
ชวนสำรวจ 7 วิธีเช็กระบบไฟฟ้าภายในบ้านจาก “ชไนเดอร์ อิเล็คทริค” ก่อนหยุดยาว-เที่ยว “สงกรานต์” อย่างอุ่นใจ
จากสถิติของกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) กระทรวงมหาดไทย ระบุว่า ปัจจุบันสาธารณภัยใกล้ตัวที่เกิดขึ้นบ่อยที่สุด คืออัคคีภัย 73% ทั้งในพื้นที่บ้านและอาคารขนาดใหญ่ โดยสาเหตุหลักของอัคคีภัยมาจากอุปกรณ์ระบบไฟฟ้าชำรุด ไม่มีการตรวจสอบอย่างสม่ำเสมอ ส่งผลให้เกิดไฟฟ้าลัดวงจรได้ง่าย
แล้วจะมีวิธีป้องกันไม่ให้เกิดภัยต่าง ๆ เพื่อให้ใช้เวลาพักผ่อนช่วงหยุดยาวสงกรานต์แบบอุ่นใจได้อย่างไรบ้าง ?
“ประชาชาติธุรกิจ” รวบรวมข้อมูลจาก “ชไนเดอร์ อิเล็คทริค” ผู้ให้บริการโซลูชั่นการจัดการพลังงานและระบบอัตโนมัติ มาสรุปเป็น 7 วิธีเช็กระบบไฟฟ้าภายในบ้านและอาคารเบื้องต้น ดังนี้
1.เช็กแหล่งจ่ายไฟหลักตู้ไฟฟ้าและเบรกเกอร์
สำรวจทุกจุดของบ้านและอาคารว่ามีไฟฟ้าดับหรือไม่ พร้อมตรวจดูตู้เมนไฟฟ้าและสายไฟหลัก หากพบความผิดปกติ เช่น สายไฟชำรุด หรืออุปกรณ์เสียหาย ควรปิดสวิตช์ไฟหลังทันที เพื่อลดความเสี่ยงจากไฟฟ้าลัดวงจรและตรวจสอบเบรกเกอร์ทำงานเป็นปกติหรือไม่ หากพบปัญหาควรตรวจหาสาเหตุก่อนรีเซต
2.เช็กสัญญาณของไฟฟ้าลัดวงจร
สำรวจและสังเกตว่ามีเสียงชอร์ตไฟ หรือมีกลิ่นไหม้จากอุปกรณ์ไฟฟ้าหรือไม่ หากพบความผิดปกติควรรีบปิดระบบไฟฟ้าและเรียกช่างผู้เชี่ยวชาญตรวจสอบทันที
3.เช็กสายไฟและอุปกรณ์ไฟฟ้า
สำรวจและตรวจสอบความชำรุด ฉีกขาดของสายไฟ และอุปกรณ์เปิดปิด รวมถึงเต้ารับ-เต้าเสียบ ว่ามีรอยแตกร้าวหรือหลุดจากผนังหรือไม่ หากพบความเสียหายควรงดใช้งาน
4.เช็กระบบสายดิน
ควรตรวจสอบสายดินของระบบไฟฟ้าให้อยู่ในสภาพดีเสมอ ไม่มีการหลุดหรือขาด หากพบความผิดปกติ ควรให้ช่างไฟฟ้าซ่อมแซมทันที
5.เช็กอุปกรณ์ไฟฟ้าที่อาจสัมผัสน้ำ
หากพบว่าสายไฟหรืออุปกรณ์ไฟฟ้าเปียกน้ำหรือจมอยู่ในน้ำ ห้ามสัมผัสโดยตรงเด็ดขาด ควรปิดไฟจากแหล่งจ่ายหลักก่อน และเรียกช่างผู้เชี่ยวชาญมาตรวจสอบเพื่อความปลอดภัย
6.เช็ก UPS และเครื่องกำเนิดไฟฟ้า
สำรวจอุปกรณ์สำรองไฟทำงานเป็นปกติหรือไม่ และตรวจสอบระดับพลังงานของแบตเตอรี่หรือเชื้อเพลิงในเครื่องกำเนิดไฟฟ้าให้เป็นปกติ
7.รายงานปัญหาให้ผู้เชี่ยวชาญตรวจสอบ
หากไม่แน่ใจว่าระบบไฟฟ้ายังปลอดภัยหรือไม่ ควรปรึกษาช่างเข้ามาตรวจสอบก่อนการใช้งาน หากพบปัญหาหรือความเสียหาย ควรแจ้งให้เจ้าหน้าที่ไฟฟ้าหรือผู้เชี่ยวชาญเข้ามาตรวจสอบและแก้ไขโดยเร็ว
ทั้งนี้ การตรวจสอบตามขั้นตอนต่าง ๆ มีความสำคัญอย่างยิ่ง เพื่อป้องกันไฟฟ้าลัดวงจรซึ่งอาจทำให้เกิดไฟไหม้ ลดความเสี่ยงจากไฟฟ้ารั่วที่อาจเป็นอันตรายต่อชีวิตและป้องกันความเสียหายต่ออุปกรณ์ไฟฟ้าและระบบไฟฟ้าในอาคาร