ต้นทุน Digital Twin ลดเท่าตัว DTX ยอมเฉือนเนื้อ โฟกัสเกมยาว

DTX
ดร.สรัสไชย องค์ประเสริฐ

แนวโน้มการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานกายภาพให้เป็น Digital Twin เป็นทิศทางของการปรับตัวสู่ดิจิทัล ที่ไม่ว่าเมืองทั้งเมือง โรงงาน สินทรัพย์ ตลอดจนนิคมอุตสาหกรรมขนาดใหญ่จะแปลงเป็นโมเดล และแดชบอร์ด เพื่อให้เกิดการบริหารจัดการทุกสิ่งทำได้จากหน้าจอด้วยปลายนิ้วของผู้บริหาร ไม่ต้องเปลืองแรงคนไปชั่งตวงวัด หรือเปิดปิดไฟ ปิดปั๊มน้ำ

แต่แม้เทคโนโลยีจะพร้อมพรั่งเพียงใด การปรับใช้งานนับว่ายังเป็นความท้าทายอาจด้วยยังไม่เห็นความจำเป็น หรือบางส่วนมองว่าใช้ต้นทุนสูง

“ประชาชาติธุรกิจ” มีโอกาสพูดคุยกับ “ดร.สรัสไชย องค์ประเสริฐ” ผู้อำนวยการอาวุโสฝ่ายงานเทคโนโลยี บริษัท ดี ที เอ็กซ์ จำกัด (DTX) บริษัทร่วมทุนระหว่าง บมจ.ทีมกรุ๊ป และ บมจ.ดิทโต้ ซึ่งถอดบทเรียนการทำ Digital Twin นิคมอุตสาหกรรม 14 แห่ง ของการนิคมแห่งประเทศไทย (กนอ.) เรียกได้ว่าเป็นรายแรกที่บุกเบิกงานสำรวจ และก่อสร้างทางดิจิทัล ซึ่งถือเป็นรูปแบบการทำงานแบบใหม่ ตอบโจทย์สังคมยุคดิจิทัล

โมเดล 3 มิติสู่ดิจิทัลทวิน

“ดร.สรัสไชย” เท้าความย้อนไปว่า การพัฒนาโมเดลสามมิติ และดิจิทัลทวิน สำหรับโครงสร้างการก่อสร้างมีมานานแล้ว เรียกว่า BIM (Building Information Modeling) และว่า ก่อนหน้านี้ ตนทำงานอยู่กับ TeamG ก็เขียนและใช้ซอฟต์แวร์เหล่านี้มานาน แต่เมื่อมีการพัฒนาเซ็นเซอร์ “ไอโอที” ที่โมเดล BIM ตอบสนองได้ “เกือบจะ” เรียลไทม์ ซึ่งเป็นเรื่องท้าทาย เพราะต้องนำผู้เชี่ยวชาญสาขาต่าง ๆ มากกว่า 10 สาขามาทำงานร่วมกัน ไม่ว่าเป็นสายโยธา, สถาปัตย์, สำรวจ, เรดาร์ ระบบสามมิติ วิศวกรรมซอฟต์แวร์ เป็นต้น

“5 ปีก่อน ผมพยายามเสนอระบบ Digital Twin กับผู้บริหารองค์กรหลายแห่ง โดยเฉพาะผู้พัฒนาอสังหาริมทรัพย์แทบจะทุกราย หรือคนที่มีตึกอาคารใหญ่ ๆ แต่ล้วนได้รับการปฏิเสธ เหตุผลคือเขายังมีคนงานไปจดมิเตอร์ ไปตรวจสอบสิ่งต่าง ๆ ในอาคารได้ จะลงทุนมากมายเพื่อได้โมเดลสามมิติแค่นั้นหรือ แต่วันนี้ต่างออกไป เพราะราคาเซ็นเซอร์ต่อหน่วยถูกลงมาก อีกทั้งเรายังได้บทเรียนสำคัญจากการรับงานของ กนอ.มาเมื่อ 2-3 ปีก่อน ทำให้ต้นทุนลด ราคาที่คิดกับลูกค้าจึงลดลงด้วย”

“ดร.สรัสไชย” กล่าวว่า ผลงาน Digital Twin นิคมอุตฯสมุทร ที่ทำให้ กนอ. เป็นที่น่าพอใจมาก หลังส่งมอบงานก็ได้พัฒนา Digital Twin ของ กนอ.อีก 13 แห่ง เป็นเฟส 2 งบประมาณราว 146 ล้านบาท ระยะเวลา 3 ปี ซึ่งขณะนี้กำลังหาวิธีอัพเดต Generative AI บนแดชบอร์ดด้วย เนื่องจากบางครั้งพนักงานหรือผู้จัดการอาจแปลข้อมูลไม่ได้ ถ้าถามเอไอก็จะได้คำตอบเร็วขึ้น

ADVERTISMENT

สำหรับ Digital Twin ของ กนอ. เฟสแรก 1 แห่งใช้งบประมาณราว 20 ล้านบาท เพราะเป็นครั้งแรกที่ทำ จึงต้องสำรวจโครงสร้างทั้งหมด ทั้งบนดิน แนวท่อใต้ดิน ถนน ป้าย ไฟส่องสว่าง สแกนอาคาร เพื่อดูว่าจะนำเซ็นเซอร์ไปติดที่ไหน

“งานด้านการสำรวจเป็นงานที่หนักที่สุด เมื่อได้โมเดล 3 มิติของพื้นที่ส่วนกลางทั้งหมด ผู้บริหารและพนักงานจะมีสิทธิเข้าถึงข้อมูลที่ต่างกันไป เช่น ผู้บริหารที่มีอำนาจตัดสินใจจะสั่งปิดวาล์วน้ำ หรือปั๊มน้ำ กรณีที่เกิดเหตุฉุกเฉินอย่างไฟไหม้ หรือน้ำท่วมได้

ADVERTISMENT

รวมถึงข้อมูลอื่น ๆ ที่เป็นประโยชน์จะแสดงผลทุก 20 นาที เพื่อให้แก้ปัญหาได้ทันท่วงที ไม่ว่าจะเป็นข้อมูลไฟส่องสว่างตามถนน แต่ก่อนเจ้าหน้าที่นิคมจะลาดตระเวนด้วยมอเตอร์ไซค์เพื่อตรวจตรา หากหลอดไฟขาดก็จะเปลี่ยน แต่โมเดล 3D จะกะพริบเตือนทุก 20 นาที จึงมีเวลาแก้ไขได้ทัน รวมถึงสถิติอื่น ๆ เช่น การปลดปล่อยมลพิษ น้ำเสีย ฯลฯ เป็นประโยชน์ต่อรายงานด้านสิ่งแวดล้อม”

ยอมเข้าเนื้อเพื่อ Know How

ในแง่การบริหารจัดการทำให้การตัดสินใจรวดเร็วขึ้น เช่น เรื่องปริมาณน้ำฝน ในนิคมมีถนนยาว 8-10 กิโลเมตร คนงานต้องขับรถไปจดมิเตอร์ ในวันฝนตกหนักกว่าจะรายงานกลับมาใน 20 นาที สถานการณ์ตัวเลขอาจเปลี่ยน แต่การมี Digital Twin สามารถเห็นข้อมูล และตัดสินใจเปิด-ปิดเครื่องสูบน้ำกันน้ำท่วมได้ทันที

“เราทำข้อมูลเป็นเรียลไทม์ได้ แต่ต้องดีเลย์ 20 นาที เพื่อไม่ให้เป็นภาระด้านดาต้าที่จะใช้คลาวด์มหาศาล ข้อมูลเรียลไทม์จะมีแค่ระบบปั๊มน้ำ กล้องวงจรปิด หรือส่วนที่ต้องตอบสนองแบบเร่งด่วน”

ดร.สรัสไชยยอมรับว่า นิคมแรกที่ทำ “เข้าเนื้อ” เพราะเริ่มจากศูนย์ทุกอย่าง ต้องติดตั้งเซ็นเซอร์ตัวละ 5 พันบาท ในหลอดไฟส่องถนนทุกดวงทั้งที่ไม่จำเป็น จนเฟส 2 จึงเริ่มรู้ว่าในถนนหนึ่งซอยติดเซ็นเซอร์ไฟแค่ตัวเดียวก็พอ ถ้าหลอดอื่นดับ กล้องวงจรปิด และเจ้าหน้าที่นิคมที่ลาดตระเวนจะมองเห็นหลอดไฟข้างถนนทั้งซอยอยู่แล้ว แค่นี้ก็ลดต้นทุนลงเกือบ 10 เท่า ยังไม่นับการแก้ปัญหาอื่น ๆ ที่ผู้ใช้สะท้อนมาอย่างปั๊มน้ำ นอกจากเซ็นเซอร์และระบบปิดเปิด ก็เพิ่มกล้องเพื่อให้เห็นแน่ว่าน้ำไหลหรือไม่

ต้นทุนลดเท่าตัว ต่อยอดได้

ต้นทุนโดยรวมในการทำนิคมอุตสาหกรรมเป็น “ดิจิทัล” ลดลงทั้งต่อยอดไปยังการบริหารจัดการสินทรัพย์ด้านอื่น ๆ ได้ เช่น มีข้อมูลเรื่องโซลาร์รูฟท็อป ก็นำไปคุยต่อได้ว่ามีไฟฟ้าเหลือจากโรงงาน ขายให้นิคมในราคาถูกได้หรือไม่ได้ด้วย

“เราไม่ได้ปิดกั้นตนเองว่าจะทำแค่ Digital Twin แล้วส่งมอบงานจบ เราสามารถ Operate ต่อได้ ทำเป็นสัญญา MA ต่อไปได้ ในนิคมเฟสแรก เราก็โอเปอเรตให้ต่อ แต่ไม่ได้คิดเงินเพราะเขาให้ทำงานเฟสสองต่อ ปัจจุบันคืบหน้าไป 70% ในช่วงปีครึ่งในทุกนิคมที่เราเข้าไปทำใช้แดชบอร์ดได้แล้ว แต่ก็ยังต้องพัฒนาต่อ ที่เสร็จเร็วเพราะมีประสบการณ์มาแล้ว”

ภาครัฐนำ-เอกชนตาม

การบริหารจัดการ และวางแผนสินทรัพย์ด้วย Digital Twin ได้รับความนิยมในต่างประเทศ แต่ในไทยนับว่าน้อย ตลาดที่เห็นว่ามาแน่ คือหน่วยงานภาครัฐที่มีสินทรัพย์ที่ดิน อาคารจำนวนมาก ด้วยเหตุผลคือเรื่องของภาพลักษณ์และความรับผิดชอบต่อสังคม

“กรณีนิคมอุตสาหกรรม เวลาเราจะไปดึงดูดนักลงทุนมาตั้งโรงงาน นิคมของรัฐมีจุดเด่นอะไรที่มากกว่านิคมเอกชน พูดไปอาจไม่เห็นภาพ แต่ถ้าโชว์โมเดล 3 มิติให้นักลงทุนดู ก็จะเห็นความพร้อม และการบริหารจัดการที่ดี และความรับผิดชอบต่อสังคมให้เห็น เป็นการเพิ่มคุณค่าให้บริการของเราเอง”

สรุปว่า แนวโน้มในอนาคตงานจากภาครัฐมาแน่นอน ที่ผ่านมาภาครัฐเป็นผู้นำในการกำหนดให้ทำโมเดล 3 มิติอยู่แล้ว ที่เหลือคือการผสานเซ็นเซอร์ และดิจิทัลเข้าไป เมื่อภาครัฐยกมาตรฐานนี้ เอกชนก็จะเดินตาม ด้วยเหตุผล 3 ประการ คือ 1.เพิ่มประสิทธิภาพการบริหารจัดการ จากการมีโมเดล Digital Twin ช่วยให้เห็นข้อมูลทุกด้าน ตัดสินใจได้เร็วจากมือถือก็ได้ ลดเวลาและค่าใช้จ่าย 2.เพิ่มคุณค่าให้ทรัพย์สิน และ 3.เป็นการแสดงความรับผิดชอบต่อสังคม

“การเก็บข้อมูล และรวบรวมไว้อย่างต่อเนื่อง ทำให้ชี้แจงกับประชาชนได้ เช่น กรณีฝุ่น PM 2.5 ในนิคม ก็แสดงข้อมูลย้อนหลังได้เลยว่าแต่ละชั่วโมงปล่อยมลพิษเท่าไหร่ ถ้าค่ามลพิษนอกนิคม ในเวลานั้น ๆ สูงกว่าในนิคม หมายความว่านิคมไม่ได้เป็นสาเหตุของ PM 2.5 แต่ถ้ามลพิษในนิคมสูง ก็เข้าไปดำเนินการควบคุมได้ทันท่วงที”

“ดร.สรัสไชย” ทิ้งท้ายว่า ในระยะยาว DTX ไม่ได้ปิดกั้นตนเองกับลูกค้าที่ต้องการงานสมาร์ทซิตี้ สมาร์ทบิลดิ้ง และอื่น ๆ เพราะเชื่อว่าแนวโน้มงานภาครัฐมาแน่ ๆ แต่โครงการมีความซับซ้อน และมีมูลค่างานสูงจึงไม่ได้คาดหวังว่าลูกค้าจะเยอะ เช่น โปรเจ็กต์ของ กนอ. DTX มีพนักงาน 7 คน แต่ต้องดูแลงานมูลค่ากว่า 140 ล้านบาท เป็นต้น