ดีอี เปิด สถิติอาชญากรรมออนไลน์ ยอดจับกุมเดือนละ 2,495 คน

ดีอี เผย สถิติระงับบัญชีม้า 1.3 ล้านบัญชี การจับกุมคดีอาชญากรรมทางเทคโนโลยี รวมทุกประเภท เพิ่มขึ้นร้อยละ 80.56 เคาะเร่งศึกษา มาตรการดูแล “สตรีมมิ่งออนไลน์” สกัดการหลอกลวงผ่านแพลตฟอร์ม

นายประเสริฐ จันทรรวงทอง รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอี) เป็นประธานการประชุมคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามอาชญากรรมทางเทคโนโลยี ครั้งที่ 2/2568 กล่าวว่า รัฐบาล ได้ให้ความสำคัญกับการปราบปรามอาชญากรรมออนไลน์ ซึ่งมีผลกระทบต่อประชาชนเป็นอย่างมาก โดยนายกฯ ได้ตอบกระทู้ข้อซักถามของสมาชิกผู้แทนราษฎร ในสภา เกี่ยวกับการป้องกันและปราบปรามอาชญากรรมออนไลน์ด้วยตัวเอง

ขณะเดียวกันในการเยือนต่างประเทศ นายกฯ ได้ร่วมหารือเรื่องดังกล่าวกับผู้แทนประเทศต่าง ๆ มาโดยตลอด รวมทั้งยังลงพื้นที่ชายแดน ไทย-กัมพูชา จ.สระแก้ว เพื่อติดตามการดำเนินมาตรการปราบปราม

สำหรับในการประชุมได้มีการพิจารณาผลดำเนินการและมาตรการเร่งด่วนเพื่อแก้ปัญหาอาชญากรรมออนไลน์ 6 เรื่องสำคัญ ที่มีผลการดำเนินงาน ถึง 17 มีนาคม 2568 ที่ผ่านมา โดยสรุปได้ดังนี้

1.การปราบปรามจับกุมคดีอาชญากรรมออนไลน์ เดือนกุมภาพันธ์ 2568 (ข้อมูลสำนักงานตำรวจแห่งชาติ)

– การจับกุมคดีอาชญากรรมทางเทคโนโลยี รวมทุกประเภท ก.พ. 68 มีจำนวน 4,505 ราย เพิ่มขึ้นร้อยละ 80.56 เทียบกับ การจับกุมเฉลี่ย 2,495 คนต่อเดือน ช่วงมกราคม-มีนาคม 2567
– การจับกุมคดีพนันออนไลน์ ก.พ. 68 มีจำนวน 2,069 ราย เพิ่มขึ้นร้อยละ 94.45 เทียบกับ การจับกุมเฉลี่ย 1,064 คนต่อเดือน ช่วงมกราคม-มีนาคม 2567
– การจับกุมคดีบัญชีม้า ซิมม้า และความผิดตาม พ.ร.ก. ก.พ. 68 มีจำนวน 325 ราย เพิ่มขึ้นร้อยละ 35.42 เทียบกับ การจับกุมเฉลี่ย 240 คนต่อเดือน ช่วงมกราคม-มีนาคม 2567

ADVERTISMENT

2. การปิดโซเชียลมีเดีย เว็บผิดกฎหมาย และเว็บพนันออนไลน์ (ปีงบประมาณ 68 ตั้งแต่ 1 ต.ค. 67-28 ก.พ. 68)

– การปิดกั้นเว็บไซต์พนันออนไลน์ จำนวน 33,094 (URLs) หลอกลวงออนไลน์ จำนวน 1,130 (URLs)
– การประสานแพลตฟอร์มเพื่อขอปิดกั้นเกี่ยวกับหลอกลวงออนไลน์ ที่มีคำสั่งศาล จำนวนแจ้งขอการปิดกั้น 7,338 (URLs) ที่ไม่มีคำสั่งศาล มีจำนวนแจ้งขอการปิดกั้น 21,335 (URLs) (เฉพาะในส่วนของกระทรวงดีอี)

ADVERTISMENT

3. การแก้ปัญหาบัญชีม้า เร่งอายัด ตัดตอนการโอนเงิน

ผลการดำเนินงานที่สำคัญถึง 28 ก.พ. 68 มีดังนี้

– AOC ระงับบัญชีชั่วคราว จำนวน 337,690 บัญชี ธนาคารระงับบัญชี 997,600 รวม 1,335,290 บัญชี
– ปปง. ทำการอายัดบัญชีไปแล้วจำนวน 732,798 บัญชี (ณ วันที่ 18 มี.ค. 68)

– มาตรการปลดบัญชีม้า ที่ประชุมได้เห็นชอบ ให้ ปปง. มีอำนาจให้การปลดล็อกบัญชี “ม้าดำ” ได้เพียงหน่วยงานเดียว ขณะที่การดำเนินการ ปลดล็อกบัญชี “ม้าเทา” จะเป็นหน้าที่ของ บช.สอท. โดยได้พิจารณาอนุญาตให้ผู้ที่ถูกกล่าวหาว่ามีความเกี่ยวข้องกับบัญชีม้า

หากมีมากกว่า 1 บัญชี สามารถยื่นเรื่องให้ บช.สอท. ดำเนินการปลดล็อกได้ หรือขอเปิดบัญชีใหม่ได้ 1 บัญชี เพื่อใช้จ่ายในชีวิตประจำวัน เรียกว่า “บัญชีเพื่อการยังชีพ” ซึ่งบัญชีดังกล่าวจะไม่สามารถทำธุรกรรมทางออนไลน์ได้ โดยจะต้องโอน-เบิก-ถอนเงิน ที่ธนาคารเท่านั้น

– มาตรการป้องกันอาชญากรรมทางการเงินของกลุ่มธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัล ปปง. ก.ล.ต. และสมาคมผู้ประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัลไทย ได้ร่วมหารือทำความเข้าใจเพื่อการบูรณาการเชื่อมต่อข้อมูลบัญชีม้า การประกาศรายชื่อ HR-03 และแนวทางการพิจารณาการทำธุรกรรมสินทรัพย์ดิจิทัลที่ต้องสงสัย เพื่อควบคุมการทำธุรกรรมของมิจฉาชีพผ่านธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัล

4.การแก้ไขปัญหาซิมม้า ซิมบุคคลต่างด้าว ผลการดำเนินงานที่สำคัญถึง 28 ก.พ. 68 มีดังนี้

– การกวาดล้างซิมม้าและซิมต้องสงสัย โดย สำนักงาน กสทช. ได้กำหนดหลักเกณฑ์ในการยืนยันตัวตนและข้อมูลเกี่ยวกับการใช้บริการของผู้ใช้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ และผลการดำเนินงาน มีดังนี้

(1) รายงานผลการดำเนินการตรวจสอบการใช้งานโทรศัพท์เคลื่อนที่ บุคคลธรรมดา แบบเติมเงิน (Prepaid) ที่มีการโทรออกตั้งแต่ 100 ครั้งขึ้นไป/วัน ตั้งแต่วันที่ 9 ธันวาคม 2566-17 มีนาคม 2568 ถูกระงับบริการ (สะสม) จำนวน 233,338 เลขหมาย โดยมีผู้ใช้บริการกลับมาแสดงตน (สะสม) จำนวน 441 เลขหมาย และยังไม่มีการมาแสดงตนของผู้ใช้บริการ (สะสม) จำนวน 232,897 เลขหมาย (ข้อมูล ณ วันที่ 17 มี.ค. 68)

(2) กลุ่มผู้ถือครองซิมการ์ด 101 เลขหมายขึ้นไป โดยมีเลขหมายที่เข้าข่าย 5,078,283 เลขหมาย มีผู้มายืนยันตัวตนแล้ว จำนวน 4,273,918 เลขหมาย จำนวนเลขหมายคงเหลือต้องมายืนยันตัวตน 804,365 เลขหมาย (ข้อมูล ณ วันที่ 16 มี.ค. 68)

(3) กลุ่มผู้ถือครองซิมการ์ดตั้งแต่ 6-100 เลขหมาย ซึ่งมีเลขหมายที่เข้าข่าย 3,981,251 เลขหมาย มีผู้มายืนยันตัวตนแล้ว 2,424,402 เลขหมาย จำนวนเลขหมายคงเหลือต้องมายืนยันตัวตน 1,556,849 เลขหมาย (ข้อมูล ณ วันที่ 16 มี.ค. 68)

-การลงทะเบียนผู้ใช้บริการที่ไม่มีสัญชาติไทย ให้ใช้เอกสารแสดงตนประกอบการลงทะเบียนเพื่อเปิดใช้งานซิมการ์ด โดยใช้หนังสือเดินทาง (Passport) เท่านั้น และให้มีการจำกัดการลงทะเบียนจำนวนไม่เกิน 3 เลขหมายต่อ 1 ผู้ให้บริการ

รวมถึงได้มีข้อกำหนดเพิ่มเติมเพื่อปรับปรุงการใช้งานเทคโนโลยีชีวมิติ (biometrics) ให้มีการใช้การตรวจสอบการปลอมแปลงอัตลักษณ์ด้วยเทคโนโลยี “Liveness Detection” โดยผู้ให้บริการโทรศัพท์มือถือจะต้องดำเนินการปรับปรุงระบบการลงทะเบียน ภายใน 180 วัน นับตั้งแต่วันที่ 19 กุมภาพันธ์ 2568 ซึ่ง กสทช.มีมติ

-มาตรการ SMS แนบลิงก์ สำนักงาน ปปง. กสทช. สกมช. และผู้ให้บริการโทรคมนาคม ได้ดำเนินมาตรการลงทะเบียน sender name แล้วกว่า 100,000 Sender Name จากผู้ให้บริการ 42 ราย (ลงทะเบียนแล้ว 25 ราย อยู่ระหว่างดำเนินการ 4 ราย อีก 13 รายไม่มีการให้บริการข้อความแนบลิงก์)

5. การดำเนินการเรื่องเสาโทรคมนาคม สายสัญญาณอินเทอร์เน็ต และสายโทรศัพท์ที่ผิดกฎหมายตามแนวชายแดนประเทศเพื่อนบ้าน

กสทช.ได้ลงพื้นที่ตรวจสอบและกำหนดมาตรฐานความสูงของเสา และค่าความแรงของสัญญาณ โดยคาดว่าภายในสิ้นเดือน มี.ค. 2568 จะสามารถตรวจสอบครอบคลุมในทุกพื้นที่ชายแดนประเทศเพื่อนบ้าน พร้อมทั้งตรวจสอบการให้บริการโทรคมนาคมโดยสายสัญญาณ การลักลอบลากสายสัญญาณไปยังประเทศเพื่อนบ้าน

ประเสริฐ จันทรรวงทอง
ประเสริฐ จันทรรวงทอง

6. การศึกษามาตรการควบคุมดูแล OTT แพลตฟอร์ม

ที่ประชุมได้มอบหมายให้ กสทช. และสำนักงานพัฒนาธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ (ETDA) จัดตั้งคณะทำงาน เพื่อศึกษาการพิจารณาออกมาตรการควบคุมดูแล แพลตฟอร์ม OTT (Over-The-Top)

ซึ่งเป็นบริการสตรีมมิ่งออนไลน์ ที่ช่วยให้ผู้ใช้สามารถเข้าถึงเนื้อหาต่าง ๆ เช่น ภาพยนตร์ รายการทีวี เพลง และพอดแคสต์ ได้โดยตรงผ่านอินเทอร์เน็ต โดยไม่ผ่านผู้ให้บริการเครือข่ายหรือเคเบิลแบบดั้งเดิม ตัวอย่างแพลตฟอร์มยอดนิยม ได้แก่ Netflix YouTube Disney+ TikTok และ Spotify ซึ่งพบว่าอาจเป็นช่องทางให้มิจฉาชีพใช้ก่ออาชญากรรมออนไลน์ในรูปแบบต่าง ๆ เช่น การหลอกลวงออนไลน์ การเผยแพร่เนื้อหาที่ไม่เหมาะสม หรือการละเมิดลิขสิทธิ์ ที่สร้างความเสียหายให้กับประชาชน

สำหรับเรื่องดังกล่าวจะมีพิจารณามาตรการหลัก 5 ด้านเพื่อเป็นการสร้างสภาพแวดล้อมที่ปลอดภัย เป็นธรรมและยั่งยืน ทั้งสำหรับผู้บริโภค ผู้ให้บริการ และเศรษฐกิจดิจิทัลโดยรวม ดังนี้

(1.) มาตรการด้านความปลอดภัย
-ควบคุมการละเมิดลิขสิทธิ์และป้องกันการเข้าถึงเนื้อหาที่ผิดกฎหมาย และกำหนดมาตรการยืนยันตัวบุคคลเพื่อป้องกันการใช้แพลตฟอร์มไปในทางที่ผิด

(2.) การออกระเบียบเพื่อกำกับด้านเนื้อหา
-ปรับปรุงกฎหมายเพื่อให้หน่วยงานกำกับดูแลสามารถควบคุมเนื้อหาที่เผยแพร่บนแพลตฟอร์ม OTT ได้อย่างเป็นรูปธรรม
-กำหนดให้แพลตฟอร์มต่างประเทศที่ให้บริการในไทย ต้องขอใบอนุญาตและอยู่ภายใต้การกำกับดูแลของหน่วยงานและกฎหมายของประเทศไทย
-ผลักดันแนวทางการกำกับดูแลร่วมกัน ไปสู่เวทีระดับนานาชาติ

(3.) การส่งเสริมด้านอุตสาหกรรมดิจิทัล และการจัดเก็บภาษี
-การส่งเสริมผู้ประกอบการไทยเพื่อการพัฒนาแพลตฟอร์ม
-กำหนดให้แพลตฟอร์ม OTT ที่มีรายได้จากผู้ใช้ในไทยต้องเสียภาษีในประเทศไทย
-ส่งเสริมการสร้างมูลค่าจากธุรกิจดิจิทัลภายในประเทศที่ขยายตัวอย่างรวดเร็ว

(4.) การคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล
-กำหนดให้แพลตฟอร์ม OTT ต้องปฏิบัติตามมาตรฐานการคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล เช่น GDPR ของยุโรป
-ควบคุมการเก็บและการใช้ข้อมูลของผู้ใช้งาน เพื่อป้องกันการละเมิดสิทธิความเป็นส่วนตัว

(5.) การกำกับดูแลด้านการแข่งขัน
-ป้องกันการผูกขาดของแพลตฟอร์ม OTT ขนาดใหญ่ที่อาจทำให้เกิดการแข่งขันที่ไม่เป็นธรรม
-สนับสนุนให้เกิดการพัฒนาแพลตฟอร์มท้องถิ่นและการกระจายอำนาจในตลาดไซเบอร์