
บอร์ดดีอีเผยปี 2568 Digital GDP ขยายตัวร้อยละ 7.3 คิดเป็น 2.6 เท่า ของการขยาย GDP โดยรวม และการลงทุนดิจิทัลขยายตัวร้อยละ 9.9 คิดเป็น 2.7 เท่า ของการลงทุนโดยรวม
นายประเสริฐ จันทรรวงทอง รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม เป็นประธานเปิดงาน “Thailand’s Digital Economy and Development 2025” และปาฐกถาพิเศษ ในหัวข้อ “นโยบายและแนวโน้มเศรษฐกิจดิจิทัล 2568” โดยมีนายเวทางค์ พ่วงทรัพย์ เลขาธิการคณะกรรมการดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (BDE) กล่าวแถลงผลตัวเลขคาดการณ์เศรษฐกิจดิจิทัลปี 2568
โดย Broad Digital GDP (ราคาที่แท้จริง หรือ CVM) ประมาณการว่าจะขยายตัว 7.3 คิดเป็น 2.6 เท่า ของ GDP โดยรวมที่จะขยายตัวร้อยละ 2.8 (สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ หรือ สศช. ประมาณการ)
ในด้านการลงทุน คาดว่าการลงทุนด้านดิจิทัล จะขยายตัวร้อยละ 9.9 คิดเป็น 2.7 เท่า ของการลงทุนโดยรวมที่จะขยายตัวร้อยละ 3.6 (สศช. ประมาณการ)
ทั้งนี้ รัฐบาลภายใต้การบริหารงานของกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม มุ่งมั่นที่จะยกระดับขีดความสามารถการแข่งขันของประเทศ และผลักดันเศรษฐกิจของประเทศให้ขยายตัวด้วยเศรษฐกิจดิจิทัล โดยเฉพาะการดึงดูดเม็ดเงินลงทุนด้าน Cloud Services ด้าน Data Centers และด้านเทคโนโลยีดิจิทัลอื่น ๆ โดยเชื่อว่าจะเป็นแรงผลักดันสำคัญให้เศรษฐกิจดิจิทัลขยายตัวสูงในปี 2568
นายเวทางค์ พ่วงทรัพย์ เลขาธิการคณะกรรมการดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ หรือคณะกรรมการดีอี ได้สรุปประมาณการเศรษฐกิจดิจิทัลปี 2568 ที่จัดทำขึ้นภายใต้สมมุติฐาน ปัจจัยสนับสนุน และข้อจำกัด/ความเสี่ยง โดยมีผลประมาณการที่สำคัญ ดังนี้
1. สมมุติฐานเพื่อการประมาณการเศรษฐกิจดิจิทัล 2568
• เศรษฐกิจโลก ขยายตัวร้อยละ 3.3
• เศรษฐกิจไทย ขยายตัวร้อยละ 2.8
• การใช้จ่ายดิจิทัลภาครัฐขยายตัวร้อยละ 3.5
• การลงทุนภาครัฐด้านดิจิทัล ขยายตัวร้อยละ 3.5
• การลงทุนภาคเอกชนด้านดิจิทัล ขยายตัวร้อยละ 10.3
2. ปัจจัยสนับสนุน
• การลงทุนจากต่างประเทศด้านดิจิทัล อาทิ Cloud & Data Centers และ AI
• นโยบายรัฐบาล Cloud First Policy นโยบาย Digital Hub และการเร่งรัดสู่การเป็นรัฐบาลดิจิทัล
• กระแสการใช้ AI และการปรับตัวของภาคเอกชนในการใช้ AI
• การเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมของคนไทยและนักท่องเที่ยงต่างชาติที่ใช้การชำระเงิน ใช้บริการผ่านระบบดิจิทัลมากขึ้น
3. ข้อจำกัด/ปัจจัยเสี่ยง
• การผันผวนทางการเมืองและการค้าโลก
• ความขัดแย้งด้านภูมิรัฐศาสตร์และสงครามในภูมิภาคต่าง ๆ
• ข้อจำกัดในการรองรับการลงทุนของประเทศ โดยเฉพาะด้านพลังงานสะอาด ด้านบุคลากร เพื่อรองรับการลงทุนจากต่างประเทศ • การแข่งขันในการดึงดูดการลงทุนด้านดิจิทัลในภูมิภาค
4. สรุปผลการประมาณการที่สำคัญ
4.1 เศรษฐกิจโดยรวม
Broad Digital GDP (Real Term) มูลค่าเศรษฐกิจดิจิทัลแบบกว้าง ในปี 2568 คาดว่าจะมีมูลค่า 4.8 ล้านล้านบาท มีการขยายตัวร้อยละ 7.3 จากปี 2567 และคิดเป็นการขยายตัว 2.6 เท่า ของการขยายตัวของ GDP โดยรวมที่ขยายตัวร้อยละ 2.8 (สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ประมาณการ) แสดงให้เห็นว่า เศรษฐกิจดิจิทัลขยายตัวสูง และเป็นหนึ่งในภาคเศรษฐกิจที่สนับสนุนเศรษฐกิจของประเทศให้ขยายตัวมาโดยตลอด
4.2 ด้านการลงทุน
การลงทุนด้านดิจิทัลโดยรวมในปี 2568 คาดว่าจะมีการขยายตัวร้อยละ 9.9 จากปี 2567 จากนโยบายดึงดูดการลงทุนด้านเศรษฐกิจดิจิทัลของรัฐบาล โดยเฉพาะการลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศใน Cloud Services ด้าน Data Centers ซึ่งเป็นหนึ่งในโครงสร้างพื้นฐานด้าน AI ที่สำคัญของประเทศ รวมถึงการลงทุนในอุตสาหกรรมการผลิตด้านเทคโนโลยี ชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ และสินค้าดิจิทัลอื่น ๆ ส่งผลให้การลงทุนด้านดิจิทัลภาคเอกชนของประเทศขยายตัวร้อยละ 10.3
ในขณะที่การลงทุนด้านดิจิทัลภาครัฐขยายตัวที่ร้อยละ 5.0 จากปี 2567 จากนโยบาย Cloud First Policy ของรัฐบาล การเร่งรัดสู่รัฐบาลดิจิทัล และการขยายการลงทุนด้านดิจิทัลของรัฐวิสาหกิจ
4.3 ด้านการบริโภค
การบริโภคภาคเอกชนในด้านดิจิทัลในปี 2568 คาดว่าจะขยายตัวร้อยละ 7.6 จากปี 2567 สูงกว่าการขยายตัวของการบริโภคโดยรวมของประเทศที่เท่ากับร้อยละ 3.3 ทั้งจากพฤติกรรมของผู้บริโภค
ชาวไทยที่ซื้อบริการผ่านแพลตฟอร์มดิจิทัลมากขึ้น สำหรับการอุปโภคภาครัฐด้านเศรษฐกิจดิจิทัล ขยายตัวร้อยละ 4.3 จากพัฒนาระบบบริหารงาน และการให้บริการผ่านแพลตฟอร์มและช่องทางออนไลน์มากขึ้น
4.4 ภาคการค้าต่างประเทศ
มูลค่าการส่งออกสินค้าและบริการด้านดิจิทัลในปี 2568 คาดว่าจะขยายตัวร้อยละ 5.5 จากปี 2567 จากความต้องการสินค้าเครื่องใช้ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ที่อยู่ในระดับสูง การเติบโตของอุตสาหกรรมรถยนต์ไฟฟ้า การปรับตัวเข้าสู่บริการดิจิทัลของภาคธุรกิจต่าง ๆ การตื่นตัวต่อการพัฒนาเทคโนโลยี AI และการเพิ่มขึ้นของนักท่องเที่ยวชาวต่างชาติที่นิยมใช้บริการจองห้องพัก การเดินทาง และบริการด้านการท่องเที่ยวผ่านแพลตฟอร์มออนไลน์มากขึ้น
ความต้องการผลิตอุปกรณ์เครื่องใช้ไฟฟ้าอัจฉริยะ และสินค้าอิเล็กทรอนิกส์ต่าง ๆ ส่งผลให้ความต้องการนำเข้าชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์เพื่อนำมาผลิตสินค้าภายในประเทศเพิ่มขึ้นร้อยละ 5.3 จากปี 2567
“ศักยภาพของอุตสาหกรรมเทคโนโลยีดิจิทัลของไทย และการดำเนินนโยบายส่งเสริมการลงทุนจากต่างประเทศของรัฐบาล เป็นปัจจัยสำคัญที่ดึงดูดเม็ดเงินลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศให้ขยายตัวสูง โดยเฉพาะการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานด้าน AI ที่จะมีผลสนับสนุนการพัฒนาและต่อยอดเทคโนโลยี AI ในอนาคต จึงคาดว่า ‘เศรษฐกิจดิจิทัลในปี 2568 มีแนวโน้มขยายตัวเพิ่มขึ้นจากปีที่ผ่านมา และเป็นภาคเศรษฐกิจที่มีบทบาทในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจโดยรวมของประเทศให้ขยายตัว’” นายเวทางค์กล่าวเพิ่มเติม