
สัมมนาใหญ่ MFEC Inspire 2025 หวังแก้ปมต้นทุนเทคโนโลยีสูงเกินไปค่าใช้จ่าย ซื้อมา 100 ใช้แค่ 70% หาโอกาสเพิ่มทางเลือกในการลดต้นทุน เพิ่มประสิทธิภาพเทคโนโลยี ชี้การทำให้ “โอเพ่นซอร์ซ” ในไทยแข็งแรงขึ้นเป็นอีกทางเลือกที่ลดค่าใช้จ่ายแต่เพิ่มประสิทธิภาพได้
นายศิริวัฒน์ วงศ์จารุกร ผู้ก่อตั้ง และประธานกรรมการบริหาร บริษัท เอ็ม เอฟ อี ซี จำกัด (มหาชน) เปิดเผยว่า บริษัทได้จัดงาน MFEC Inspire 2025-Simplify Your IT Investment for a Future-Ready Business ณ โรงแรมอินเตอร์คอนติเนนตัล กรุงเทพฯ ในวันที่ 20 มีนาคม 2568 หลังจากที่ทำธุรกิจมาเป็น 10 ปี ซึ่งมีลูกค้าบางรายที่อยู่ด้วยกันมาเป็น 10 ปีเช่นกัน ทำให้เห็นว่ากุญแจสำคัญของการทำธุรกิจอย่างต่อเนื่อง คือ ต้องมีเสียงสะท้อน (ฟีดแบ็ก) กลับมาแบบชัดเจน สามารถปรับเปลี่ยนได้รวดเร็ว ระหว่างผู้ผลิตเทคโนโลยีและผู้ใช้เทคโนโลยีเหล่านี้
โดยประเมินว่า ปี 2568 ถือเป็นปีที่มีความท้าทาย เศรษฐกิจไม่น่าจะดีเท่าที่ควร จึงสะเทือนมาถึงการบริหารงานด้านเทคโนโลยี (ไอที) ของบริษัทแน่นอน จากหลักการเดิมของผู้บริหารบริษัท หากต้องการเพิ่มบริการ คน เทคโนโลยี หรืออัพเกรดเทคโนโลยี จะผลักภาระค่าบริการไปที่ผู้ใช้ (ยูสเซอร์) จากนั้นยูสเซอร์จะผลักภาระไปยังลูกค้า แต่ตอนนี้การผลักภาระไปต่อไม่ได้แล้ว เพราะเศรษฐกิจ ความสามารถในการแข่งขันและเติบโตไม่เหมือนในอดีต
ปัจจุบันการบริหารงานจะเป็นการพยายามดูแลพนักงาน หากจะมีบริการใหม่ ๆ เพื่อให้ได้ผลลัพธ์ที่มีประสิทธิภาพมากขึ้น เราจำเป็นต้องใช้ปัญญาประดิษฐ์ (เอไอ) และพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน (อินฟราสตรักเจอร์) ใหม่ในการสนับสนุนธุรกิจมากขึ้น โดยตั้งเป้าหมายรายได้ของบริษัททั้งปี 2568 เติบโตเพิ่มขึ้นที่ 15%
นายศิริวัฒน์กล่าวว่า ปัจจัยอีกข้อที่ผู้บริหารกังวลคือ เมื่อการดำเนินธุรกิจ โดยเฉพาะการลงทุนใหม่ ๆ ถูกควบคุมด้วยเม็ดเงินเข้ามา จะต้องเลือกระหว่างคนและเทคโนโลยี แต่สภาพความเป็นจริง เมื่อต้องคุมวงเงิน หรือลดเงินลง สวนทางกับราคาเทคโนโลยีที่เพิ่มขึ้นทุกปี ทำให้เราไม่สามารถปรับลดเม็ดเงินลงทุนเหล่านั้นได้ ทำให้สภาพความจริงธุรกิจต้องไปปรับลดงบประมาณที่ใช้เกี่ยวกับพนักงานแทน อาทิ การอบรมองค์ความรู้ใหม่ให้พนักงาน ลุกลามถึงสิทธิพิเศษที่ควรได้ หรือโบนัสตอบแทนประจำ
เพราะขณะนี้ ธุรกิจของไทยอยู่ในสภาพที่ไม่มีการเตรียมตัว แต่ถูกเทคโนโลยีพันธนาการไว้ ไม่มีทางเลือกในการใช้บริการ ไม่ว่าจะขึ้นค่าบริการเท่าใดก็ตาม เราก็ต้องจ่ายไป เมื่อถูกเทคโนโลยีพันธนาการในช่วงที่เศรษฐกิจเป็นขาขึ้น ความสามารถในการทำกำไรเหมือนเดิม แบบนี้ก็ไปได้ แต่หากธุรกิจทรงตัว ความสามารถในการทำกำไรลดลง แต่ต้นทุนในการบริการแพงขึ้น ธุรกิจจะดำเนินการไปแบบอึดอัด
เพิ่มโอเพ่นซอร์ซในประเทศ ลดต้นทุน เพิ่มประสิทธิภาพได้ ?
นายศิริวัฒน์กล่าวว่า จากการพูดคุยกับผู้บริหารส่วนใหญ่มองว่า สิ่งที่ผู้บริหารต้องการคือ สินค้าเทคโนโลยีที่ซื้อมา จริง ๆ แล้วมีการใช้งานเพียง 60-70% เท่านั้น แต่ต้องจ่ายทั้งหมดแบบ 100% ทั้งยังพยายามอัพเกรดให้ใช้แบบ 100% ด้วย ทำให้ต้นทุนสูงเกินความจำเป็น จึงต้องหาวิธีว่า จะสามารถจ่ายค่าเทคโนโลยีเหล่านั้นเท่าที่ใช้งานได้หรือไม่ เพราะไม่ใช่ทุกธุรกิจจะต้องใช้เทคโนโลยีแบบดีที่สุด แพงที่สุด การจะปรับตัวเพื่อให้องค์กรอยู่รอด และพนักงานสามารถพัฒนาการใช้งานได้
ถือเป็นการตอบโจทย์ผู้บริหารใน 2 ข้อหลัก เช่น ใช้เทคโนโลยี 90% แต่ต้นทุนค่าเทคโนโลยีเหลือเพียง 50% โดยหากจะตอบโจทย์เหล่านี้ได้ ต้องเริ่มเน้นไปที่การเปิดตัวบริการใหม่ หรือกลุ่มซอฟต์แวร์ “โอเพ่นซอร์ซ” ซึ่งเป็นซอฟต์แวร์ที่เผยแพร่อย่างถูกต้องให้ผู้ใช้งานสามารถศึกษา แก้ไข และแจกจ่ายซอฟต์แวร์และรหัสต้นทางของตัวเองได้
ในต่างประเทศ อย่างจีน เมื่อมีโอเพ่นซอร์ซ คนจีนจะช่วยกันใช้ ช่วยกันเตือนข้อผิดพลาดต่าง ๆ เพื่อให้ใช้ได้อย่างดีที่สุด แต่ตลาดโอเพ่นซอร์ซในไทยแทบจะไม่เกิดขึ้นเลย เรายังขาดการช่วยเหลือกัน พูดถึงเพียงความเสี่ยง เม็ดเงินหมุนเวียน และความอยู่รอดมากกว่า ทั้งที่หากต้องการให้กลุ่มโอเพ่นซอร์ซในบริการด้านเทคโนโลยีใหม่เกิดขึ้น จำเป็นต้องช่วยเหลือในกลุ่มนี้
“เทคโนโลยีของจีนที่เข้ามาลดต้นทุนในบางส่วน ซึ่งประเทศไทยไม่มีทางเลือก หากต้องการใช้เทคโนโลยีแบบ 90% แต่จ่ายเพียง 50% เราก็ต้องใช้โอเพ่นซอร์ซมากขึ้น อย่างในจีน มีความพยายามในการให้บริการ อาทิ หากส่งคำสอบถามในเรื่องใดไป ผู้พัฒนาโอเพ่นซอร์ซจีนจะตอบเร็วมาก แต่ในฝั่งอื่นอย่างยุโรป ใช้เวลาหลายวันมากกว่า สะท้อนถึง ความขยัน ความมุ่งมั่นต่างกัน จึงเป็นเหตุผลที่ทำให้ราคา และผลลัพธ์ออกมาแตกต่างกัน” นายศิริวัฒน์กล่าว
เอไอ และความปลอดภัยไซเบอร์
นายศิริวัฒน์กล่าวว่า ภายในงานมีแบ่งเป็นโซนเอไอ ที่ถือว่ามีความท้าทาย เนื่องจากเอไอ ไม่ใช่ทางเลือก แต่จำเป็นต้องนำเข้ามาใช้ทุกองค์กร เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพของการทำงานมากขึ้น เนื่องจากเอไอถือเป็นความท้าทาย ทุกองค์กรไม่ปฏิเสธที่จะนำมาใช้ แต่ไม่ใช่ทุกองค์กรจะใช้แล้วสามารถเพิ่มประสิทธิภาพ และลดต้นทุนได้ดี เพราะเทคโนโลยีเดียวกัน คนใช้ไม่เหมือนกัน ผลการใช้งานก็ต่างกันแบบฟ้ากับเหว
ยกตัวอย่างการดำเนินงานของบริษัท ที่ปัจจุบันเราต้องเป็นพาร์ตเนอร์กับเอไอ ที่การทำงานก่อนหน้านี้มีพนักงานใหม่ ซึ่งกลัวการรายงานเนื้องานมาก แต่เมื่อใช้งานเอไอได้คล่องขึ้นก็ไม่กลัวการรายงาน หรือรับคำสั่งงานอีก
อีกโซนในงานสัมมนานี้ เป็นเรื่องไซเบอร์ซีเคียวริตี้ หรือความมั่งคงปลอดภัยทางไซเบอร์ ซึ่งในปัจจุบันประเทศไทยเหมือนเป็นศูนย์รวมของแก๊งคอลเซ็นเตอร์ ซึ่งเวลาการโจมตีในด้านเทคโนโลยีใหม่ ๆ จะเป็นการใช้เทคโนโลยีเช่นกัน เพราะมีการเติบโตที่รวดเร็ว ทำให้ยิ่งลงทุนในด้านไซเบอร์ซีเคียวริตี้ มากเท่าใดก็ยิ่งกินสัดส่วนกำไรของธุรกิจเยอะมากเท่านั้น ซึ่งเราจะรู้ได้อย่างไรว่า ควรใช้เทคโนโลยีที่เหมาะสมที่สุดสำหรับองค์กรแบบใด เพราะบางองค์กรก็ไม่ได้จำเป็นต้องใช้รัดกุมเหมือนสถาบันการเงิน (แบงก์) แต่อะไรที่จะใช้แล้วดีที่สุดเหมาะสมกับบริษัทนั้นมากที่สุด ซึ่งต้องมีการคัดสรรกันต่อไป
นายศิริวัฒน์กล่าวว่า ปี 2568 เป็นปีที่อยากกระตุ้นให้เกิดการร่วมมือกันเพื่อสร้างผลลัพธ์ที่ยิ่งใหญ่กว่าเดิมระหว่างบริษัทและพันธมิตรคู่ค้าทั้งระบบ หาโจทย์ที่ชนะแบบทุกฝ่าย เป็นการชนะร่วมกัน เพราะในกลุ่มของผู้ใช้ไอที ยังมีความร่วมมือหรือการช่วยเหลือกันต่ำมาก ทั้งที่การแบ่งปันข้อมูลระหว่างกันไม่ใช่เพียงกำไรหรือขาดทุน แต่ถือเป็นความมั่นคงของอุตสาหกรรมนั้น ๆ เพราะหากในอนาคต มีการดึงเทคโนโลยีอะไรออกไป บางอุตสาหกรรมอาจยืนอยู่ไม่ได้อีกต่อไป
“ทำให้วันนี้เราพยายามจะคุยกันให้เกิดการแบ่งปัน เพื่อให้ต้นทุน ความสามารถในการแข่งขันของทุกคนกลับมาอยู่ในจุดเดิม สุดท้ายแล้วคนก็ยังเป็นสิ่งที่สำคัญที่สุด หากเราได้คนที่สามารถถูกต้อง ไม่จำเป็นต้องใช้เทคโนโลยีที่แพงที่สุด แต่ใช้อย่างเหมาะสมได้ กลับกันหากไม่ได้คนที่ใช่เข้ามาทำงาน ต่อให้ใช้เทคโนโลยีที่แพงสุด ประสิทธิภาพก็ไม่ได้ออกมาอย่างควรจะเป็น กุญแจสำคัญจึงยังอยู่ที่คนเป็นหลัก”