แม่ค้าออนไลน์ไทยใช้ AI เก่งไม่แพ้ใคร จำนวน “มือโปรด้าน AI” มากสุดในอาเซียน

ลาซาด้า ร่วมกับ Kantar สำรวจเทรนด์การใช้ AI ของผู้ขายออนไลน์ในอาเซียน พบผู้ขายไทยกังวลเรื่องค่าใช้จ่าย แต่ก็คุ้นเคยกับการใช้งาน AI จนมี “มือโปรด้าน AI” ที่ใช้ AI ในธุรกิจอย่างน้อย 80% มากสุดในอาเซียน

รายงานข่าวจากลาซาด้า ประเทศไทย เปิดเผยว่า “ลาซาด้า” (Lazada) จัดทำรายงาน “โอกาสจาก AI : เปิดมุมมองและเทรนด์การใช้งาน AI ของผู้ขายออนไลน์ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (Bridging the AI Gap: Online Seller Perceptions and Adoption Trends in SEA)” ร่วมกับกันตาร์ (Kantar)

โดยสำรวจความคิดเห็นของผู้ขายบนแพลตฟอร์มอีคอมเมิร์ซจำนวน 1,214 ราย ในอินโดนีเซีย มาเลเซีย ฟิลิปปินส์ สิงคโปร์ ไทย และเวียดนาม เพื่อศึกษาแนวโน้มการใช้งานเทคโนโลยี AI รวมถึงความท้าทายและโอกาสต่าง ๆ ที่สะท้อนให้เห็นความพร้อมของผู้ขายในการนำ AI มาใช้ในการดำเนินธุรกิจ

ผลสำรวจระบุว่า ผู้ขายออนไลน์ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้มีความคุ้นเคยกับเทคโนโลยี AI เป็นอย่างมาก โดยในประเทศไทย ผู้ขาย 46% ระบุว่ารู้จักเทคโนโลยี AI และเชื่อว่าได้นำ AI มาใช้ใน 54% ของกระบวนการดำเนินธุรกิจ แม้จะมีการใช้งานจริงเพียง 39% ของกระบวนการดำเนินธุรกิจเท่านั้น แสดงให้เห็นถึงช่องว่างที่ชัดเจนระหว่างการรับรู้และการนำ AI ไปใช้จริง

ส่วนประเทศไทยยังเป็นประเทศที่มีช่องว่างระหว่างการรับรู้และการนำ AI ไปใช้จริงสูงที่สุดในภูมิภาคอยู่ที่ราว 15% ชี้ให้เห็นโอกาสในการนำ AI มาใช้ในการดำเนินธุรกิจสำหรับผู้ขายที่ยังมีอีกมาก

การประเมินความคุ้มค่าระหว่างประสิทธิภาพของ AI และต้นทุน ถือเป็นอีกปัจจัยสำคัญที่ส่งผลกระทบต่อการตัดสินใจของผู้ขายไทย แม้ว่า 99% จะตระหนักถึงศักยภาพของ AI ในการเพิ่มประสิทธิภาพการดำเนินธุรกิจ แต่กว่า 80% ยังคงไม่มั่นใจในประโยชน์ของ AI

ADVERTISMENT

นอกจากนี้ ยังพบว่าผู้ขายในไทยเป็นกลุ่มที่ให้ความสำคัญเรื่องค่าใช้จ่ายมากที่สุดในภูมิภาค โดย 84% กังวลกับค่าใช้จ่ายในการพัฒนาทักษะของทีมงาน แม้ผู้ขายทุกรายจะเห็นว่าการใช้ AI ช่วยประหยัดต้นทุนของธุรกิจได้ในระยะยาว

ผลการศึกษายังเผยให้เห็นถึงช่องว่างของการนำ AI มาประยุกต์ใช้จริง โดยชี้ให้เห็นว่าแม้ผู้ขายจะตระหนักถึงความสำคัญของเทคโนโลยี AI แต่กลับประสบปัญหาในการนำไปใช้อย่างมีประสิทธิภาพ ผู้ขายไทย 100% เล็งเห็นศักยภาพของ AI ในการยกระดับประสิทธิภาพการทำงานของพนักงาน

ADVERTISMENT

อย่างไรก็ตาม ผู้ขายกว่า 88% ยอมรับว่าพนักงานยังคงเลือกใช้เครื่องมือที่คุ้นเคยมากกว่าการเปลี่ยนไปใช้โซลูชั่น AI ใหม่ ๆ ซึ่งสะท้อนให้เห็นถึงความท้าทายในการเปลี่ยนผ่านจากระบบการทำงานแบบที่คุ้นเคย สู่การปรับมาใช้โซลูชั่น AI ในการดำเนินธุรกิจ

ในระดับภูมิภาค อินโดนีเซีย และเวียดนาม เป็นผู้นำในการประยุกต์ใช้ AI ในธุรกิจ ด้วยอัตราการใช้งาน 42% ของกระบวนการดำเนินธุรกิจทั้งหมด ตามด้วยสิงคโปร์และไทยที่มีอัตราการใช้งานอยู่ที่ 39%

ทั้งนี้ รายงานยังได้วิเคราะห์การนำ AI มาใช้ใน 5 ส่วนหลักในการดำเนินธุรกิจ ได้แก่ การจัดการการดำเนินงานและโลจิสติกส์ การบริหารจัดการสินค้า การตลาดและการโฆษณา การบริการลูกค้า และการบริหารจัดการบุคลากร โดยได้แบ่งผู้ขายออกเป็น 3 ประเภท ได้แก่

1.มือโปรด้าน AI (AI Adepts)

ผู้ขายที่ประยุกต์ใช้ AI ในอย่างน้อย 80% ของกระบวนการดำเนินธุรกิจ และถือเป็นกลุ่มผู้นำของการใช้งาน AI โดยในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ มีผู้ขายเพียง 1 ใน 4 (24%) ที่จัดอยู่ในกลุ่มนี้

2.มือใหม่ด้าน AI (AI Aspirants)

ผู้ขายที่นำ AI มาใช้ในการดำเนินธุรกิจบางส่วน แต่ยังคงพบกับความท้าทายในการใช้งานในส่วนที่สำคัญ โดย 50% ของผู้ขายในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้จัดอยู่ในกลุ่มนี้

3.มือดั้งเดิม ไม่แตะ AI (AI Agnostics)

ผู้ขายที่ยังไม่มีการนำ AI มาใช้ในการดำเนินธุรกิจ โดย 26% ของผู้ขายในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ที่จัดอยู่ในกลุ่มนี้

เมื่อพิจารณาภาพรวมของภูมิภาค ผู้ขายส่วนใหญ่ (76%) จัดอยู่ในกลุ่มมือใหม่ด้าน AI และมือดั้งเดิม ไม่แตะ  ซึ่งชี้ให้เห็นถึงความต้องการโซลูชั่นด้าน AI ที่มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งเครื่องมือที่ขับเคลื่อนด้วย AI (42%) และการสนับสนุนผู้ขายอย่างครบวงจร (41%)

ส่วนประเทศไทยมีผู้ขายที่อยู่ในสัดส่วนของกลุ่มมือโปรด้าน AI มากที่สุดในภูมิภาค โดยมีผู้ขาย 30% ที่จัดอยู่ในกลุ่มนี้ เป็นผลจากความเชื่อมั่นและการยอมรับในเทคโนโลยีของผู้ประกอบการ และโครงสร้างพื้นฐานที่สนับสนุนการใช้งาน AI ซึ่งช่วยให้กระตุ้นการใช้ AI อย่างเป็นรูปธรรม

โดยมีการนำ AI มาใช้สูงสุดในการจัดการดำเนินธุรกิจและงานด้านโลจิสติกส์ ด้วยอัตราการใช้งานสูงถึง 42% โดยเฉพาะในกระบวนการที่ซับซ้อน เช่น การคืนสินค้าและการคืนเงิน รวมถึงการติดตามสินค้า ซึ่งได้มีการนำระบบอัตโนมัติมาใช้แล้ว

ขณะที่การนำ AI มาใช้ในด้านการตลาดและการบริหารจัดการด้านสินค้ายังคงมีอัตราการใช้งานที่ต่ำกว่า (38%) ซึ่งชี้ให้เห็นว่า ฟังก์ชันที่ช่วยวิเคราะห์การรีวิวจากลูกค้า และการใช้ AI เข้ามาช่วยสร้างสรรค์งานโฆษณา ถือเป็นด้านที่ผู้ขายต้องการการสนับสนุนเพิ่มเติม

รายงานระบุด้วยว่า ลาซาด้ายังได้เปิดตัว “คู่มือการเตรียมพร้อมด้าน AI สำหรับผู้ขายออนไลน์ (Online Sellers Artificial Intelligence Readiness Playbook)” ซึ่งจัดทำขึ้นเพื่อแนะแนวทางเชิงกลยุทธ์ที่เหมาะสมกับระดับความพร้อมด้าน AI ของผู้ขายแต่ละราย

จากการศึกษาพบว่า ผู้ขายได้เริ่มนำโซลูชั่นที่ขับเคลื่อนด้วย AI บนแพลตฟอร์มของลาซาด้ามาใช้ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการดำเนินงาน ที่ผ่านมา ผู้ขายกว่า 67% แสดงความพึงพอใจเป็นอย่างมากกับฟีเจอร์ AI บนแพลตฟอร์มลาซาด้า

ทั้งนี้ ลาซาด้ายังได้เตรียมเปิดตัวฟีเจอร์ Generative AI (GenAI) ใหม่ที่ออกแบบมา เพื่อเพิ่มศักยภาพให้กับผู้ขายและพัฒนารายการสินค้า ซึ่งจะช่วยลดความซับซ้อนในการดำเนินงาน และเพิ่มประสิทธิภาพในการเพิ่มยอดขาย เช่น

1.ฟีเจอร์การสร้างรายการสินค้าด้วย AI (AI Smart Product Optimization)

เครื่องมือที่ขับเคลื่อนด้วยเทคโนโลยี GenAI จะช่วยแนะนำผู้ขายในการปรับปรุงรายการสินค้าให้น่าดึงดูดยิ่งขึ้น ไม่ว่าจะเป็นชื่อผลิตภัณฑ์ คำอธิบาย ตลอดจนรูปภาพ โดยผู้ขายสามารถสร้างสรรค์ภาพของผลิตภัณฑ์ระดับมืออาชีพได้ในเวลาสั้น ๆ

ประกอบด้วยฟีเจอร์การลองสินค้าเสมือนจริง (Virtual Try-Ons) การปรับแต่งพื้นหลัง (Background Modifications) และการปรับเปลี่ยนโมเดลอัตโนมัติ (Model Adjustments)

AI Smart Product Optimization-2
AI Smart Product Optimization

2.ฟีเจอร์แปลภาษา (AI-Powered Translations)

ฟีเจอร์แปลภาษาจะช่วยแปลเนื้อหาผลิตภัณฑ์เป็นภาษาต่าง ๆ ได้โดยอัตโนมัติ ทำให้ผู้ขายสามารถขยายการเข้าถึงไปยังตลาดที่หลากหลายได้อย่างมีประสิทธิภาพ

3.ผู้ช่วยการขาย Lazzie Seller

ผู้ช่วยแชตบ็อต AI จาก Alibaba Seller Centre (ASC) จะช่วยตอบคำถามที่พบบ่อยได้ในทันที พร้อมแนะนำฟีเจอร์หลักที่เหมาะสม การประเมินความเสี่ยงของร้านค้า และให้คำแนะนำทางธุรกิจ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและการเติบโตของผู้ขาย