
สินทรัพย์ดิจิทัล ฝังรากในระบบเศรษฐกิจหลักของโลกเกินกว่าจะมองข้าม IMF ออกคู่มือบันทึกบัญชีดุลการชำระเงินและการลงทุนมาตรฐาน ยกสถานะ Bitcoin และคริปโตเคอร์เรนซี สู่มาตรฐานการชำระเงินของ 160 ประเทศ
กองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) ออกคู่มือดุลการชําระเงินฉบับที่เจ็ด (BPM7-Balance of Payments and International Investment Position Manual) ที่ผ่านการรับรองโดยคณะกรรมาธิการสถิติแห่งสหประชาชาติ เมื่อวันที่ 5 มี.ค. 2568 ที่ผ่านมา โดยมีการกำหนดมาตรฐานดุลชำระเงินใหม่จาก 160 ประเทศ
จากเอกสาร 1,076 หน้า สปอตไลต์จับจ้องไปที่การจัดระเบียบสินทรัพย์ดิจิทัลหลักของโลก อย่าง Bitcoin และคริปโตเคอร์เรนซีรูปแบบต่าง ๆ อย่างละเอียดลออ เพื่อติดตามการชำระบัญชีข้ามพรมแดน และกำหนดลักษณะแห่งรายได้ทางการเงินเพื่อจัดระเบียบเศรษฐกิจมหภาคของโลกใหม่
ซึ่งเป็นสัญญาณบ่งชี้ชัดว่าสินทรัพย์ดิจิทัล ได้แฝงฝังในระบบการเงินและเศรษฐกิจโลกอย่างเป็นทางการแล้ว
โดยทั่วไป สินทรัพย์ดิจิทัลได้รับการจำแนกประเภทเป็นโทเค็นที่ใช้แทนกันได้ (fungible tokens) และโทเค็นที่ไม่สามารถใช้แทนกันได้ (NFTs-non-fungible tokens)
สำหรับการจัดระเบียบใหม่ ระบุให้ Bitcoin ถูกจัดประเภทเป็น “capital assets” ประเภทสินทรัพย์ที่ไม่ใช่ทางการเงินและไม่ได้ผลิต Bitcoin และสกุลเงินดิจิทัลอื่น ๆ ที่มีลักษณะคล้ายกัน คือ ไม่มีเจ้าของหรือที่ตั้งของบริษัท แพลตฟอร์ม หรือนักลงทุน
Bitcoin จึงถือเป็น “สินทรัพย์ทุน” เนื่องจากสินทรัพย์เหล่านี้ “ไม่มีหนี้สินที่เกี่ยวข้อง”
ดังนั้น ธุรกรรมข้ามพรมแดนใด ๆ ที่เกี่ยวข้องกับสินทรัพย์เหล่านี้จะถูกบันทึกในบัญชีทุนเป็นการโอนสินทรัพย์ที่ไม่ได้ผลิต
อีกส่วนที่สำคัญยิ่งคือ Stablecoin ซึ่งการใช้งานเติบโตอย่างมาก เรียกได้ว่าเป็นการใช้เงินตราในระบบดั้งเดิม แต่ข้ามหัวธนาคารไปได้เลยนั้น IMF ก็ระบุลักษณะอย่างละเอียดเวลาลงบัญชีว่า
“Stablecoin ถือเป็นสินทรัพย์ที่มีหนี้สินหนุนหลัง”
ด้วยว่าผูกกับเงินจริงเป็น “ตราสารทางการเงิน” รูปแบบหนึ่ง
คริปโตอื่น เช่น Ethereum, Solana หรือที่มีแพลตฟอร์มรองรับ มีผู้ก่อตั้ง มีนักลงทุน ในการบันทึก-ติดตามดุลการชำระเงินให้สามารถจัดลักษณะเป็น “หุ้น” หรือสินทรัพย์ที่มีลักษณะคล้ายหุ้นได้ หากถือครองโดยนักลงทุนในเขตอำนาจศาลที่แตกต่างกัน ทำให้สามารถเปรียบเทียบได้กับการลงทุนใน “หุ้นต่างประเทศ” ในแง่ของสิทธิในการเป็นเจ้าของแพลตฟอร์มนั้น ๆ
นอกจากนี้ รายได้ที่เกิดจากการ “ทำเหมือง” หรือ staking ให้ถือได้ว่าคล้ายคลึงกับการจ่ายเงินปันผล ต้องบันทึกในบัญชีเดินสะพัด และการมีส่วนในธุรกิจขุดเหมืองและ staking จัดเป็น “การผลิตบริการ” ในหมวดส่งออก-นำเข้า “บริการคอมพิวเตอร์”
เจตจำนงของการออกคู่มือที่ระบุวิธีการบันทึกรายได้ และการติดตามทางการเงินของสินทรัพย์ดิจิทัลเหล่านี้ เกิดจากความพยายามบันทึกผลกระทบของสินทรัพย์ดิจิทัลที่มีต่อระบบเศรษฐกิจมหภาค ซึ่งหลายปีที่ผ่านมาติดตามได้ยากลำบาก แต่กระนั้นกลับส่งผลกระทบต่อโลกการเงินแบบดั้งเดิมอย่างสำคัญ
อย่างไรก็ตาม ยังคงน่าติดตามว่า การจัดแถวใหม่ของ IMF ที่จับสินทรัพย์ดิจิทัลใส่กระด้ง ด้วยมาตรฐานบัญชีแบบการเงินในโลกเดิม จะสะท้อนความเป็นจริงได้มากน้อยแค่ไหน เพราะแม้ว่าเราสามารถติดตามธุรกรรมบนบล็อกเชนได้อย่างง่ายดาย แต่แทบทุกธุรกรรมล้วนเป็นความ “นิรนาม”