กสทช.ชงประมูล 900MHz หาเงินเข้ารัฐ

กสทช.ระดมเงินเข้ารัฐ จัดประมูล900 MHz ให้ตามคำขอ แต่ยืนเงื่อนไข คลื่น 1800 พร้อมเล็งเคาะราคา 2600 MHz ปี’62 ฟาก “ดีแทค” เปรยพร้อมใช้สิทธิ์ทางศาล ด้าน “อสมท” เร่งเปิดทีวีบรอดแบนด์ยืนยันสิทธิ์ใช้งาน ย้ำ กสทช.จะเรียกคืนคลื่นต้องเจรจา

 

นายฐากร ตัณฑสิทธิ์ เลขาธิการคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) เปิดเผยว่า หลังจากไม่มีค่ายมือถือรายใดยื่นขอเข้าประมูลคลื่น 1800 MHz คณะทำงานจึงได้ประชุมปรับเกณฑ์การประมูลใหม่ เสนอให้ที่ประชุมบอร์ด กสทช. (27 มิ.ย.) พิจารณา

โดยเบื้องต้นจะยืนยันการจัดประมูลคลื่น 1800 MHz ให้เสร็จภายใน15 ก.ย. 2561 ซึ่งเป็นวันสิ้นสุดสัมปทานของ บมจ.โทเทิ่ล แอ็คเซ็ส คอมมูนิเคชั่น (ดีแทค) โดยคงราคาเริ่มต้น 37,457 ล้านบาทต่อใบอนุญาต 15 MHzเนื่องจากถ้าปรับเกณฑ์จะต้องประชาพิจารณ์ใหม่ทั้งยังจะนำคลื่น 900 MHz ภายใต้สัมปทานดังกล่าว ออกประมูลด้วย5 MHz ราคาเริ่มต้น 37,988 ล้านบาท เหมือนที่เปิดประชาพิจารณ์มาแล้ว โดยให้ผู้ชนะประมูลต้องลงทุนทำระบบป้องกันคลื่นรบกวนกับระบบอาณัติสัญญาณของรถไฟความเร็วสูง แต่สามารถนำค่าใช้จ่ายมาหักออกจากเงินประมูลได้ ทั้งยังให้เริ่มนับอายุใบอนุญาต 15 ปี ตั้งแต่วันที่ทำระบบเสร็จพร้อมกับเสนอให้บอร์ดออกมติไม่ให้ใช้มาตรการเยียวยาหลังสิ้นสุดสัมปทานดีแทค เนื่องจากได้จัดประมูลคลื่นก่อนสิ้นสุดสัมปทานแล้ว ถือว่าไม่เข้าเงื่อนไขตามข้อ 3 ของประกาศมาตรการเยียวยา

“เมื่อค่ายมือถืออยากได้คลื่นย่านความถี่ต่ำ ก็นำมาให้ประมูล ถ้ายังไม่เข้าประมูลอีกก็รอบอร์ดชุดใหม่”

ขณะเดียวกันจะทำรายงานสรุปปัญหาอุปสรรคให้รัฐบาลทราบ ส่วนการขยายเวลาชำระเงินค่าประมูลคลื่น 900 MHz หนก่อนนี้เป็นอำนาจที่รัฐบาลจะพิจารณา

“บีบทุกคน ไม่ใช่เฉพาะดีแทค เพราะถ้าสมมุติว่ารัฐบาลออกมาตรา 44 ให้แต่ยังไม่เข้าประมูลจะทำอย่างไร ที่บอกว่าคลื่นในมือพอคือสำหรับ 4G แต่ไม่พอ กับ 5G และนอกจาก 2 คลื่นนี้ ในปี 2562 จะนำคลื่น 2600 MHz ที่จะเรียกคืนจาก บมจ.อสมท มาจัดประมูลด้วย ส่วนปี 2563 จะจัดประมูลคลื่น 700 MHz ที่ได้คืนจากการยุติทีวีแอนะล็อก”

แหล่งข่าวภายใน ดีแทค เปิดเผยกับ “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า สนใจประมูลคลื่น 900 MHz เพราะเป็นคลื่นสำคัญที่จะขยายความครอบคลุมของโครงข่าย แม้จะมีราคาสูงแต่เป็น 5 MHz สุดท้าย แต่คลื่น 1800 MHz ดีแทคยังคงจุดยืนเดิม หากไม่ลดราคาเริ่มต้นหรือลดขนาดใบอนุญาต ส่วนการตัดสิทธิ์ไม่ให้ดีแทคเข้าสู่มาตรการเยียวยา หากกระทบลูกค้าอาจจะพิจารณาใช้สิทธิ์เรียกร้องทางศาล แต่ทั้งหมดบอร์ดจะตัดสินใจ

ด้าน บมจ.อสมท นายเขมทัตต์ พลเดช ผู้อำนวยการใหญ่ กล่าวว่า การเรียกคืนคลื่น 2600 MHz อยู่ในช่วงเจรจา เพราะต้องมีคลื่นเพียงพอให้บริษัททำธุรกิจต่อได้ เนื่องจากเริ่มทดลองให้บริการ broadband television ด้วยการใช้เทคโนโลยี broadband wireless access (BWA) บนคลื่น 2600 MHz จำนวน 144 MHz แล้ว โดยทำสัญญาให้บริษัท เพลย์เวิร์ค จำกัด ดูแลการตลาดและจัดหาคอนเทนต์ และใช้เสาสัญญาณของบริษัท แอดวานซ์ ไวร์เลส เน็ทเวอร์ค จำกัด (AWS) ในเครือ AIS บริษัท ทรูมูฟ เอช ยูนิเวอร์แซล คอมมิวนิเคชั่น จำกัด (TUC) ในเครือ true

“จะเริ่มทดลองให้บริการ 30 สถานีฐานในกรุงเทพฯ และบางหัวเมือง ก่อนจะเปิดเชิงพาณิชย์ในต้นปี 2562 โดยจะรับชมได้ผ่านกล่องทีวีดิจิทัล พีซี โมบาย และอาจจะออกเป็นซิมสำหรับใส่สมาร์ทโฟนให้ดูคอนเทนต์ได้ โดยเพลย์เวิร์คการันตีรายได้ให้ อสมทปีละ 300 ล้านบาท”