ดีอี ออกโรง ให้พิจารณาวิธีคุมแพลตฟอร์ม OTT ด้วยมาตรการ 5 ด้าน

ดีอี ได้มอบหมายให้ สำนักงานพัฒนาธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ และ กสทช. จัดตั้งคณะทำงาน เพื่อศึกษาการพิจารณาออกมาตรการควบคุมดูแลแพลตฟอร์ม OTT (Over-The-Top) หวังเริ่มสกัดช่องทางแพร่ข้อมูลหลอกลวง ถึงการกำกับการแข่งขัน

นายประเสริฐ จันทรรวงทอง รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอี) เป็นประธานการประชุมคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามอาชญากรรมทางเทคโนโลยี ครั้งที่ 2/2568 ซึ่งในที่ประชุมมี ตัวแทนจากสำนักงานงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) และสำนักงานพัฒนาธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ (ETDA) ร่วมอยู่ด้วย

นอหเหนือจากการหารือเกี่ยวกับการแก้ปัญหาอาชญากรรมทางเทคโลโนยีแล้ว ที่ประชุมยังมองว่า แพลตฟอร์มสตรีมมิ่ง หรือ OTT ต่าง ๆ อาจเป็นช่องทางให้มิจฉาชีพใช้ก่ออาชญากรรมออนไลน์ในรูปแบบต่าง ๆ เช่น การหลอกลวงออนไลน์ การเผยแพร่เนื้อหาที่ไม่เหมาะสม หรือการละเมิดลิขสิทธิ์ ที่สร้างความเสียหายให้กับประชาชน

ที่ประชุมได้มอบหมายให้ กสทช. และสำนักงานพัฒนาธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ (ETDA) จัดตั้งคณะทำงาน เพื่อศึกษาการพิจารณาออกมาตรการควบคุมดูแล แพลตฟอร์ม OTT (Over-The-Top) ซึ่งเป็นบริการสตรีมมิ่งออนไลน์ ที่ช่วยให้ผู้ใช้สามารถเข้าถึงเนื้อหาต่าง ๆ เช่น ภาพยนตร์ รายการทีวี เพลง และพอดแคสต์ ได้โดยตรงผ่านอินเทอร์เน็ต โดยไม่ผ่านผู้ให้บริการเครือข่ายหรือเคเบิลแบบดั้งเดิม ตัวอย่างแพลตฟอร์มยอดนิยม ได้แก่ Netflix YouTube Disney+ TikTok และ Spotify เป็นต้น

สำหรับเรื่องดังกล่าวจะมีพิจารณามาตรการหลัก 5 ด้านเพื่อเป็นการสร้างสภาพแวดล้อมที่ปลอดภัย เป็นธรรมและยั่งยืน ทั้งสำหรับผู้บริโภค ผู้ให้บริการ และเศรษฐกิจดิจิทัลโดยรวม ดังนี้

(1.) มาตรการด้านความปลอดภัย
-ควบคุมการละเมิดลิขสิทธิ์และป้องกันการเข้าถึงเนื้อหาที่ผิดกฎหมาย และกำหนดมาตรการยืนยันตัวบุคคลเพื่อป้องกันการใช้แพลตฟอร์มไปในทางที่ผิด

ADVERTISMENT

(2.) การออกระเบียบเพื่อกำกับด้านเนื้อหา
-ปรับปรุงกฎหมายเพื่อให้หน่วยงานกำกับดูแลสามารถควบคุมเนื้อหาที่เผยแพร่บนแพลตฟอร์ม OTT ได้อย่างเป็นรูปธรรม
-กำหนดให้แพลตฟอร์มต่างประเทศที่ให้บริการในไทย ต้องขอใบอนุญาตและอยู่ภายใต้การกำกับดูแลของหน่วยงานและกฎหมายของประเทศไทย
-ผลักดันแนวทางการกำกับดูแลร่วมกัน ไปสู่เวทีระดับนานาชาติ

(3.) การส่งเสริมด้านอุตสาหกรรมดิจิทัล และการจัดเก็บภาษี
-การส่งเสริมผู้ประกอบการไทยเพื่อการพัฒนาแพลตฟอร์ม
-กำหนดให้แพลตฟอร์ม OTT ที่มีรายได้จากผู้ใช้ในไทยต้องเสียภาษีในประเทศไทย
-ส่งเสริมการสร้างมูลค่าจากธุรกิจดิจิทัลภายในประเทศที่ขยายตัวอย่างรวดเร็ว

ADVERTISMENT

(4.) การคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล
-กำหนดให้แพลตฟอร์ม OTT ต้องปฏิบัติตามมาตรฐานการคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล เช่น GDPR ของยุโรป
-ควบคุมการเก็บและการใช้ข้อมูลของผู้ใช้งาน เพื่อป้องกันการละเมิดสิทธิความเป็นส่วนตัว

(5.) การกำกับดูแลด้านการแข่งขัน
-ป้องกันการผูกขาดของแพลตฟอร์ม OTT ขนาดใหญ่ที่อาจทำให้เกิดการแข่งขันที่ไม่เป็นธรรม
-สนับสนุนให้เกิดการพัฒนาแพลตฟอร์มท้องถิ่นและการกระจายอำนาจในตลาดไซเบอร์