ที่ทำธุรกิจการค้าข้ามพรมแดน สามารถทำรายได้จากธุรกรรมดังกล่าวสูงกว่าธุรกรรมภายในประเทศ โดยเฉลี่ย 21% รวมถึงมูลค่าเฉลี่ยของการทำธุรกรรมข้ามพรมแดนต่อผู้บริโภค 1 คน มักจะมีมูลค่าสูงกว่าการทำธุรกรรมภายในประเทศ ยกเว้นที่เวียดนามและอินโดนีเซีย

ปัจจุบันธุรกิจการค้าข้ามพรมแดนได้รับการสนับสนุนเพิ่มเติมจากโครงการ Regional Payment Connectivity (RPC) ที่เกิดจากความร่วมมือของ 6 ประเทศในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ โดยมีเป้าหมายเพื่อเสริมสร้างและปรับปรุงระบบชำระเงินระหว่างประเทศให้มีความคล่องตัว มีประสิทธิภาพ และคุ้มต้นทุนยิ่งขึ้น

เมื่อเจาะรายละเอียดแยกมาที่ประเทศไทยจะพบว่ามีอินไซต์ของการจับจ่าย และการใช้ระบบชำระเงินดิจิทัลที่น่าสนใจ ดังนี้

  • การเปลี่ยนแปลงของส่วนแบ่งตลาดวิธีการชำระเงินสำหรับธุรกรรมอีคอมเมิร์ซในประเทศไทยระหว่างปี 2566 ถึง 2571 จะเป็นบริการซื้อก่อน จ่ายทีหลัง (+3%), กระเป๋าเงินมือถือ (0%), ระบบชำระเงินในประเทศ (+4%), บัตร (+1%) และอื่น ๆ (-7%)
  • การยอมรับวิธีการชำระเงินต่าง ๆ ของร้านค้าในปี 2567 จะเป็น 79% รับบัตรเครดิต/เดบิต, 75% รับการชำระเงินออฟไลน์ (เก็บเงินปลายทาง/ชำระที่เคาน์เตอร์), 58% รับกระเป๋าเงินมือถือ/อีวอลเลต, 37% รับการโอนเงินผ่านธนาคาร, 29% รับการชำระเงินแบบเรียลไทม์/QR และ 10% รับการชำระเงินผ่านบริการซื้อก่อน จ่ายทีหลัง ซึ่งได้รับความนิยมมากขึ้นด้วยในช่วง 12 เดือนที่ผ่านมา
  • 35% ของร้านค้าพบว่าความนิยมของบริการซื้อก่อน จ่ายทีหลังเพิ่มขึ้น
  • 34% ของร้านค้าสังเกตเห็นความต้องการที่เพิ่มขึ้นสำหรับการชำระเงินแบบไร้สัมผัส
  • 33% ของร้านค้าสังเกตเห็นความสนใจที่เพิ่มขึ้นในการใช้สกุลเงินดิจิทัลสำหรับธุรกรรม
  • 32% ของร้านค้าระบุว่าการชำระเงินแบบไร้สัมผัสเป็นกลยุทธ์สำคัญต่อธุรกิจในอนาคต
  • 30% ของร้านค้าระบุว่าการชำระเงินด้วยเสียงเป็นกลยุทธ์สำคัญต่อธุรกิจในอนาคต
  • 27% ของร้านค้าระบุว่าโซลูชั่นการชำระเงินข้ามพรมแดนเป็นกลยุทธ์สำคัญต่อธุรกิจในอนาคต

ในปี 2566 IDC ประเมินว่ามีเพียง 55% ของระบบ POS ในประเทศไทยรองรับ NFC เมื่อเทียบกับมาเลเซียที่ 93% และสิงคโปร์ที่ 95% เท่ากับว่าตลาดการชำระเงินแบบไร้สัมผัสในไทยยังมีโอกาสเติบโตอีกมาก

ภูมิทัศน์การชําระเงินดิจิทัลที่เปลี่ยนแปลงไป สะท้อนว่าเอเชียตะวันออกเฉียงใต้กำลังก้าวขึ้นเป็นศูนย์กลางด้านดิจิทัลคอมเมิร์ซและนวัตกรรม ทำให้ธุรกิจต่าง ๆ จำเป็นต้องอาศัยระบบธุรกรรมที่ราบรื่นและมีประสิทธิภาพในการขยายการเติบโตข้ามพรมแดน และเพื่อรักษาความสามารถการแข่งขัน โดยระบบการชำระเงินไม่ได้เป็นเพียงโครงสร้างพื้นฐาน แต่เป็นตัวเร่งการเติบโตของธุรกิจด้วย