
บอร์ด กสทช. มีมติให้ สำนักงาน กสทช. นำแผนประมูลคลื่น 1.2 แสนล้านบาท ไปรับฟังความคิดเห็นอีกครั้ง ทบทวนวิธีการ รายละเอียด ผลกระทบใหม่
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า คณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) ได้มีมติให้ สำนักงาน กสทช. ทบทวนแผนการประมูลคลื่นความถี่สากลรอบใหม่ จำนวน 6 ย่านความถี่ มูลค่าขั้นต้นกว่า 1.2 แสนล้านบาท ซึ่งได้รับฟังความคิดเห็นสาธารณะเมื่อเดือน ก.พ. 2568 ที่ผ่านมา และมีการกำหนดวันเวลาว่าจะให้มีการประมูลภายใน 17-18 พ.ค. 2568
การทบทวนหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขหลังการประมูล หลังจากรับฟังความเห็นสาธารณะรอบแรกแล้วยังมีความไม่ชัดเจน ไม่ว่าจะเป็นกลุ่มคลื่น งวดการชำระเงินงวดแรกที่สูงเกินไป การรักษาผลประโยชน์สาธารณะ และการคุ้มครองผู้บริโภคก็ยังมีข้อขัดแย้งที่ยังไม่ชัดเจน
แหล่งข่าวเปิดเผยว่า กระบวนการรับฟังความคิดเห็นรอบใหม่น่าจะล่าช้าไปจนถึงเดือนเมษายน 2567 และต้องใช้เวลาพอสมควรในการนำความเห็นมาบรรจุเข้าวาระการประชุมบอร์ดหลังจากนั้น
โดยการประชุมบอร์ด กสทช. จะมีวันที่ 26 มี.ค. และ 2 เม.ย. ที่จะถึงนี้
หากการเตรียมการประมูล พิจารณาและประกาศล่าช้า อาจทำให้กำหนดการประมูลเดิมคลาดเลื่อนไปอีก อย่างน้อย 2 สัปดาห์
หลักเกณฑ์และวิธีการอนุญาตให้ใช้คลื่นความถี่สำหรับกิจการโทรคมนาคมเคลื่อนที่สากล ย่าน 850, 1500, 1800, 2100 และ 2300 MHz รวมถึง 26 GHz ล่าสุด ระบุ รายละเอียดวิธีการประมูลคลื่นลอตใหม่ ทั้งที่กำลังจะหมดอายุในเดือน ส.ค. 2568 และที่กำลังจะหมดอายุในปีถัดไป มารวมกันแล้วประมูลลอตเดียว โดยมีการกำหนดราคาขั้นต่ำในเบื้องต้นแล้ว ดังนี้
850 MHz จำนวน 2 ชุดความถี่ ใบอนุญาตละ 2×5 MHz ราคาเริ่มต้น 6,609 ล้านบาท
1500 MHz จำนวน 11 ชุดความถี่ ใบอนุญาตละ 5 MHz ราคาเริ่มต้น 904 ล้านบาท
1800 MHz จำนวน 7 ชุดความถี่ ใบอนุญาตละ 2×5 MHz ราคาเริ่มต้น 6,219 ล้านบาท
2100 MHz จำนวน 12 ชุด ความถี่ ใบอนุญาตละ 2×5 MHz ราคาเริ่มต้น 3,391 ล้านบาท (FDD)
2100 MHz จำนวน 3 ชุดความถี่ ใบอนุญาตละ 5 MHz ราคาเริ่มต้น 497 ล้านบาท (TDD)
2300 MHz จำนวน 7 ชุดความถี่ ใบอนุญาตละ 10 MHz ราคาเริ่มต้น 1,675 ล้านบาท
26 MHz จำนวน 1 ชุดความถี่ ใบอนุญาตละ 100 MHz ราคาเริ่มต้น 423 ล้านบาท
รวมการเปิดประมูลครั้งนี้ทั้งสิ้นจำนวน 450 MHz มูลค่า 121,026 ล้านบาท
โดยกำหนดเงื่อนไขการชำระเงินประมูลคลื่นความถี่ ผู้ชนะการประมูลจะต้องชำระเงินประมูลคลื่นความถี่ ตามราคาการประมูลสูงสุด
วิธีการประมูลกำหนดตามมติบอร์ด กสทช. เมื่อวันที่ 14 ม.ค. 2568 ที่ผ่านมา ได้เห็นชอบในหลักการ (ร่าง) ประกาศ กสทช. เรื่อง หลักเกณฑ์และวิธีการอนุญาตให้ใช้คลื่นความถี่สำหรับกิจการโทรคมนาคมเคลื่อนที่สากล (International Mobile Telecommunications-IMT)
สำหรับวิธีการประมูล และเงื่อนไขในการเข้าร่วมประมูลทั้ง 6 คลื่นความถี่ย่าน จะกำหนดให้ใช้วิธีการประมูลคลื่นความถี่แบบ Simultaneous Ascending Clock Auction ประกอบด้วย 2 ขั้นตอน ได้แก่ ขั้นตอนการจัดสรรชุดคลื่นความถี่ (Allocation Stage) และขั้นตอนการกำหนดย่านความถี่ (Assignment Stage) ผู้เข้าร่วมการประมูลต้องเสนอจำนวนคลื่นความถี่ ณ ราคาประมูลในแต่ละรอบ โดยราคาชุดคลื่นความถี่จะเพิ่มขึ้นทุกชุดของแต่ละย่านความถี่
ในส่วนระยะเวลาการอนุญาตทั้ง 6 ย่านความถี่ และใบอนุญาตประกอบกิจการโทรคมนาคมแบบที่สาม ให้มีระยะเวลาการอนุญาต 15 ปี นับแต่วันที่ได้รับอนุญาต ยกเว้นคลื่นความถี่ย่าน 2100 MHz (ช่วงความถี่ 1920-1965/2110-2155 MHz) ที่สิ้นสุดการอนุญาตในปี 2570 ให้มีระยะเวลาการอนุญาต 13 ปีนับแต่วันที่ได้รับอนุญาต