
แม้ทุกวันนี้ คนส่วนใหญ่จะเข้าถึงการใช้อินเทอร์เน็ตมากขึ้นมากแล้ว จากพัฒนาการของเทคโนโลยีไร้สาย แต่จากการสำรวจของ Internet Society องค์กรไม่แสวงผลกำไรที่มีพันธกิจพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานและจุดเชื่อมต่ออินเทอร์เน็ตให้เข้าถึงผู้คนห่างไกลทั่วโลกพบว่า มีผู้คนกว่า 2 พันล้านคนทั่วโลกที่ยังเข้าไม่ถึงอินเทอร์เน็ต
“ประชาชาติธุรกิจ” มีโอกาสพูดคุยกับ “แซลลี่ เวนต์เวิร์ธ” ประธานและซีอีโอของมูลนิธิ Internet Society ซึ่งได้ชี้ให้เห็นว่าแม้ประเทศไทยจะมีความโดดเด่นในแง่การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานอินเทอร์เน็ต แต่โดยรวมในภูมิภาคอาเซียนก็ยังต้องการจุดเชื่อมต่อที่เป็นกลาง รวมถึงสิ่งที่ต้องกังวลเรื่องความเหลื่อมล้ำด้านดิจิทัล ในการใช้ปัญญาประดิษฐ์ (เอไอ)
2 พันล้านคนยังไม่ออนไลน์
“เวนต์เวิร์ธ” กล่าวว่า องค์กรมีพันธสัญญาในการสนับสนุนสร้างจุดเชื่อมต่ออินเทอร์เน็ตกับพันธมิตรทั่วโลกเพื่อเข้าถึงชุมชนห่างไกล และได้มีการจัดงบฯกว่า 30 ล้านเหรียญสหรัฐ เพื่อสนับสนุนการสร้างโครงสร้างพื้นฐานเพื่อนำผู้คนเหล่านั้นเข้าสู่ “ออนไลน์” และส่งเสริมการพัฒนาจุดแลกเปลี่ยนอินเทอร์เน็ต (IXP) ทั่วโลก
IXP เป็นสถานที่ที่ผู้ให้บริการอินเทอร์เน็ต (Internet Service Providers : ISP) และผู้ให้บริการเครือข่ายต่าง ๆ เชื่อมต่อเพื่อแลกเปลี่ยนข้อมูลอินเทอร์เน็ตระหว่างกันโดยตรง ซึ่งเป็นวิธีสำคัญในการนำอินเทอร์เน็ตที่เข้าถึงได้และเชื่อถือได้มาสู่ประเทศต่าง ๆ ทั่วโลก
สำหรับ BKNIX เป็นจุดแลกเปลี่ยนอินเทอร์เน็ต (IXP) ที่เป็นกลางแห่งแรกของประเทศไทย ก่อตั้งขึ้นเดือนธันวาคม 2557 ด้วยการสนับสนุนด้านเทคนิค และอุปกรณ์จาก Internet Society ตลอด 10 ปีที่ผ่านมา จุดแลกเปลี่ยนนี้เติบโตต่อเนื่อง จากที่มีสมาชิก 8 ราย จนปัจจุบันมีถึง 64 ราย มีปริมาณการแลกเปลี่ยนทราฟฟิกสูงสุดกว่า 250 จิกะบิตต่อวินาที (250 Gbps)
ในปี 2559 Internet Society สนับสนุน BKNIX เพิ่มจุดให้บริการ (Point of Presence : POP) ย่านธุรกิจกลางกรุงเทพฯ และร่วมกับ BKNIX Peering Forum จัดกิจกรรมต่าง ๆ เพื่อแลกเปลี่ยนแนวปฏิบัติทั้งด้านความปลอดภัยในการจัดเส้นทาง (Routing Security) และอื่น ๆ ทั้งปี 2563 ได้จัดตั้งจุดแลกเปลี่ยนแห่งใหม่ในเชียงใหม่
“เรายังร่วมกับมูลนิธิศูนย์สารสนเทศเครือข่ายไทย (THNIC Foundation) ที่มีบทบาทในการช่วยพัฒนาชุมชนและโครงสร้างพื้นฐาน ส่งเสริมการใช้ชื่อโดเมน .th และ .ไทย ทั้งสนับสนุนการวิจัย และพัฒนาเทคโนโลยีอินเทอร์เน็ต”
ดัชนีอินเทอร์เน็ตไทย
ประเทศไทยยังมีดัชนีการเข้าถึงอินเทอร์เน็ตสูงสุดในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ โดยเฉพาะในชนบท เป็นผลมาจากการสนับสนุนของภาครัฐ ในการขยายโครงข่าย ประกอบกับการมีโครงสร้างพื้นฐาน และนโยบายที่เน้นการรักษาทราฟฟิกในประเทศ ส่งผลให้ขยาย และเพิ่มประสิทธิภาพบริการบรอดแบนด์ไร้สายประจำที่ และบรอดแบนด์เคลื่อนที่ได้โดดเด่น ครองอันดับที่ 39 สำหรับอินเทอร์เน็ตมือถือ และอันดับ 12 อินเทอร์เน็ตบ้าน เมื่อเทียบกับทั่วโลก
และตั้งแต่ปี 2565 ตลาดศูนย์ข้อมูล (Data Center) ของไทยเติบโตต่อเนื่อง มีจุดเชื่อมต่ออินเทอร์เน็ต (Internet Exchange Points) กระจายหลายแห่ง และเป็นศูนย์กลางการเชื่อมต่อให้ประเทศเพื่อนบ้านด้วย
นอกจากนี้ ผู้ให้บริการอินเทอร์เน็ตของไทยยังนำ IPv6 มาใช้ เพื่อรองรับการเติบโตของโครงข่ายในอนาคต จึงเชื่อมต่ออุปกรณ์ใหม่ ๆ ได้หลายพันล้านเครื่อง ส่งผลให้ไทยก้าวขึ้นมาอยู่ในอันดับ 3 ของเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ และอันดับ 30 ของโลก ด้านการใช้ IPv6
ปัญหาอยู่ตรงไหน
อินเทอร์เน็ตในประเทศไทยไม่ได้มีปัญหาในเรื่องการเข้าถึงชุมชน แต่ “เวนต์เวิร์ธ” มองว่า การเชื่อมต่อแบบ Open Internet ยังเกิดขึ้นได้ยาก
“ใน Upsteam ต้องนึกถึงการนำไปเชื่อมต่อกับนอกประเทศอย่าง ลาว เมียนมา กัมพูชา ที่ผู้ให้บริการอื่น ๆ จะเชื่อมต่อกับไทยยังยาก โดยเฉพาะแบบ P2P ซึ่งต้องอาศัยจุดเชื่อมต่อ หรือ IX ที่เป็นกลาง ไม่ขึ้นกับเอกชนรายใดรายหนึ่ง เพื่อทำให้ชุมชนห่างไกลในพื้นที่เหล่านั้นเข้าถึงอินเทอร์เน็ต”
แม้อัตราการเข้าถึงอินเทอร์เน็ตในไทยจะอยู่ในระดับสูง แต่ยังมีประชากรในพื้นที่ห่างไกล โดยเฉพาะภาคตะวันออกเฉียงเหนือที่ยังเข้าไม่ถึงประโยชน์จากการเชื่อมต่ออินเทอร์เน็ต เนื่องจาก 1.โครงสร้างพื้นฐานยังไม่เสถียร 2.ค่าใช้จ่ายด้านอินเทอร์เน็ตยังสูง และ 3.ขาดการตระหนักรู้ถึงประโยชน์ของอินเทอร์เน็ต
Internet Society มองว่า การให้เครือข่ายชุมชน และ ISP ท้องถิ่นดูแลรักษาระบบอินเทอร์เน็ตขนาดเล็กจะทำให้เกิดการตระหนักรู้จากความเข้าใจในท้องถิ่น ทำให้ได้รับบริการที่มีคุณภาพในราคาเข้าถึงได้
ความเหลื่อมล้ำเอไอ
“เวนต์เวิร์ธ” กล่าวว่า แม้เทคโนโลยี AI จะก้าวหน้า และเติบโตรวดเร็ว แต่การทำงานของแอปพลิเคชั่นเหล่านี้ยังต้องพึ่งพาการเชื่อมต่อพื้นฐาน ซึ่งในหลายพื้นที่ทั่วโลกยังไม่สามารถเข้าถึงได้
“ผู้คนทั่วโลกใช้ AI เพิ่มประสิทธิภาพการทำงาน และอำนวยความสะดวก โดย AI เหล่านี้ทํางานผ่านโมเดลภาษาขนาดใหญ่ที่ได้รับการฝึกฝนจากข้อมูลบนอินเทอร์เน็ตในช่วง 30 ปีที่ผ่านมา แต่ยังขาดมุมมองจากประชากรที่ไม่สามารถเข้าถึงอินเทอร์เน็ตที่มีกว่า 2 พันล้านคน ส่งผลให้โมเดล AI ขาดความหลากหลายทางภาษาอีกนับพันภาษา รวมถึงด้านวัฒนธรรม และประวัติศาสตร์”
ขณะที่ด้านความปลอดภัย และความมั่นคงเกิดจากการเชื่อมต่ออินเทอร์เน็ตที่ไม่เพียงพอ ทำให้พื้นที่นั้น ๆ กลายเป็นหนึ่งในกลุ่มเปราะบางที่มีความเสี่ยงสูง จึงตกเป็นเหยื่อของภัยคุกคามทางไซเบอร์ และออนไลน์ได้ง่าย เช่น ถูกหลอกลวง และการหลอกล้วงข้อมูลส่วนตัว (Phishing) ไม่รวมการเข้าถึงอุปกรณ์ที่จำเป็นสำหรับการใช้ AI ซึ่งมีราคาเพิ่มขึ้น และพัฒนาเร็วขึ้น