
กมธ.การปกครอง เช็กไทม์ไลน์ ปภ. กรณีการแจ้งเตือนประชาชนล่าช้า จากเทคนิคการส่ง SMS ส่วนระบบแจ้งเตือนฉุกเฉิน Cell Broadcast เพิ่งเซ็นสัญญาก่อนแผ่นดินไหว 1 วัน
รายงานจากรัฐสภา ในการประชุมคณะกรรมาธิการ (กมธ.) การปกครอง สภาผู้แทนราษฎร ที่มี นายกรวีร์ ปริศนานันทกุล สส.อ่างทอง พรรคภูมิใจไทย (ภท.) เป็นประธาน มีวาระพิจารณาศึกษาแนวทาง ปฏิบัติเกี่ยวกับระบบแจ้งเตือนภายในกรณีเหตุภัยพิบัติกรณีศึกษาเหตุแผ่นดินไหว เมื่อวันที่ 28 มีนาคมที่ผ่านมา
โดยเชิญรัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม อธิบดีกรมอุตุนิยมวิทยา อธิบดีกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) เลขาธิการคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) และผู้อำนวยการศูนย์เตือนภัยพิบัติแห่งชาติ ร่วมให้ข้อมูล
นายกรวีร์ได้ให้หน่วยงานต่าง ๆ ที่เข้าให้ข้อมูลชี้แจงเกี่ยวกับปัญหาที่พบ เรื่องระบบแจ้งเตือนภัย รวมถึงการจัดทำระบบ Cell Broadcast
ผู้แทน ปภ.ชี้แจงว่าการทำงานด้านสาธารณภัยเป็นการทำงานร่วมกันหลายหน่วยงาน หากเป็นเรื่องของแผ่นดินไหว พยากรณ์อากาศ ฝนตกหนัก สารตั้งต้นจะมาจากกรมอุตุฯที่มีตัวเซ็นเซอร์ข้อมูลต่าง ๆ หลังจากนั้นเมื่อมีการวิเคราะห์ประมวลผลแต่ละหน่วยงานก็จะส่งชุดข้อมูลต่าง ๆ มายังหน่วยงาน
ซึ่งเรื่องแผ่นดินไหว ปภ.ได้รับข้อมูลจากกรมอุตุฯ ผ่านเอสเอ็มเอสเบื้องต้นในเวลา 13.36 น. เมื่อได้รับเอสเอ็มเอสมาถึง ปภ. เราก็มีการยืนยันและสอบถามไปที่กรมอุตุฯว่าเหตุรุนแรงแค่ไหน และได้มีการดำเนินการต่อในเวลา 13.44 น. โดยส่งข้อความไปยังผู้ว่าฯจังหวัด หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง แต่เป็นเอสเอ็มเอสภายในที่ดำเนินการตามเอสโอพีปกติ หลังจากนั้นเมื่อเห็นกระบวนการจึงมีการส่งแจ้งเตือนในช่องทางต่าง ๆ ทางโซเชียลมีเดีย
ผู้แทน ปภ.กล่าวต่อว่า เอสเอ็มเอสมี 2 แบบ แบบแรกที่เราดำเนินการเร็วคือที่เราจ่ายเงินเอง เพราะเราจะมีเบอร์อยู่ที่อยู่ในฐานข้อมูลเราอยู่แล้ว ฉะนั้น เวลาเราส่งจะสามารถส่งได้เลยตามจำนวนเบอร์ที่เราทราบ หลังกระบวนการวิเคราะห์เสร็จ เราก็มีการประชุมและติดตามสถานการณ์ตลอด และได้ผลิตเอสเอ็มเอสเพื่อแจ้งเตือนประชาชนเบื้องต้น
โดยแจ้งผ่านสื่อมวลชนและโซเชียลต่าง ๆ แต่ประชาชนอาจจะได้รับการแจ้งเตือนที่ไม่ทั่วถึง จึงได้มีการส่งเป็นเอสเอ็มเอสอีกครั้งเพื่อให้ประชาชนที่เราไม่มีเบอร์ได้รับทราบ โดยได้ประสานกับ กสทช.ขอส่งเอสเอ็มเอส ซึ่งจะต้องมีหนังสือนำ แต่จริง ๆ เรามีไลน์กลุ่มทั้งฝั่ง กสทช. โอเปอเรเตอร์ว่าเราจะเริ่มกระบวนการส่งเอสเอ็มเอสแล้ว จากนั้น กสทช.จึงได้ประสานกับเครือข่ายมือถือเพื่อส่งเอสเอ็มเอสไปยังประชาชน ซึ่งต่างจากครั้งแรกที่เป็นเบอร์ที่เรามีอยู่แล้ว เป็นเบอร์หน่วยงานต่าง ๆ
ตัวแทน ปภ.กล่าวด้วยว่า ส่วนเอสเอ็มเอสครั้งที่สอง ผู้ให้บริการเครือข่ายโทรศัพท์มือถือเคลื่อนที่เขาต้องหาเบอร์ให้ได้ก่อน และต้องดูว่าในแต่ละจุดมีหมายเลขอะไรอยู่บริเวณนั้นบ้าง โดยกระบวนการนี้จะใช้เวลาอีกประมาณ 1-2 ชั่วโมง หลังจากนั้นเมื่อได้เบอร์มา
ผู้ให้บริการเครือข่ายโทรศัพท์มือถือเคลื่อนที่จึงจะส่งเอสเอ็มเอสไปอีกครั้ง กระบวนการการประสานงานจากฝั่ง กสทช.ไปยังโอเปอเรเตอร์ หรือจาก ปภ.ไปยัง กสทช. และโอเปอเรเตอร์นั้นไม่ล่าช้า ตนการันตี แต่ที่ล่าช้าเป็นเรื่องเชิงเทคนิคที่ต้องได้เบอร์ของประชาชนก่อน ครั้งแรกที่เราส่งในพื้นที่ กทม. รวมกับปริมณฑลอีก 4 จังหวัด มีประมาณ 20 ล้านเลขหมาย โดยกระบวนการส่งของเอสเอ็มเอสเป็นแบบลำดับ
“ปัญหาอีกอย่างคือเอสเอ็มเอสเป็นช่องสัญญาณเดียวกับโทรศัพท์ ซึ่งตอนนั้นคนโทรศัพท์กันเยอะ เพราะมีการแพนิก เมื่อมีการส่งเอสเอ็มเอสไปแล้วท่านโทรศัพท์อยู่ ช่องสัญญาณชนกัน หากท่านไม่ได้ก็จะไม่ได้อีกแล้วไม่ต้องรอ เพราะเป็นการลำดับ และที่เครือข่ายโทรศัพท์บอกคือหากจะส่งไป 1 แสนหมายเลขก็จะต้องยิงไป 1 แสนหมายเลขก่อน จากนั้นค่อยยิงไปอีก 1 แสนเลขหมาย ใครที่ช่องสัญญาณติดขัดก็จะไม่ได้ข้อความ
แต่เมื่อวันที่ 1 มีนาคมที่ผ่านมา ทาง AIS ก็บอกว่าพัฒนาใหม่ 1 ชั่วโมง สามารถส่งข้อความได้ 1 ล้านหมายเลข แต่ต้องรันคิวก่อนเหมือนกัน ยืนยันว่าเอสเอ็มเอสไม่สามารถนำมาใช้กระบวนการแจ้งเตือนภัยให้ประชาชนได้ แต่เราใช้เอสเอ็มเอส เพราะมีเบอร์อยู่ในมือเพื่อให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องสามารถแจ้งเตือนภัยได้เบื้องต้น” ตัวแทน ปภ.กล่าว
ตัวแทน ปภ.กล่าวต่อว่า สำหรับระบบ Cell Broadcast นั้น จะยิงแจ้งเตือนทั้งหมดเป็นช่องสัญญาณพิเศษ ไม่ใช่ช่องสัญญาณโทรศัพท์ปกติ หากใช้โทรศัพท์อยู่ท่านก็สามารถรับการแจ้งเตือนได้ อีกทั้งเป็นระบบพ็อปอัพที่หน้าจอเลย ไม่ต้องกดเข้าไปดูการแจ้งเตือน ปัจจุบันเรากำลังพัฒนาอยู่
“ยอมรับว่ามีกระบวนการที่ล่าช้าเนื่องจากเรื่องงบประมาณ รวมถึงเป็นระบบที่ใหม่ มีการศึกษากระบวนการและเริ่มดำเนินการ เมื่อราคาสูงก็จะมีบางบริษัทจ้อง มีกระบวนการที่กว่าจะได้มา เราเซ็นสัญญา วันที่ 27 มีนาคม ก่อนแผ่นดินไหว 1 วัน แม้จะได้ผู้รับจ้างตั้งแต่ต้นปี แต่กระบวนการที่ใช้งบฯมากกว่าร้อยล้านต้องมีการอุทธรณ์ แต่หลังจากเซ็นสัญญาแล้ว ปภ.จะเร่งกระบวนการจัดซื้อจัดจ้างให้เร็วขึ้น”
นอกจากนี้ เราจะปรับกระบวนการแจ้งเตือน เราไม่ได้นิ่งนอนใจ โดยในวันที่ 3 เมษายน ทาง ปภ.เชิญ กสทช. กรมอุตุฯ กรมทรัพยากรธรณี ผู้ให้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่มาหารือกัน