บทเรียนแผ่นดินไหว จนกว่าจะมี Cell Broadcast

disaster

แผ่นดินไหวจากรอยเลื่อนสะกายครั้งล่าสุด กระทุ้งระบบแจ้งเตือนภัยพิบัติสู่มือถือ หรือ Cell Broadcast ขึ้นมาอีกครั้ง หลังระบบนี้ผ่านการผลักดันมานานเกือบสองปี ด้วยงบประมาณที่อนุมัติแล้วกว่า 1 พันล้านบาท และยังกระตุ้นเตือนให้ประชาชนจำนวนมาก ได้บทเรียนว่าแม้กรณีแผ่นดินไหว เราจะไม่สามารถล่วงรู้ล่วงหน้า แต่เมื่อเกิดขึ้นแล้ว ควรจะได้รับรู้ข้อมูลข่าวสารอย่างทันท่วงทีหรือตอบสนองให้เร็วที่สุด เพราะแผ่นดินไหวครั้งนี้เห็นได้ชัดว่าทั้งประชาชนทั่วไป และหน่วยงานภาครัฐที่ (ควรจะ) เกี่ยวข้องยังสับสนว่าเกิดอะไรขึ้น

เรียกได้ว่า ประเทศหยุดชะงักไปราว 10-30 นาที ทำให้ประชาชน และสำนักข่าว ต้องพึ่งพาการแจ้งเตือนกันเอง และรู้จักเครื่องมือตรวจสอบภัยอย่างง่ายที่ประเทศไทยมีอยู่แล้ว เช่น ระบบ EarthquakeTMD ของกรมอุตุนิยมวิทยา เป็นต้น

“ประชาชาติธุรกิจ” รวบรวมช่องทางสำคัญที่เป็นประโยชน์ในการตรวจสอบ หรือ “คาดการณ์” ซึ่งภัยต่อไป (ตามฤดูกาล) อาจหนีไม่พ้นเรื่อง “พายุ-น้ำท่วม” ส่วนใหญ่แล้วเป็น “ข้อมูลเปิด” ที่ภาครัฐทำไว้ให้ประชาชนเข้าถึงได้

“สุกันยาณี ยะวิญชาญ” อธิบดีกรมอุตุนิยมวิทยา เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า ระบบเฝ้าระวังแผ่นดินไหวของไทยค่อนข้างแม่นยำ เพราะตัวรับอยู่ใกล้รอยเลื่อนสำคัญต่าง ๆ มากที่สุด เช่น แผ่นดินไหวครั้งแรก มีการแจ้งเตือนขนาด 7.7 ก่อนอาฟเตอร์ช็อก ก็มีการแจ้งผ่านระบบ ซึ่งประชาชนทั่วไปเข้าดูได้ที่เว็บไซต์ของกองเฝ้าระวัง แอปพลิเคชั่นของกรม หรือที่ X ในแอ็กเคานต์ EarthquakeTMD

และจากการตรวจสอบจากตัวรับที่ใกล้รอยเลื่อน จึงพบว่ามีขนาด 8.2 ภายหลัง อีกทั้งกองเฝ้าระวังแผ่นดินไหวยังตั้งอยู่ติดกับกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยที่ควรตอบสนองถึงกันได้เร็วที่สุด

อธิบดีกรมอุตุฯกล่าวด้วยว่า ภารกิจของกรมคือการพยากรณ์ภัย ลำดับต่อไปจะเป็นเรื่องภัยแล้ง ที่คาดว่าจะไม่ได้รับผลกระทบมาก เพราะปีนี้ประเทศไทยอยู่ในภาวะลานีญา ที่ฝนจะชุกในช่วงเดือน มิ.ย.-ต.ค.

ADVERTISMENT

ในด้านการพยากรณ์อากาศ ก่อนหน้านี้ กรมอุตุฯได้นำนโยบาย AI Agenda ของกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอี) โดยมีการพัฒนาระบบการพยากรณ์อากาศให้มีความทันสมัยมากขึ้น มีการใช้ AI เข้ามาปรับปรุงกระบวนงานการวิเคราะห์เรื่องของการพยากรณ์อากาศให้มีความชัดเจน และระบุพื้นที่ได้แม่นยำขึ้น

ด้วยสภาพอากาศโลกปัจจุบันเปลี่ยนแปลงเร็ว ดังนั้นการพยากรณ์อากาศข้ามปี หรือรายฤดูจะไม่แม่นยำ ดังนั้นจึงต้องเร่งพัฒนาเทคโนโลยีพยากรณ์ให้ละเอียดเป็นรายชั่วโมง ซึ่งการใช้โมเดลเอไอช่วย มีเป้าหมายจะคาดการณ์อากาศล่วงหน้า 3 ชม. ให้ได้อย่างแม่นยำ

ADVERTISMENT

ช่องทางเช็กภัยด้วยตัวเอง

ปัจจุบันข้อมูลด้านสภาพอากาศทั่วโลกมีการแบ่งปันข้ามพรมแดนได้สะดวกยิ่งขึ้น ไม่ใช่แค่ภาครัฐ แต่ภาคเอกชนเชื่อมต่อและพัฒนาแพลตฟอร์มที่เกี่ยวข้องกับการแจ้งเตือน และพยากรณ์เพื่อการวางแผนด้านอากาศจำนวนมาก ยกตัวอย่างแพลตฟอร์มง่าย ๆ ที่ใครก็เช็กได้ด้วยตัวเอง ประกอบด้วย

1.แอป “ฟ้าฝน” แพลตฟอร์มยอดนิยมสำหรับการพยากรณ์สภาพอากาศ เพื่อวางแผนการเพาะปลูก และยังใช้วางแผนการเดินทางเพื่อเลี่ยงกลุ่มฝนและพายุ ซึ่งเกิดจากการเชื่อมโยงข้อมูลอุตุนิยมวิทยาของรัฐ และข้อมูลขนาดใหญ่ด้านสภาพภูมิอากาศ ในเขตเส้นศูนย์สูตรของภาคเอกชน

2.Thai Weather แอปพลิเคชั่นเช็กเรดาร์ฝนจากกรมอุตุนิยมวิทยา ที่เช็กข้อมูลได้เรียลไทม์ มาพร้อมฟีเจอร์รายงานสภาพอากาศ แผนที่เตือนภัย ประกาศเรดาร์ฝน แผ่นดินไหว ทางเดินพายุ รวมถึงอัพเดตข่าวสารเกี่ยวกับสภาพอากาศที่เป็นประโยชน์ต่อการวางแผนเดินทางอีกด้วย

3.ภาพถ่ายดาวเทียม Disaster Platform เว็บไซต์ข้อมูลเปิดที่สำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ (องค์การมหาชน) หรือ GISTDA สร้างขึ้น เหมาะอย่างยิ่งเมื่อเกิดภัยพิบัติน้ำท่วมที่ประชาชนทั่วไป เกษตรกร หรือแม้แต่เจ้าของที่ดินขนาดใหญ่จะได้เห็นภาพรวมสถานการณ์ ตั้งแต่ก่อนเกิดภัยอย่างพื้นที่น้ำท่วมซ้ำซากจนถึงขอบเขตเส้นทางน้ำหลากในปัจจุบันที่ไปกระจุกตัวอยู่ที่ใดบ้างในประเทศนี้

Disaster Platform เข้าถึงได้จาก disaster.gistda.or.th ให้บริการข้อมูลหลายด้าน รวมถึงไฟป่า และภัยแล้ง นำเสนอภาพรวมสถานการณ์ภัยพิบัติล่าสุดในประเทศไทย ในรูปแบบ Story Map ซึ่งมีระบบลงทะเบียนเป็นสมาชิกแล้วจะดาวน์โหลดไฟล์ข้อมูลต่าง ๆ ได้ รวมถึงรับ API Key เพื่อใช้ดึงข้อมูลเชิงพื้นที่ด้วย API Service สำหรับไปพัฒนาแพลตฟอร์มของตนต่อได้อีกทอด

4.ศูนย์ปฏิบัติการระบบน้ำอัจฉริยะ กรมชลประทาน จากเว็บไซต์ wmsc.rid.go.th ในเว็บไซต์ดูสถานการณ์น้ำจากกล้อง CCTV ในพื้นที่ที่ต้องการ หรือดูภาพรวมสถานการณ์น้ำในแหล่งสำคัญทั่วประเทศ มีข้อมูลต่าง ๆ เช่น สถานการณ์น้ำปัจจุบัน แนวโน้มของระดับน้ำในลำน้ำในอนาคตจะขยายจุดตรวจเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ ให้ครอบคลุมลำน้ำต่าง ๆ ทั่วประเทศทั้ง 935 จุด

หากค้นหาข้อมูลจะพบว่าหลายปีมานี้ หน่วยงานภาครัฐมี “แอปพลิเคชั่น” มากมายที่ใช้แจ้งภัยพิบัติ แต่หลายแอปพลิเคชั่น “หายไป” จากแอปสโตร์ในมือถือ เช่น SWOC WL ของกรมชลฯ หรือ NDWC ของ ปภ. ที่เคยเป็นแอปแจ้งเตือนน้ำท่วม ดินถล่ม เป็นต้น

ทั้งหมดเป็นช่องทางหลักที่เราสามารถเข้าถึงข้อมูลด้วยตนเองได้ จนกว่า “ระบบแจ้งเตือนภัยพิบัติแห่งชาติ” Cell Broadcast System จะแล้วเสร็จ