
กระทรวงดีอีประชุม TopEx หารือผลกระทบมาตรการภาษีสหรัฐ สั่งศึกษาผลกระทบภาคเศรษฐกิจดิจิทัล หาแนวทางจัดเก็บ Digital Services Tax สำหรับแพลตฟอร์ม OTT จับตาดัชนีความเชื่อมั่นเศรษฐกิจดิจิทัลไทยร่วง
นายประเสริฐ จันทรรวงทอง รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอี) เป็นประธานการประชุมผู้บริหารกระทรวงดีอี (Top Executives) ครั้งที่ 3/2568 เปิดเผยว่า จากมาตรการภาษีของประเทศสหรัฐอเมริกา กระทรวงดีอีได้มอบหมายให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องดำเนินการศึกษาเรื่องของผลกระทบต่อภาคเศรษฐกิจดิจิทัลของประเทศไทย ทั้งในด้านความเชื่อมั่นด้านการลงทุน รวมทั้งการศึกษาในด้าน Digital Services Tax สำหรับแพลตฟอร์ม OTT (Over The Top)
“แพลตฟอร์มออนไลน์ต่างชาติ โดยเฉพาะ OTT อเมริกันบางรายให้บริการในไทยมานาน จนตอนนี้มีกันแทบจะทุกบ้าน แต่เรายังไม่มีการเรียกเก็บภาษีเลย”
“การประชุมในครั้งนี้มีวาระการหารือเรื่องของการเร่งรัดดำเนินการของหน่วยงานกระทรวงดีอี ในส่วนที่เกี่ยวข้องกับการแจ้งเตือนภัยพิบัติต่าง ๆ โดยส่วนใหญ่มีหน้าที่ในการสนับสนุนข้อมูล การจัดเก็บข้อมูล และการเชื่อมต่อระบบ Cloud นอกจากนี้ ยังมีเรื่องของการกำหนดนโยบายด้านภาษีของสหรัฐ ซึ่งได้มอบหมายให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องดำเนินการศึกษาผลกระทบที่เกี่ยวข้องกับเศรษฐกิจดิจิทัล”
ผู้สื่อข่าวรายงานด้วยว่า สัปดาห์หน้าจะมีการรายงานผลสำรวจดัชนีความเชื่อมั่นอุตสาหกรรมดิจิทัล โดยสำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล (ดีป้า) ซึ่งคาดว่าจะได้รับผลกระทบจากมาตรการขี้นภาษีตอบโต้ของประธานาธิบดีทรัมป์
ซึ่งเป็นดัชนีที่ต้องจับตา โดยเฉพาะในภาคการผลิตฮาร์ดแวร์ ซึ่งไทยเป็นฐานในการผลิตชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ให้บริษัทต่างชาติจำนวนมาก
ในส่วนของร่าง พ.ร.ก.การป้องกันปราบปรามอาชญากรรมทางเทคโนโลยี ที่แพลตฟอร์มออนไลน์ต้องร่วมรับผิดชอบกรณีปล่อยให้เกิดอาชญากรรมทางเทคโนโลยี ซึ่งจะส่งผลต่อแพลตฟอร์มสัญชาติสหรัฐ ซึ่งก่อนหน้านี้สถานทูต ได้แสดงความกังวลมานั้น
กระทรวงดีอีได้ร่วมประชุมหารือเกี่ยวกับร่าง พ.ร.ก. เพื่อสร้างความเข้าใจในหลักการร่วมกับสภาธุรกิจสหรัฐอเมริกา-อาเซียน (US-ASEAN Business Council : US-ABC) หอการค้าอเมริกันในประเทศไทย (AMCHAM Thailand) TikTok Facebook Thailand และ LINE โดยเป็นการแลกเปลี่ยนความคิดเห็นในส่วนที่เกี่ยวข้องกับความรับผิดชอบของแพลตฟอร์ม สื่อสังคมออนไลน์ ตามร่าง พ.ร.ก. โดยต่อจากนี้จะร่วมประชุมหารือเพื่อขับเคลื่อนการดำเนินการร่วมกับภาคธนาคาร ภาคโทรคมนาคม และส่วนที่เกี่ยวข้องต่อไป
เตรียมประชุมจริยธรรมเอไอโลก
ที่ประชุมยังได้อัพเดตความคืบหน้าการประชุมจริยธรรมเอไอโลก โดย สำนักงานพัฒนาธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ (สพธอ.) หรือ ETDA เป็นหน่วยงานหลักในการจัดงานร่วมกับองค์การยูเนสโก โดยได้รับการสนับสนุนจาก กระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) และกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) ภายใต้ธีมใหญ่คือ “Bangkok AI Week 2025” ในช่วงระหว่างวันที่ 23-27 มิถุนายน 2568 คาดว่าจะมีรัฐมนตรีและผู้แทนจากประเทศสมาชิกยูเนสโก ผู้เชี่ยวชาญ สื่อมวลชน รวมทั้งผู้เข้าร่วมงานจากทั่วโลกกว่า 800 คน
สำหรับการจัดการประชุม “The 3rd Global Forum on the Ethics of AI 2025” มีวัตถุประสงค์สำคัญ ได้แก่
(1) การยกระดับบทบาทไทยในเวทีโลก ในการกำหนดนโยบายและมาตรฐาน AI เสริมสร้างภาพลักษณ์ไทยเป็นผู้นำด้านจริยธรรมปัญญาประดิษฐ์ หรือ AI Ethics ของภูมิภาค
(2) กระตุ้นการแลกเปลี่ยนและพัฒนาความรู้ AI Ethics กับผู้เชี่ยวชาญระดับโลก
(3) ส่งเสริมให้รัฐและเอกชนมีความตื่นตัวกับ AI Ethics เมื่อนำเอา AI มาใช้งาน โดยการสนับสนุนของหน่วยงานหลักภายใต้กระทรวงดีอี และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง
(4) การประสานการทำงานร่วมกันระหว่างคณะกรรมการแห่งชาติว่าด้วยการศึกษา วิทยาศาสตร์ และวัฒนธรรมแห่งสหประชาชาติ (Thai National Commission for UNESCO) และคณะกรรมการขับเคลื่อนแผนปฏิบัติการด้านปัญญาประดิษฐ์แห่งชาติเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (National AI Committee) ซึ่งมีนายกรัฐมนตรีเป็นประธาน
รวมทั้งประเด็นสำคัญคือการผลักดันการจัดตั้งศูนย์ AI ระดับภูมิภาค ไทย-ยูเนสโก “AI Ethical Governance Practice Center” ขึ้น