ระบบพร้อม อะไรไม่พร้อม ทำไม Cell Broadcast เตือนภัยไม่เกิดในไทยสักที

ชวนทำความเข้าใจการทำงานของระบบเตือนภัย “Cell Broadcast Service” ที่ต่างจาก SMS แจ้งเตือนปกติ พร้อมไขข้อสงสัยว่าทำไมยังใช้งานไม่ได้ แม้ค่ายมือถือจะทำการทดสอบระบบไปแล้ว

ประเทศไทยเกิดภัยพิบัตินับครั้งไม่ถ้วน ไม่ว่าจะเป็นน้ำท่วม พายุ หรือแผ่นดินไหวครั้งล่าสุด แต่ระบบแจ้งเตือนภัยพิบัติ “Cell Broadcast Service” (CBS) กลับยังไม่สามารถใช้งานได้ ทำให้ประชาชนออกมาตั้งคำถามถึงความล่าช้าที่เกิดขึ้นว่าติดปัญหาอะไร ทำไมดำเนินการให้แล้วเสร็จไม่ได้สักที

รายงานข่าวจาก บมจ.ทรู คอร์ปอเรชั่น เปิดเผยว่า ระบบ CBS จะทำการส่งข้อความเตือนตรงถึงหน้าจอมือถือทุกเครื่องในพื้นที่เกิดเหตุ ผ่านเสาสัญญาณมือถือ โดยมีข้อดีแบบที่ SMS ธรรมดาทำไม่ได้ เช่น

  • ส่งข้อความถึงทุกเครื่องในพื้นที่พร้อมกันในครั้งเดียว (แบบ broadcast)
  • มีเสียงเตือนดังพิเศษแม้เปิดโหมดเงียบ
  • ข้อความจะ Pop-up ขึ้นมาบนหน้าจอทันที
  • เจาะจงพื้นที่ได้ ส่งเฉพาะพื้นที่เสี่ยงภัย
  • ไม่ต้องโหลดแอปเพิ่ม ทุกเครื่องรับได้ทันที
  • แม้เครือข่ายจะหนาแน่น ก็ส่งให้รับรู้ได้พร้อมกัน

ส่วน SMS ธรรมดามีข้อจำกัดเรื่องเวลา ส่งได้ช้า เพราะต้องส่งทีละเบอร์ ไม่สามารถส่งพร้อมกันได้ ต้องมีฐานข้อมูลเบอร์โทรศัพท์ ไม่มีเสียงเตือนพิเศษ เมื่อเปิดโหมดเงียบอาจไม่ได้ยิน ทำให้ไม่เหมาะกับการแจ้งเตือนภัยพิบัติ

ทั้งนี้ ระบบ CBS จะทำงานได้ต้องมี 2 องค์ประกอบหลักทำงานร่วมกัน คือ 1.CBC (Cell Broadcast Center) หรือโอเปอเรเตอร์ผู้ให้บริการมือถือ และ 2.CBE (Cell Broadcast Entity) หรือหน่วยงานรัฐที่ออกประกาศเตือน เช่น กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) โดยมีขั้นตอนการทำงาน ดังนี้

  1. เมื่อเกิดภัยพิบัติ – กรม ปภ. (CBE) วิเคราะห์สถานการณ์และตัดสินใจส่งการแจ้งเตือน
  2. ส่งคำสั่งแจ้งเตือน – ข้อมูลถูกส่งไปยังศูนย์ CBC ของค่ายมือถือ
  3. กระจายสัญญาณ – CBC ส่งข้อมูลไปยังเสาสัญญาณในพื้นที่เป้าหมาย
  4. แจ้งเตือนผู้ใช้ – ข้อความพร้อมเสียงเตือนปรากฏบนมือถือทุกเครื่องในพื้นที่นั้น ๆ

ปัจจุบันความคืบหน้าของระบบ CBS ในประเทศไทย คือ CBC หรือค่ายมือถือติดตั้งระบบและทดสอบเรียบร้อยแล้ว ส่วน CBE หรือกรม ปภ. ยังอยู่ระหว่างจัดตั้งระบบทำงานและทดสอบเพื่อเปิดให้บริการ ซึ่งต้องติดตามต่อว่าจะแล้วเสร็จเมื่อไร

ADVERTISMENT
True-CBS
ภาพจาก บมจ.ทรู คอร์ปอเรชั่น