ชงทิ้ง”ไทยคม”ดวงใหม่รอยาว LandingRight สกัดดาวเทียมต่างชาติ

วิ่งขาขวิดรักษาวงโคจรดาวเทียม “119.5 ตะวันออก” แบบเฉียดฉิวผลพวงอำนาจกำกับดาวเทียมคาบเกี่ยว “ดีอี-กสทช.” อนาคตดาวเทียมดวงใหม่รอกันยาว ๆ ทั้ง กม.ใหม่-ความคุ้มค่า-เกณฑ์คัดเลือกบริษัทที่เหมาะสม หลังมติบอร์ดนโยบายอวกาศ-ดีอี ชง ครม.ตัดขาด “ไทยคม” ฟากดาวเทียมต่างชาติยังเจอกำแพง

 

“landing rights” ต้องรอ ครม.เคาะ

พล.อ.ต.ธนพันธุ์ หร่ายเจริญ รองเลขาธิการคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) เปิดเผยกับ “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า ปัญหาวงโคจรดาวเทียมของไทยที่ 119.5 ตะวันออก ในตำแหน่งที่เรียกว่า THAICOM-P3 ซึ่งคณะกรรมการนโยบายอวกาศแห่งชาติ (17 พ.ค. 2561) และคณะกรรมการดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (ดีอี)(25 พ.ค. 2561) มอบหมายให้สำนักงาน กสทช. เร่งรักษาสิทธิ์ก่อนจะหมดอายุในวันที่ 7 มิ.ย. 2561 เนื่องจากครบ 7 ปีที่ไม่ได้ใช้งานนั้น สำนักงาน กสทช.ได้ส่งเอกสารข่ายงานดาวเทียม (ไฟลิ่ง) ให้กับสหภาพโทรคมนาคมระหว่างประเทศ (ITU) เรียบร้อยตั้งแต่ 5 มิ.ย.ที่ผ่านมา

“กสทช.ไม่ได้ดำเนินการล่าช้า แต่ตาม พ.ร.บ.กสทช. ฉบับปัจจุบัน กำหนดให้ กสทช.มีฐานะหน่วยงานอำนวยการของประเทศ ในการประสานงานกิจการดาวเทียมกับ ITU แต่กระทรวงดิจิทัลฯ ยังเป็นผู้กำหนดนโยบาย จึงต้องทำหนังสือสอบถามทางดีอีก่อนว่า ในกรณีนี้จะมีนโยบายอย่างไร”

โดยสอบถามไปตั้งแต่ 26 เม.ย.และดีอีได้ตอบกลับมาเมื่อ 10 พ.ค.ว่า มีนโยบายให้รักษาวงโคจรไว้ 25 พ.ค. กสทช.จึงได้เสนอ 3 แนวทางดำเนินการเพื่อให้พิจารณา ซึ่งดีอีได้ทำหนังสือตอบกลับมา 1 มิ.ย.ว่า เลือกแนวทางให้แจ้งจดทะเบียนข่ายงานดาวเทียมในตำแหน่งดังกล่าว โดยใช้ดาวเทียมไทยคม 4 ซึ่งอยู่ในตำแหน่งวงโคจรเดียวกัน แต่คนละไฟลิ่ง ซึ่ง กสทช.ได้ส่งเรื่องให้ ITU ตั้งแต่ 5 มิ.ย. 2561 และ 6 มิ.ย. แจ้งกลับไปยังกระทรวงให้ประสานกับ บมจ.ไทยคม เพื่อดำเนินการกับไทยคม 4

“แนวทางนี้ทำได้เพื่อยืดอายุไฟลิ่ง เพราะดาวเทียมหนึ่งดวงไม่จำเป็นต้องใช้แค่ไฟลิ่งเดียว แต่ต้องย้ำว่าไม่ใช่ให้สิทธิ์ บมจ.ไทยคม ดูแลต่อ”

ส่วนไฟลิ่งต่อไปจะหมดอายุสิทธิ์ใช้งานในอีก 2 ปี คือ วงโคจรที่ 50.5 ตะวันออก ซึ่งดีอีได้ลากดาวเทียม NSS-5 มาเป็นดาวเทียมประจำการชั่วคราว (interim satellite) ไว้ก่อน

“สุญญากาศ” รอ ครม.เคาะ

แหล่งข่าวภายในกระทรวงดีอีเปิดเผยกับ “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า การกำกับดูแลกิจการดาวเทียมมีปัญหาเรื่องอำนาจคาบเกี่ยวระหว่างดีอี กับสำนักงาน กสทช.มาตลอด จนบ่อยครั้งเป็นเหมือนพื้นที่สุญญากาศที่ไม่มีใครกำกับต่างฝ่ายต่างโยนกันไปมา จนเอกชนสับสนว่าต้องได้รับอนุมัติอะไรก่อน อะไรหลัง จากหน่วยงานใดแม้ว่าจะมีการแก้ไข พ.ร.บ.กสทช. ในส่วนนี้แล้วครั้งหนึ่ง สำนักงาน กสทช. เป็นหน่วยงานอำนวยการที่ประสานกับ ITU แล้ว แต่ในด้านนโยบายก็ยังเป็นหน้าที่กระทรวงดีอี ซึ่งมีหลายส่วนต้องรอมติคณะกรรมการนโยบายอวกาศแห่งชาติ และที่ประชุม ครม. ด้วย อาทิ เกณฑ์การใช้วงโคจรดาวเทียม การอนุญาตให้ดาวเทียมต่างชาติเข้ามาให้บริการในไทย ทั้งเงื่อนไขการเข้าสู่ตลาด (market access) สิทธิ์ landing right จึงทำให้กิจการดาวเทียมในไทยขณะนี้ ไม่ว่าจะเป็นของคนไทยหรือต่างชาติเข้ามาให้บริการในไทยที่เป็นดวงใหม่จะยังดำเนินการไม่ได้

“สนช.กำลังยกร่าง พ.ร.บ.กสทช.ฉบับใหม่ โดยให้อำนาจ กสทช. กำกับกิจการดาวเทียมทั้งหมด ภายใต้นโยบายที่ ครม.จะประกาศ คาดว่าเริ่มใช้ได้ปีนี้”

รอผลศึกษาความคุ้มค่าวงโคจร

นางวรรณพร เทพหัสดิน ณ อยุธยา เลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สดช.) เปิดเผยกับ “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า ปัจจุบันประเทศไทยมี21 ข่ายงานดาวเทียม และกำลังร่วมกับสำนักงาน กสทช. ศึกษาความคุ้มค่าของแต่ละตำแหน่งวงโคจรดาวเทียม เพื่อตัดสินใจว่าควรจะยิงดาวเทียมเพิ่มในตำแหน่งใดบ้าง คาดว่าจะได้ข้อสรุปภายใน 6 เดือนนี้ ดังนั้นในช่วงนี้ยังไม่มีการมอบสิทธิ์ให้บริษัทใดใช้งานวงโคจร เพราะเมื่อผลศึกษาออกแล้วก็ต้องวางหลักเกณฑ์การพิจารณาคัดเลือกผู้ที่จะมีสิทธิ์ใช้ให้เสร็จก่อนด้วย

Landing Right สกัดต่างชาติ

ส่วนการเข้ามาให้บริการของดาวเทียมต่างชาติ ยังต้องรอประกาศหลักเกณฑ์ market access และ landing right ก่อน เพราะถือเป็นการทำข้อตกลงระหว่างประเทศที่ต้องคำนึงถึงประโยชน์ทางการค้าและความมั่นคง โดยการให้สิทธิ์ดาวเทียมต่างชาติเข้ามาให้บริการได้ ต้องเป็นการเจรจาระหว่างรัฐต่อรัฐ ที่จะต้องมีการให้สิทธิอย่างตอบแทนกัน มีการกำกับดูแลที่เคารพกฎหมายไทย มีสิทธิ์ในการระงับเนื้อหาขัดกับกฎหมายไทย และต้องมีการจ่ายค่าธรรมเนียม

“เกณฑ์ market access และ landing right ยังต้องรอ ครม.อนุมัติ และมีการเปิดเจรจาก่อนถึงให้บริการได้ กรณีบริษัท มิว สเปซ ที่เปิดตัวให้บริการดาวเทียมในไทย โดยใช้ดาวเทียมของกลุ่มดาวเทียม O3b Network ซึ่งเป็นบริษัทในเครือของบริษัท SES S.A ราชรัฐลักเซมเบิร์ก ในตำแหน่งที่ 50.5 ตะวันออก ก็เช่นกัน”

แหล่งข่าวภายในสำนักงาน กสทช.เปิดเผยว่า ที่ประชุมบอร์ด กสทช. เมื่อ 18 ต.ค. 2560 ได้เห็นชอบให้ใบอนุญาตประกอบกิจการโทรคมนาคม ประเภทที่ 3 (มีโครงข่ายเป็นของตัวเอง) กับบริษัท มิว สเปซ แอนด์ แอดวานซ์ เทคโนโลยี จำกัด เป็นเวลา 15 ปี แต่มีเงื่อนไขแนบท้ายใบอนุญาตว่า จะให้บริการได้ต้องได้รับอนุมัติตามเกณฑ์ market access และ landing right จากกระทรวงดีอีก่อน ซึ่งหากให้บริการก่อน ถือว่าผิดเงื่อนไขใบอนุญาต กสทช.สามารถระงับการให้บริการก่อนได้

ตัดขาด “ไทยคม”

ขณะที่ปัญหาสัมปทานดาวเทียมระหว่างกระทรวงกับ บมจ.ไทยคม แหล่งข่าวภายในกระทรวงดีอีเปิดเผยว่า คณะกรรมการนโยบายอวกาศแห่งชาติ และบอร์ดดีอีล่าสุด มีมติเห็นตรงกันที่จะไม่รับข้อเสนอของ บมจ.ไทยคม ที่ขอทำความตกลงใหม่หลังสิ้นสุดสัมปทานในปี 2564 สำหรับการเข้าบริหารจัดการดาวเทียมไทยคม 4 ดวง 5 และ 6

โดยกระทรวงดีอีเลือกใช้แนวทางการบริหารจัดการดาวเทียม ด้วยการประกาศเชิญชวนเพื่อคัดเลือกเอกชนสัญชาติไทย (ถือหุ้นเกิน 51%) มาบริหารจัดการดาวเทียมทุกดวงที่มีอายุทางวิศวกรรมเหลืออยู่ และทรัพย์สินภายใต้สัมปทาน ตามแนวทางของ พ.ร.บ.ร่วมทุน โดยเตรียมเสนอให้ ครม.พิจารณา

“ไทยคมยื่นข้อเสนอเข้ามาหลายครั้งตั้งแต่ปี 2560 จนล่าสุดคือ เม.ย. 2561 โดยยินดีให้ผลตอบแทนเพิ่ม แต่กระทรวงและบอร์ดนโยบายอวกาศฯเห็นชอบแค่การให้ บมจ.ไทยคม ดำเนินการเชื่อมต่อระบบขับเคลื่อนเพื่อต่ออายุให้ดาวเทียมไทยคม 5 สามารถใช้งานได้ยาวนานขึ้น แต่บริษัทไม่มีสิทธิ์บริหารจัดการต่อ และต้องรับผิดชอบหากการเชื่อมต่อทำให้เกิดความเสียหายต่อตัวดาวเทียม ส่วนดาวเทียมไทยคม 4 จะดำเนินการเชื่อมต่อระบบขับเคลื่อนหลังสัมปทานสิ้นสุดไปแล้ว จึงต้องให้ผู้ประกอบการที่ได้คัดเลือกใหม่มาดำเนินการ”