
หลัง “อะเมซอน เว็บ เซอร์วิสเซส” (Amazon Web Services : AWS) ตัดริบบิ้นให้บริการ “AWS Region” ศูนย์ข้อมูลเต็มรูปแบบ มูลค่ากว่า 5 พันล้านเหรียญสหรัฐ (1.7 แสนล้านบาท) ระยะเวลา 15 ปี ต้นปี 2568 ที่ผ่านมา ก็เดินหน้าสร้างความเชื่อมั่นอย่างต่อเนื่อง
การมี Region ในประเทศไทยช่วยปลดล็อกข้อจำกัดในการให้บริการ ไม่ว่าจะเป็น เรื่องค่าความหน่วง (Latency) ในการส่งผ่านข้อมูลที่น้อยลง หรือแม้แต่ค่าบริการที่อาจถูกกว่าการใช้เวิร์กโหลดบน Region ที่ตั้งอยู่สิงคโปร์ราว 10-15% ทำให้ปีนี้ AWS เริ่มขยับขยายการทำตลาดมายังลูกค้ากลุ่มเอสเอ็มอี (SMEs) และกลุ่มที่สมัครใช้บริการด้วยตนเอง (Self Service) มากขึ้น โดยสร้างความร่วมมือเชิงกลยุทธ์กับดิสทริบิวเตอร์ที่มีเครือข่ายดีลเลอร์ทั่วประเทศ
หนึ่งในนั้นมี “ซินเน็ค” (Synnex) ผู้นำเข้าและจัดจำหน่ายสินค้าไอทีรายใหญ่ในไทย รวมอยู่ด้วย
ขยายบริการเจาะ SMEs
“วัตสัน ถิรภัทรพงศ์” ผู้จัดการ AWS ประเทศไทย กล่าวว่า ลูกค้าที่ใช้บริการ AWS แบ่งเป็น 4 กลุ่มหลัก คือ 1.องค์กรขนาดใหญ่ (Enterprise) 2.องค์กรขนาดกลาง (Commercial) 3.SMEs และ 4.Self Service แต่ละกลุ่มจะมีวิธีการทำตลาดต่างกันออกไป เช่น กลุ่ม Commercial ใช้ GSI และ LSI (Global & Local System Integrator) ส่วนกลุ่ม SMEs จะขายผ่านผู้จำหน่ายซอฟต์แวร์อิสระ (Independent Software Vendor : ISV) หรือขายบนมาร์เก็ตเพลซ
ปัจจุบันการขายโซลูชั่นของ AWS ทำผ่านพาร์ตเนอร์เกือบ 80% ถ้าเทียบสัดส่วนลูกค้าเป็นพีระมิด กลุ่ม Enterprise จะอยู่ยอดบนสุด ตามด้วย Commercial, SMEs และ Self Service เป็นฐานล่างที่มีขนาดใหญ่สุด 2 กลุ่มสุดท้ายเป็นกลุ่มที่ AWS มองว่ามีโอกาสเข้าไปทำตลาด และให้การสนับสนุนได้อีกมาก
เพิ่มฐานลูกค้า ตจว.
“วัตสัน” กล่าวต่อว่า ไทยเป็นเพียงไม่กี่ประเทศที่ AWS ใช้โมเดลการขายโซลูชั่นแบบ “Distribution” ผ่านเครือข่ายที่เรียกว่า AWS Partner Network (APN) เพราะในช่วงแรกยังไม่สามารถให้ลูกค้าซื้อตรงได้ทั้งหมด และความพร้อมในการใช้โซลูชั่นดิจิทัล (Digital Literacy) ก็ยังไม่มากเท่าตอนนี้
“การสร้างความร่วมมือกับ ‘ซินเน็ค’ คาดหวังเรื่องการขยายฐานลูกค้า AWS ไปยังต่างจังหวัดด้วย เพราะซินเน็คมีเครือข่ายดีลเลอร์ทั่วประเทศที่แข็งแรงมาก รวมถึงช่วยให้ดีลเลอร์มีโอกาสสร้างรายได้ในรูปแบบใหม่ ๆ จากที่เคยขายแค่ฮาร์ดแวร์อย่างเดียว ก็สามารถท็อปอัพโซลูชั่นคลาวด์เพิ่มไปได้ เช่น ขายกล้องวงจรปิดพร้อมแพ็กเกจเก็บข้อมูลบนคลาวด์ เป็นต้น”
AWS มองว่าการสร้างความร่วมมือกับซินเน็คในครั้งนี้จะส่งผลดีกับลูกค้ากลุ่ม Self Service มากขึ้นด้วย เพราะมีดีลเลอร์คอยให้คำแนะนำในการใช้โซลูชั่นอย่างคุ้มราคาโดยที่จ่ายไม่ต่างจากเดิม ที่ผ่านมาลูกค้ากลุ่มนี้รูดบัตรจ่ายค่าบริการเองเยอะมาก บางคนจ่ายเดือนละเป็นหมื่นบาท แต่ใช้แค่เซอร์วิสพื้นฐานเท่านั้น
“การที่ดีลเลอร์ต้องมาขายโซลูชั่นคลาวด์ควบคู่กับอุปกรณ์ฮาร์ดแวร์ถือเป็นความท้าทายอย่างหนึ่ง แต่ถ้าดีลเลอร์มีการอัพสกิล และขยับเทียร์การเป็นพาร์ตเนอร์ที่สูงขึ้นได้ ก็จะส่งผลดีกับส่วนแบ่งรายได้ หรือ Margin ที่ดีขึ้นด้วย”
ซินเน็คเสริมแกร่งขา Enterprise
ด้าน “สุธิดา มงคลสุธี” ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บมจ.ซินเน็ค (ประเทศไทย) กล่าวว่า ความร่วมมือกับ AWS จะช่วยเสริมความแข็งแกร่งให้กลุ่มธุรกิจ Enterprise & Solution ของบริษัทมากขึ้น เป็นการเพิ่มตัวเลือกโซลูชั่นเกี่ยวกับคลาวด์เข้ามาในพอร์ต หลังจากปี 2567 ซินเน็คได้สิทธิเป็นผู้นำเข้าและจัดจำหน่ายโปรแกรมออกแบบ AutoCAD แบรนด์ Autodesk ในไทยแต่เพียงผู้เดียว
“การใช้คลาวด์ของภาคธุรกิจไทยมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง สอดคล้องกับมูลค่าตลาดคลาวด์ในไทยที่ขยายตัวเฉลี่ยปีละ 20% รวมถึงปีนี้ ภาครัฐน่าจะมีการใช้งานคลาวด์ตามนโยบาย Cloud First Policy มากขึ้น มองว่าธุรกิจนี้จะช่วยสร้างการเติบโตให้กับซินเน็คได้อีกมาก จึงตัดสินใจสร้างความร่วมมือกับ AWS เพื่อลุยตลาดคลาวด์อย่างจริงจัง”
สแกนพอร์ต “ซินเน็ค”
ก่อนหน้านี้ บมจ.ซินเน็ค (ประเทศไทย) แจ้งตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยว่า ในปี 2567 มีรายได้จากการขายและบริการ 41,904 ล้านบาท และถือเป็นครั้งแรกที่บริษัทมียอดขายเกิน 40,000 ล้านบาท หากเปรียบเทียบกับปี 2566 มียอดขายโตขึ้น 5,371 ล้านบาท (14.7%) มีกำไรสุทธิ 627 ล้านบาท
โดยสัดส่วนรายได้ของ 6 กลุ่มธุรกิจหลักในปี 2567 เป็นดังนี้
1.Consumer เช่น PC และอุปกรณ์ต่อพ่วง 28%
2.Commercial เช่น Network SOHO 13%
3.Smartphone & Wearable 10%
4.Apple 37%
5.Enterprise & Solution 9%
และ 6.Gaming & Gadget 3%
“สุธิดา” กล่าวด้วยว่า ทิศทางการทำธุรกิจของซินเน็ค ปีนี้จะโฟกัสที่กลุ่ม Enterprise & Solution เป็นหลัก โดยพยายามขยายตลาด และเข้าถึงลูกค้ากลุ่มใหม่ ๆ พร้อมไปกับต้องรักษาความเป็นผู้นำในตลาด IT Consumer และเพิ่มช่องทางการขายสินค้ากลุ่ม Apple, Smartphone และ Gaming เพื่อรักษาการเติบโต
คาดว่าธุรกิจคลาวด์ที่เข้ามาเติมเต็มกลุ่ม Enterprise & Solution จะยังสร้างรายได้และการเติบโตไม่ต่างจากปีที่แล้ว เพราะเป็นธุรกิจที่กว่าจะเห็นผลการลงทุนต้องใช้เวลา ต่างกับธุรกิจอื่น ๆ ที่เห็นยอดขายเป็น Volume มากน้อยชัดเจน
สำหรับปัจจัยสนับสนุนมองว่ามีเรื่องเทคโนโลยีใหม่ ๆ เช่น AI PC ที่มีการอัพเกรดฟีเจอร์ต่าง ๆ เข้ามาเป็นตัวเร่งให้เกิดการเปลี่ยนเครื่องเร็วขึ้น หรือฝั่งเกม Nintendo Switch มีการเปิดตัวคอนโซลรุ่นใหม่ เชื่อว่าเอาเข้ามาลอตแรก ของน่าจะหมดแน่นอน
ส่วนความท้าทายที่มาจากปัจจัยภายนอก เช่น การเมืองไทย และนโยบายการค้าของสหรัฐ ตลอดจนสภาพเศรษฐกิจ และการจับจ่ายของผู้บริโภค เป็นสิ่งที่ต้องติดตามว่าจะส่งผลกระทบต่อมากน้อยแค่ไหน แต่ด้วยประสบการณ์ 30 กว่าปี และการมีสินค้าในพอร์ตหลากหลายสัญชาติ เชื่อว่าจะช่วยให้ซินเน็คบริหารจัดการความเสี่ยงจากปัจจัยต่าง ๆ ได้อย่างแน่นอน
ลงทุน AI สนับสนุนดีลเลอร์
เมื่อถามถึงแผนการลงทุนในปี 2568 “สุธิดา” บอกว่า งบฯลงทุนมีบอร์ดของบริษัทอนุมัติให้ใช้ในแต่ละปีอยู่ที่ 100 ล้านบาท เช่น การจัดการระบบหลังบ้าน และคลังสินค้า การลงทุนเกี่ยวกับคลาวด์ และการทำพื้นที่โชว์เคสสำหรับแสดง Use Case การต่อยอด หรือประยุกต์ใช้เทคโนโลยีในอุตสาหกรรมต่าง ๆ เป็นต้น
และที่สำคัญ ความร่วมมือระหว่าง AWS และ Synnex ยังจะทำให้เกิดการพัฒนา “SYNNEX AI-TRUST 1” หรือโมเดล AI ที่รวมทุกเรื่องเกี่ยวกับการขายและการให้บริการ เป็นเหมือนผู้ช่วยส่วนตัวที่คอยซัพพอร์ตดีลเลอร์ของบริษัทแบบ 24/7
“อีกโจทย์ที่สำคัญสำหรับซินเน็คมาก ๆ ในปีนี้ คือการทำให้สินค้าทุกหมวดหมู่ขายแบบ Cross Segment กันได้แบบ One Stop Service และส่งเสริมให้ดีลเลอร์มากกว่า 5,000 รายทั่วประเทศ เติบโตกับการขายรูปแบบใหม่ ๆ ผ่านการซัพพอร์ตทั้งเรื่องความรู้ และช่วยวางเฟรมเวิร์กการใช้งานโซลูชั่นต่าง ๆ ให้การขายสะดวกยิ่งขึ้น”