
อัพเดตทิศทางเทคโนโลยี Virtualization ตั้งแต่ ปี 2025 ความต้องการยืดหยุ่นหลากหลาย ทั้งแบบโอเพ่นและไฮบริด
นายซาชิน มัลลิค, ผู้จัดการอาวุโส ฝ่ายบริหารผลิตภัณฑ์, เร้ดแฮท ได้เปิดบทความ มุมมองต่อโซลูชั่น Virtualization หลังปี 2025
เมื่อมองย้อนกลับไปจะเห็นได้ว่าทุกสิบปีจะมีคลื่นลูกใหม่ของนวัตกรรมเกิดขึ้น โดยมีพื้นฐานจากความต้องการที่แท้จริงของลูกค้าที่ยังไม่เติมเต็ม และความก้าวหน้าทางเทคโนโลยี ในยุค 1990 เกิดการเปลี่ยนผ่านข้อมูลสู่การเป็นข้อมูลดิจิทัลที่ทำให้ World Wide Web (www) เป็นที่นิยม ต่อมาเราเริ่มต้นปี 2000 ด้วยการใช้เซิร์ฟเวอร์แบบเวอร์ชวลที่เกิดจากความก้าวหน้าของเทคโนโลยีไฮเปอร์ไวเซอร์ ทำให้แอปพลิเคชั่นไม่ต้องพึ่งพาฮาร์ดแวร์อีกต่อไป
ในอีกสิบปีถัดมา (2010) มีการนำโครงสร้างพื้นฐานแบบออนดีมานด์มาใช้ พร้อมกับการเกิดขึ้นของ DevOps และ Kubernetes ที่เข้ามาทำให้สามารถสร้างและปรับใช้แอปพลิเคชั่นได้เร็วขึ้น จากเดิมที่เคยใช้เวลาเป็นปีเหลือเพียงหลักชั่วโมง และในยุค 2020 เรากำลังเห็นการเติบโตของ Generative AI (Gen AI) รวมถึงการที่ลูกค้าหลายรายเริ่มทบทวนแนวทางการทำเวอร์ชวลไลเซชั่นแบบดั้งเดิม เนื่องจากการเปลี่ยนแปลงในอุตสาหกรรม
อย่างน้อยสองในสามของแอปพลิเคชั่นสำคัญขององค์กรรันอยู่บนเวอร์ชวลแมชีน และลูกค้าส่วนใหญ่เริ่มทบทวนแนวทางการใช้เทคโนโลยีเวอร์ชวลไลเซชั่นดั้งเดิมของตนท่ามกลางการเปลี่ยนแปลงด้านนี้ที่เกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง เร้ดแฮทนำเสนอข้อมูลทิศทางของตลาดด้านเวอร์ชวลไลเซชั่น ความสำคัญของความร่วมมือกับระบบนิเวศพันธมิตร และแนวทางที่องค์กรสามารถใช้เพื่อให้การลงทุนด้านเวอร์ชวลแมชีนคุ้มค่า รวมถึงเส้นทางการปรับปรุงให้ทันสมัยเมื่อถึงเวลาที่เหมาะสม
ทิศทางในอนาคต
ในปี 2025 และจากนี้ไป จะมีการให้คำนิยามคำว่าเวอร์ชวลไลเซชั่นอย่างหลากหลาย ลูกค้าจำนวนมากหลีกเลี่ยงการถูกผูกขาดจากผู้ให้บริการรายเดียว (vendor lock-in) ด้วยการเลือกใช้ไฮเปอร์ไวเซอร์จากผู้ให้บริการหลายราย ในขณะเดียวกัน ผู้พัฒนาและจำหน่ายซอฟต์แวร์อิสระ (ISVs) โดยเฉพาะในด้านการจัดเก็บข้อมูล การสำรองข้อมูล และการกู้คืนระบบจากภัยพิบัติ ก็กำลังเผชิญกับกระแสความหลากหลายนี้เช่นกัน
ทำให้ ISVs ต่างขยายให้บริการของตนรองรับการใช้งานกับไฮเปอร์ไวเซอร์มาตรฐานอุตสาหกรรมเพิ่มเติมอย่างรวดเร็ว เพื่อให้การดำเนินงานง่ายขึ้นและลดความซับซ้อนในการเรียนรู้ โซลูชั่นที่ขับเคลื่อนด้วย AI จะมีบทบาทสำคัญ ช่วยให้ทีมทำงานได้อย่างราบรื่นในระดับภาษาคำสั่งปฏิบัติการ (Operational Syntax) โดยไม่จำเป็นต้องเชี่ยวชาญในระบบที่ซับซ้อน
โซลูชั่นที่ใช้ AI จะเข้ามามีบทบาทสำคัญในการช่วยลดความยุ่งยากในการดำเนินงาน และหลีกเลี่ยงการต้องเรียนรู้ระบบที่ซับซ้อนและเฉพาะทางมากมาย ช่วยให้ทีมงานทำงานได้อย่างราบรื่นโดยใช้คำสั่งในระดับปฏิบัติการทั่วไปที่ไม่ซับซ้อนสื่อสารกับคอมพิวเตอร์
เราจะได้เห็นว่ามีการนำหลักการการพัฒนาแอปพลิเคชั่นสมัยใหม่มาใช้มากขึ้น ความคุ้นเคยของลูกค้ากับวิธีการพัฒนาและปรับใช้แอปพลิเคชั่นสมัยใหม่เพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ ผลลัพธ์ที่ได้จากการที่นักพัฒนาสามารถทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น และสามารถให้บริการแอปพลิเคชั่นได้อย่างคล่องตัว จะกระตุ้นให้องค์กรประเมินเวิร์กโหลดเวอร์ชวลแมชีนที่ใช้งานอยู่ และพิจารณาว่าเวิร์กโหลดใดเหมาะสมกับการนำแนวทางสมัยใหม่มาใช้
ดังนั้น แพลตฟอร์มที่สามารถรันเวอร์ชวลแมชีนและคอนเทนเนอร์ร่วมกันได้อย่างราบรื่น และมอบความคล่องตัวและประสิทธิภาพในการดำเนินงาน จะได้รับความนิยมเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง
การใช้งานไฮบริดคลาวด์จะต้องเรียบง่าย แม้ว่าลูกค้าจะใช้กลยุทธ์มัลติคลาวด์สำหรับเวิร์กโหลดเวอร์ชวลไลเซชั่น แต่ก็มีแนวโน้มที่จะย้ายเวิร์กโหลดบางส่วนกลับมาไว้ในระบบภายในองค์กร (on-premises)
ปัจจัยที่ขับเคลื่อนการตัดสินใจนี้ ได้แก่ ความพร้อมใช้งานในแต่ละภูมิภาค ความกังวลเกี่ยวกับอำนาจในการควบคุมข้อมูล และการปรับค่าใช้จ่ายให้เหมาะสม การพึ่งพาผู้ให้บริการคลาวด์ที่มีความหลากหลายมากขึ้น ตอกย้ำให้เห็นความจำเป็นที่ต้องใช้โซลูชั่นไฮบริดคลาวด์ ซึ่งสามารถมอบการทำงานที่เป็นมาตรฐานไม่ว่าจะใช้บนคลาวด์ใดก็ตาม และมาพร้อมความสามารถในการสลับไปยังระบบสำรอง (failover) ที่เชื่อถือได้โดยอัตโนมัติและไม่ติดขัด ช่วยให้บริหารจัดการระบบต่าง ๆ ที่ซับซ้อนง่ายขึ้น
จากที่กล่าวมา เราจะเห็นได้ว่าจำเป็นต้องใช้โซลูชั่นเวอร์ชวลไลเซชั่นที่ทันสมัยที่สามารถปรับตัวและทำงานได้กับทุกสภาพแวดล้อม ซึ่งจะช่วยให้องค์กรสามารถเตรียมรับนวัตกรรมและการเติบโตในอนาคต การใช้กลยุทธ์ที่ถูกต้องจะช่วยให้องค์กรสามารถปรับโครงสร้างพื้นฐานแบบดั้งเดิมให้สอดคล้องกับกลยุทธ์ทางธุรกิจที่มีการพัฒนาเปลี่ยนแปลงไปได้
ความต้องการโซลูชั่นเวอร์ชวลไลเซชั่นแบบโอเพ่นและไฮบริด
ต้นทุนที่พุ่งสูงขึ้นและการจำกัดงบประมาณด้านไอที ไม่ได้เป็นเพียงเหตุผลเดียวที่เป็นปัจจัยหลักที่ทำให้องค์กรทบทวนการใช้โซลูชั่นเวอร์ชวลไลเซชั่นของตนใหม่ ทางเลือกในการใช้โซลูชั่นโอเพ่นซอร์ซที่ทันสมัยกำลังเข้ามามีบทบาท ส่วนหนึ่งเป็นเพราะสามารถตอบโจทย์ความต้องการที่สอดคล้องกับทิศทางการพัฒนาของเวอร์ชวลไลเซชั่นในอนาคตได้
แม้การเดินสู่ความทันสมัยต้องใช้เวลาอีกหลายปี และเวอร์ชวลแมชีนยังคงเป็นองค์ประกอบสำคัญในกลยุทธ์ด้านไอทีขององค์กร แต่มีแนวโน้มว่าแผนงานในอนาคตจะเกี่ยวกับเรื่องของคอนเทนเนอร์, การใช้งานที่ edge, Generative AI (Gen AI) และเทคโนโลยีอื่น ๆ อีกมาก
การใช้ AI ในองค์กร ต้องการแพลตฟอร์มที่แก้ความท้าทายที่เหมือนกันได้ด้านความยืดหยุ่น เวิร์กโฟลว์การทำงานร่วมกัน และการสเกลไปได้ทุกที่บนไฮบริดคลาวด์ การจะใช้ประโยชน์จากนวัตกรรมเหล่านี้ โดยไม่ทำให้การลงทุนด้านเวอร์ชวลแมชีนที่ลงทุนไปแล้วสูญเปล่าได้นั้น องค์กรต้องใช้โซลูชั่นที่ไม่ผูกขาดอยู่กับเวนเดอร์ใดเวนเดอร์หนึ่ง และมอบแพลตฟอร์มเดียวที่สามารถบริหารจัดการได้ทั้งแอปพลิเคชั่นรุ่นใหม่และรุ่นเก่าทั้งหมด และต้องเป็นโซลูชั่นที่รองรับการใช้แพลตฟอร์ม AI ขององค์กร
จุดนี้เองที่โซลูชั่นโอเพ่นซอร์ซแสดงให้เห็นถึงศักยภาพอย่างชัดเจน ด้วยการนำเสนอวิธีผสานรวมเทคโนโลยีคลาวด์เนทีฟโดยไม่จำเป็นต้องละทิ้งโครงสร้างพื้นฐานที่มีอยู่ เวอร์ชวลไลเซชั่นแบบโอเพ่นซอร์ซเป็นทางเลือกที่เปิดโอกาสให้องค์กรสามารถเข้าถึงระบบนิเวศทั้งหมดของเทคโนโลยีที่ได้รับการรับรอง ได้รับความยืดหยุ่น และที่สำคัญที่สุดคือมอบอำนาจการควบคุมที่ผู้บริหารไอทีกำลังแสวงหาในสภาวะตลาดที่มีความไม่แน่นอนเพิ่มขึ้น
โซลูชั่น Red Hat OpenShift พัฒนาขึ้นบนเทคโนโลยีโอเพ่นซอร์ซที่ผ่านการพิสูจน์แล้ว อาทิ Kubernetes, KubeVirt และ KVM เพื่อมอบประสบการณ์การบริหารจัดการที่เป็นเอกภาพทั้งในสภาพแวดล้อมคลาวด์ ระบบภายในองค์กร (on-premises) และเอดจ์ (edge)
การทำงานร่วมกันของเวอร์ชวลแมชีนและคอนเทนเนอร์
องค์กรหลายแห่งพบว่า ตนเองต้องเผชิญกับความท้าทายเฉพาะหน้าด้านเวอร์ชวลไลเซชั่นซึ่งเกิดขึ้นอย่างทันทีทันใด และยังคงต้องการวางรากฐานเพื่อการปรับปรุงแอปพลิเคชั่นให้ทันสมัยในอนาคต แต่ความท้าทายนี้อาจเป็นโอกาสหนึ่งขององค์กรได้
องค์กรหลายแห่งยังไม่พร้อมทุ่มเทไปกับเรื่องการปรับให้ทันสมัยทั้งหมด ไม่ว่าจะด้วยเหตุผลด้านข้อจำกัดด้านงบประมาณ ช่องว่างทางทักษะ การจัดลำดับความสำคัญ หรือเหตุผลใด ๆ ก็ตาม บ่อยครั้งที่องค์กรเหล่านี้เน้นให้การทำธุรกิจและระบบต่าง ๆ ดำเนินไปได้ก่อน และทำการเปลี่ยนแปลงด้านไอทีเพิ่มทีละน้อย แทนทางเลือกในการยกเครื่องโครงสร้างพื้นฐานไอทีทั้งหมดครั้งใหญ่ที่ใฝ่ฝันอยากจะทำ
แต่อย่างไรก็ตาม การทำเวอร์ชวลไลเซชั่นให้ทันสมัยนั้น ไม่ได้อยู่ในข้อจำกัดที่ว่า จำเป็นต้องทำครั้งเดียวทั้งหมดหรือไม่เช่นนั้นก็ไม่ต้องทำเลย
เร้ดแฮททำงานอย่างต่อเนื่องเพื่อปรับปรุง Red Hat OpenShift ให้ตอบสนองความต้องการของโครงสร้างพื้นฐานแบบเวอร์ชวลไลซ์ได้อย่างดีที่สุด พร้อมทั้งช่วยให้องค์กรสามารถใช้ประโยชน์จากนวัตกรรมไอทีล่าสุด เช่น Generative AI ทั้งนี้ Red Hat OpenShift พร้อม OpenShift Virtualization ทำหน้าที่เป็นสะพานเชื่อมเชิงกลยุทธ์ระหว่างสภาพแวดล้อมเวอร์ชวลไลเซชั่นแบบดั้งเดิมและแอปพลิเคชั่นสมัยใหม่แบบคลาวด์-เนทีฟ ซึ่งช่วยลดความซับซ้อนของกระบวนการเปลี่ยนผ่าน ในขณะที่ยังคงรักษาความต่อเนื่องในการดำเนินงาน
นอกจากนี้เร้ดแฮทยังได้ขยายผลิตภัณฑ์ด้านเวอร์ชวลไลเซชั่นเพื่อรองรับผู้ใช้ในทุกขั้นตอนของการใช้งานเทคโนโลยีเวอร์ชวลไลเซชั่น ด้วย Red Hat OpenShift รุ่นล่าสุด Red Hat OpenShift Virtualization Engine องค์กรจะได้รับโซลูชั่นที่มีประสิทธิภาพ ที่รวมถึงคุณสมบัติและส่วนประกอบหลักของ OpenShift ที่จำเป็นสำหรับการใช้เวอร์ชวลไลเซชั่น พร้อมเส้นทางการอัพเกรดที่ราบรื่น และง่ายดาย เพื่อตอบสนองความต้องการด้านโครงสร้างพื้นฐาน การเพิ่มประสิทธิภาพ และความทันสมัยในอนาคต
Red Hat OpenShift Virtualization ช่วยให้องค์กรต่าง ๆ เช่น Reist Telecom AG สามารถผสานให้เวอร์ชวลแมชีนและคอนเทนเนอร์ทำงานร่วมกันได้ ทำให้สามารถลดต้นทุนค่าลิขสิทธิ์ลงครึ่งหนึ่ง เพิ่มความโปร่งใสและความสอดคล้องให้กับนโยบายความปลอดภัยด้านไอที รวมถึงเสริมสร้างความร่วมมือระหว่างทีมผ่านแนวทาง DevOps และเครื่องมือที่เกี่ยวข้อง
เส้นทางข้างหน้าที่ยืดหยุ่น
ภาพรวมของเวอร์ชวลไลเซชั่นในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมามีการเปลี่ยนแปลงพอสมควร และในปี 2025 ทิศทางบางอย่างจะเริ่มชัดเจนขึ้น การตัดสินใจครั้งสำคัญ ๆ เกิดขึ้นเมื่อต้องพิจารณาถึงการปกป้องไม่ให้การลงทุนด้านเวอร์ชวลแมชีนที่ทำไปแล้วเสียเปล่า ในขณะเดียวกันก็จับตาดูอนาคตด้วย ทั้งนี้ แม้การรักษาสถานะเดิมอาจดูเป็นทางเลือกที่ง่ายกว่า แต่ Red Hat OpenShift Virtualization Engine สามารถช่วยให้องค์กรโยกย้ายเวิร์กโหลดไปยังสภาพแวดล้อมที่มั่นคงก่อน แล้วทยอยปรับปรุงให้ทันสมัยเมื่อถึงเวลาที่เหมาะสม