
เรียกเสียงฮือฮาสนั่นวงการโทรคมนาคม และโทรทัศน์ อีกครั้ง เมื่อคณะผู้บริหารระดับบิ๊ก ๆ ทีวีดิจิทัล ตบเท้าเข้าแสดงจุดยืนคัดค้านการประมูลคลื่น 3500 MHz กลางงานรับฟังความเห็นสาธารณะ (Public Hearing) ต่อ (ร่าง) ประกาศ กสทช. เรื่องหลักเกณฑ์ และวิธีการอนุญาตให้ใช้คลื่นความถี่สำหรับกิจการโทรคมนาคมเคลื่อนที่สากล 850 MHz 1500 MHz 1800 MHz 2100 MHz 2300 MHz และ 26 GHz ครั้งที่ 2
เรียกเสียงฮือฮาไปทั้งสำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) เมื่อ 1 เม.ย.ที่ผ่านมา ทั้ง ๆ ที่ในร่างดังกล่าวจะยังไม่มีการนำย่าน 3500 MHz ออกมาประมูลแต่อย่างใด
การออกมาแสดงความคิดเห็นแบบพร้อมเพรียงกันของ “บิ๊กทีวีดิจิทัล” รอบนี้จึงแย่งซีนวง “Public Hearing” ครั้งที่สอง ของทั้ง 6 ย่านความถี่ข้างต้นไปโดยปริยาย
ในวงสนทนาทั้งบนเวที และล่างเวที จึงพูดถึงเรื่องคลื่น 3500 MHz อย่างกว้างขวาง ด้วยว่าคลื่น 3500 MHz เป็นคลื่นสากลที่มีเพียงประเทศไทยประเทศเดียวในภูมิภาคที่ยังจัดสรรให้อุตสาหกรรมโทรทัศน์ใช้ในการแพร่ภาพกระจายเสียง ไม่ได้นำมาจัดสรรเพื่อใช้สำหรับโครงข่ายโทรคมนาคม 5G
“ทีวีดิจิทัล” ประสานเสียง
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า บรรดาบิ๊กทีวีดิจิทัลที่นัดกันมา ประกอบด้วย นายสุภาพ คลี่ขจาย นายกสมาคมโทรทัศน์ระบบดิจิทัล (ประเทศไทย), นายไพบูลย์ ดำรงชัยธรรม แห่งจีเอ็มเอ็มแกรมมี่, นายถกลเกียรติ วีรวรรณ ช่องวันสามสิบเอ็ด, นายวัชร วัชรพล แห่งไทยรัฐทีวี, นายชาคริต ดิเรกวัฒนชัย จากช่อง 3, นายอดิศักดิ์ ลิมปรุ่งพัฒนกิจ จากเนชั่นทีวี, นางสาวนงลักษณ์ งามโรจน์ จากช่อง 8 และ นายศิริ บุญพิทักษ์เกศ จากอมรินทร์ทีวี เป็นต้น
นายไพบูลย์ระบุว่า คลื่นความถี่ย่าน 3500 MHz คือ ท่อหายใจสุดท้ายของอุตสาหกรรมทีวีดิจิทัลที่เหลือรอดจากการดิสรัปชั่นของเทคโนโลยี และการผูกขาดของแพลตฟอร์มสื่อใหม่ อีกทั้งในฝั่งของค่ายโทรคมนาคมก็ไม่ได้มีความจำเป็นเร่งด่วนในการนำคลื่นดังกล่าวไปใช้งาน จึงต้องการเรียกร้องให้ กสทช. ทบทวนแผนการประมูลคลื่นความถี่ย่าน 3500 MHz
“ควรรักษาคลื่นส่วนนี้ไว้สำหรับกิจการกระจายเสียง และโทรทัศน์ ตราบใดที่ยังไม่มีแผนรองรับการเปลี่ยนผ่านไปสู่ระบบใหม่ และเสนอให้ประมูลเฉพาะคลื่นที่กำลังจะหมดอายุเท่านั้น ไม่ใช่นำคลื่นทุกย่านเข้าสู่กระบวนการประมูลโดยไร้เหตุผลและไม่ฟังเสียงประชาชน”
ด้านนายสุภาพกล่าวว่า คลื่น 3500 MHz เป็นหัวใจสำคัญของการถ่ายทอดทีวีดิจิทัล ถ้าคลื่นนี้หายไปอาจกระทบต่อคนดู 2 ล้านครัวเรือน และกระทบกับการโฆษณาแน่ ๆ แม้ในการประมูลคลื่นครั้งนี้จะยังไม่มีการระบุว่าจะนำ 3500 MHz ออกมาประมูลอย่างชัดเจน แต่ขอให้บันทึกไว้ว่าวันนี้ผู้ประกอบการตัวจริงมาแสดงความเห็นให้ปรากฏว่าให้ชะลอการประมูลคลื่น 3500 MHz
“อย่างน้อยให้พวกเราได้หายใจให้ครบอายุใบอนุญาตในปี 2572 ก่อน โดยปัจจุบันคลื่น 3500 MHz ใช้รองรับการรับชมทีวีผ่านดาวเทียมระบบ C Band การจะนำไปใช้ในกิจการโทรคมนาคม จะส่งผลให้เกิดจอดำครั้งใหญ่ และอาจเป็นจุดล่มสลายของอุตสาหกรรมดิจิทัลทีวีในครั้งนี้ ถือเป็นประเด็นที่อุตสาหกรรมให้ความสำคัญอย่างมาก”
ย้ำจุดยืนสมาคมทีวีดิจิทัล
ดังนั้น สมาคมทีวีดิจิทัลแสดงจุดยืน ดังต่อไปนี้
1.ความล้มเหลวจากการเปลี่ยนผ่านการรับชมโทรทัศน์สู่ระบบภาคพื้นดิน (DVBT) ของ กสทช. ทำให้ระบบการรับชมทีวีของไทยในปัจจุบันรับชมผ่านระบบจานดาวเทียม (DVBC) ถึง 70% ซึ่งในจำนวนนี้รับชมในระบบ C Band ที่ใช้คลื่นความถี่ย่าน 3500 MHz เป็นส่วนหนึ่งในการรับส่งสัญญาณถึง 60% กสทช.จึงควรดูแลรักษาความถี่นี้เพื่อผู้ชมทีวีส่วนใหญ่ของประเทศต่อไปให้นานที่สุดจนสิ้นสุดอายุของดาวเทียมไทยคม หรืออย่างน้อยจนสิ้นสุดอายุใบอนุญาต เพื่อทดแทนการรับชมทีวีภาคพื้นดินที่ กสทช.ไม่สามารถขยายจำนวนฐานผู้ชมได้ตามคำชี้ชวน
2.คลื่นความถี่สำหรับกิจการโทรคมนาคมยังมีเพียงพอต่อการใช้งาน ไม่มีเหตุจำเป็นต้องเร่งประมูลพร้อมกันในคราวเดียว
3.กสทช.ควรเร่งวางภูมิทัศน์ของระบบทีวีแห่งชาติ หลังจากสิ้นสุดอายุสัมปทานในปี 2572 รวมถึงการออกหลักเกณฑ์การประมูลครั้งต่อไปให้แล้วเสร็จภายในกลางปี 2568 เพื่อเห็นภาพรวมในอนาคตของอุตสาหกรรม ซึ่งมีความสำคัญต่อการคงอยู่ของโทรทัศน์แห่งชาติที่ประชาชนสามารถเข้าถึงอย่างสะดวกโดยไม่มีค่าใช้จ่ายอย่างทั่วถึงและเท่าเทียม
ย้อน Public Hearing ครั้งแรก
ก่อนหน้านี้ ประชาชาติธุรกิจรายงานว่า กสทช.กำลังศึกษาแนวทางการนำคลื่น 3500 MHz มาใช้กับอุตสาหกรรมโทรคมนาคม โดยเฉพาะการเฉือนมาทำ Private 5G สำหรับภาคอุตสาหกรรม ประกอบด้วยการเทียบสเป็กของอุปกรณ์ และการวิเคราะห์แผนใบอนุญาต และคาดว่าจะพร้อมนำออกประมูลก่อนที่คณะกรรมการ กสทช. ชุดปัจจุบันจะหมดอายุ
เนื่องจากย่านความถี่ 3 คลื่น ของ บมจ.โทรคมนาคมแห่งชาติ หรือ NT กำลังจะหมดอายุในเดือน ส.ค. 2568 ซึ่งจะต้องส่งมอบ และนำมาประมูลใหม่อยู่แล้วจึงได้มีการรวบรวมคลื่นที่ใกล้จะหมดอายุ และที่ยังไม่ได้จัดสรรเพื่อนำมาประมูลล่วงหน้ารวมได้ 6 ย่านความถี่ข้างต้น แต่ยังไม่มีคลื่น 3500 MHz รวมอยู่ด้วย
อย่างไรก็ตาม ในการรับฟังความเห็นสาธารณะ (Public Hearing) ครั้งที่ 1 เมื่อเดือน ก.พ. 2568 ที่ผ่านมา ได้มีการกล่าวถึงความต้องการคลื่นความถี่ 3500 MHz จากหลายภาคส่วน โดยทั้งเอไอเอส และทรู ระบุว่าสนใจเข้าร่วมประมูลคลื่นความถี่ทุกย่านที่ กสทช.เตรียมเปิดประมูล
โดยในการทำ Public Hearing ครั้งแรกนั้น นายสมชัย เลิศสุทธิวงค์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท แอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส จำกัด (มหาชน) หรือ AIS กล่าวว่า อยากให้หน่วยงานภาครัฐที่กำกับดูแลพิจารณาราคาคลื่นความถี่ ที่นำออกมาประมูลให้สอดคล้องกับสภาพเศรษฐกิจของประเทศในปัจจุบัน หากราคาคลื่นอยู่ในเกณฑ์ที่เหมาะสม ย่อมส่งผลดีต่อการหนุนให้เกิดการลงทุนขยายโครงข่ายสัญญาณให้ครอบคลุม และประชาชนคือผู้ได้รับประโยชน์นั้น
และว่า AIS พิจารณาทุกคลื่นความถี่ ส่วนคลื่น 3500 MHz ซึ่งเป็นย่านความถี่หลักของ 5G ระดับสากล ถ้า กสทช.มีแผนจะนำออกมาประมูลในรอบนี้ก็มีความสนใจ ซึ่งถือว่าเป็นการประมูลล่วงหน้า แต่ก็ยังไม่ได้คำตอบว่าจะนำมาร่วมประมูลหรือไม่
โทรคมฯ-ทีวี ใช้ร่วมกันได้
อย่างไรก็ตาม ในวง Public Hearing ครั้งที่ 2 ได้มีการพูดคุยถึงคลื่น 3500 MHz เป็นวงกว้าง โดยมีทั้งฝั่งที่เห็นว่าควรเร่งนำคลื่น 3500 MHz ออกมาใช้ เพราะ 5G ทั่วโลกใช้คลื่นดังกล่าวทำให้ต้นทุนอุปกรณ์ และปฏิบัติงานของฝั่งโทรคมนาคมลดลงได้มาก
นายประเมนทร์ ภักดิ์วาปี อดีตผู้บริหารทีวีดิจิทัล กล่าวว่า การใช้คลื่น 3500 MHz ร่วมกันระหว่าง 2 อุตสาหกรรม คือ โทรศัพท์เคลื่อนที่ และทีวีที่รับสัญญาณผ่านจานดาวเทียม C-Band จะเกิดประโยชน์สูงสุดกับประเทศ ส่วนผลกระทบของสัญญาณรบกวนที่อาจเกิดขึ้นในช่วงการเปลี่ยนผ่านจากปี 2568-2572 นั้นต้องดำเนินการอย่างมีแบบแผน ทั้งในแง่ของการติดตั้งเสาโทรศัพท์และการสำรวจเพื่อแก้ไขปัญหาสัญญาณรบกวนกันอย่างเป็นระบบ เช่น การสำรวจบ้านเรือนโดยรอบสถานีฐานว่ามีจำนวนกี่หลังคาเรือนที่ต้องมีการติดตั้งอุปกรณ์กรองสัญญาณ หรือ Filter ก็จะลดข้อกังวลของผู้รับชมทีวี ซึ่งน่าจะมีผู้ได้รับผลกระทบไม่มาก
ด้าน นายพีระพัฒ เอกวิทยาสกุล ตัวแทนทีวีดิจิทัล กล่าวว่า คลื่นความถี่ 3500 MHz มีประโยชน์ทั้งด้านทีวีและโทรคมนาคม จึงน่าจะเป็นคลื่นที่มีมูลค่าต่อเศรษฐกิจ ทั้งสองอุตสาหกรรมสามารถอยู่ร่วมกันได้ จึงเป็นโอกาสที่ดีที่จะนำมาประมูลในช่วงเวลานี้ เพราะหากพ้นปี 2572 ไปแล้ว อาจไม่มีหลักประกันใด ๆ ในการแก้ไขปัญหาสัญญาณรบกวน หรืออาจสายเกินไปในการวางแผนใช้งานคลื่นดังกล่าว เรียกว่า “การเตรียมตัวล่วงหน้า”
หนุนเตรียมตัวล่วงหน้า
ขณะที่ นายเอกชัย ภัคดุรงค์ หัวหน้าคณะผู้บริหาร ด้านกลยุทธ์องค์กร บริษัท ไทยคม จำกัด (มหาชน) เปิดเผยว่า สามารถกันบางส่วนของย่านความถี่ออกมาประมูลก่อน เช่น ย่าน 3300-3400 MHz หรือ 3700-4200 MHz เพื่อให้เกิดการเตรียมตัว
ด้าน นายสมพร ธีรโรจนพงษ์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท พีเอสไอ โฮลดิ้ง จำกัด กล่าวว่า สนับสนุนให้เร่งเตรียมตัว เพราะหากรอให้สิ้นสุดใบอนุญาตในอีก 4 ปีข้างหน้าจะไม่ทันการ
ตัวแทนผู้ประกอบการทีวีดาวเทียมแสดงความเห็นด้วยว่า จานดาวเทียม C-Band แบบเดิมสามารถปรับแต่งให้รองรับการส่งสัญญาณจากดาวเทียม KU-Band ได้ แต่มีต้นทุนบ้าง ซึ่งหาก มีการนำคลื่น 3500 MHz ออกมาประมูลแล้วนำเงินบางส่วนไปสนับสนุนเยียวยาฝั่งทีวี เช่น หนุนการติดตั้งตัวกรองสัญญาณ ฯลฯ ก็เป็นสิ่งที่ทำได้ และเห็นว่าต้องไปทางนั้น เพราะคลื่น 3500 MHz เป็นเทรนด์ที่จะนำมาใช้ในอุตสาหกรรมโทรคมนาคม 5G มากกว่า
นายจักรกฤษณ์ อุไรรัตน์ หัวหน้าคณะผู้บริหารด้านกิจการองค์กร บริษัท ทรู คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) แสดงความคิดเห็นว่า ย่าน 3500 MHz แม้จะเป็นอีกหนึ่งคลื่นที่มีความสำคัญ แต่ ทรู คอร์ปอเรชั่น ยังไม่มีความจำเป็นต้องใช้ และหากนำมาร่วมประมูล กสทช.ควรพิจารณาถึงผลกระทบที่จะเกิดขึ้นกับผู้ประกอบการทีวีดิจิทัล และผู้รับชมโทรทัศน์ผ่านดาวเทียมระบบ C-Band ด้วย
มูลค่าเพิ่มจากคลื่น 3500 MHz
ก่อนหน้านี้ รศ.ดร.วิทวัส สิฏฐกุล หัวหน้าศูนย์ปฏิบัติการนวัตกรรมไร้สายล้ำหน้ายุค 5G มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือ ได้ออกมาแสดงความเห็นในเรื่องคลื่น 3500 MHz ด้วยว่า ในทุกประเทศในภูมิภาคเอเชีย ยกเว้น ไทย วางแผนและเริ่มนำคลื่น 3500 MHz มาใช้พัฒนา 5G โดยมีผู้ให้บริการ 217 รายจาก 262 รายทั่วโลก กว่า 80% นำมาใช้งาน เนื่องจากมีอุปกรณ์สื่อสารที่อยู่ในท้องตลาดที่ผู้บริโภคใช้งานรองรับคลื่น 3500 MHz มากถึง 2,149 รุ่น
“คลื่น 3500 MHz ยังไม่นำมาใช้ประโยชน์ เพราะ กสทช.จัดสรรคลื่น 3500 MHz ไว้เป็นช่องว่าง เพื่อป้องกันสัญญาณรบกวนกับสัญญาณดาวเทียม C-Band หรือจานดำ ที่ใช้คลื่น 3700-4200 MHz”
และว่า จากการศึกษาของสมาคมจีเอสเอ็ม (GSM Association หรือ GSMA) ระบุว่า มูลค่าคลื่น 3500 MHz หากนำมาใช้ในกิจการโทรศัพท์เคลื่อนที่ จะมีมูลค่าสูงกว่าการใช้งานในกิจการดาวเทียมถึง 15 เท่า เนื่องจากคลื่น 3500 MHz มีความสำคัญหลักในการสร้างโครงข่าย 5G และสำนักงาน กสทช.เคยมีผลการศึกษาแสดงให้เห็นถึงมูลค่าเพิ่มที่เกิดจาก 5G มูลค่าไม่น้อยกว่า 150,000 ล้านบาท
ขณะที่การพัฒนาโครงข่ายเคลื่อนที่ด้วยคลื่น 3500 MHz ครอบคลุมทั้งระบบสาธารณสุขทางไกล อุตสาหกรรมอาหาร, อุตสาหกรรมปิโตรเลียม รวมไปถึงการต่อยอดไปเทคโนโลยี 5.5G เพื่อใช้งาน AI และ Internet of Thing (IOT) ซึ่งการเชื่อมต่อจะเร็วขึ้น 10 เท่า โดยมีความเร็วในการดาวน์โหลดสูงสุด 10 Gbps อัพโหลดสูงสุดถึง 1 Gbps และรองรับการเชื่อมต่อสูงถึง 100,000 ล้านอุปกรณ์