
ภาพจำที่โดดเด่นของ “แอปเปิล” (Apple) ไม่ได้มีแค่ดีไซน์ การสร้างประสบการณ์ใช้งานที่เป็นมิตรกับผู้ใช้ และอีโคซิสเต็มที่แข็งแรง แต่ยังเป็น Top of Mind หรือแบรนด์ที่กลุ่ม “นักเรียน-นักศึกษา” นึกถึงแบรนด์แรก ๆ เมื่อต้องการอุปกรณ์ไอทีสักชิ้นไว้ใช้ในการเรียน
ที่ผ่านมา แอปเปิลเข้าไปเจาะตลาดกลุ่มนักศึกษา ด้วยแคมเปญ “Back to School” ที่มักออกมาในเดือน มิ.ย. ลากยาวไปจนถึง ก.ย. ของทุกปี โดยมอบส่วนลดเมื่อซื้อ iPad หรือ MacBook พร้อมแถมอุปกรณ์เสริมรุ่นที่ร่วมรายการมาให้ด้วย เช่น ซื้อ iPad ชิป A16 รุ่นเริ่มต้น ราคา 12,200 บาท (จากปกติ 12,900 บาท) สามารถเลือกซื้อ Apple Pencil รุ่นที่ต้องการต่อได้ในราคาพิเศษ ถือเป็นแคมเปญที่ช่วยให้นักเรียน-นักศึกษาเข้าถึงและใช้งานอุปกรณ์ของแอปเปิลในการเรียนรู้ได้ง่ายขึ้น
รวมถึงมีโครงการ “Apple Education” ที่เข้าไปทำงานร่วมกับสถานศึกษา เพื่อยกระดับทักษะของผู้เรียนให้สามารถใช้เทคโนโลยีหรือฟีเจอร์บนอุปกรณ์ของแอปเปิล ต่อยอดการเรียนรู้ได้อย่างมีประสิทธิภาพ ครอบคลุมการศึกษาทั้งระดับ K-12 (ชั้นอนุบาล-มัธยมศึกษาตอนปลาย) และอุดมศึกษา
4 เสาหลัก Apple Education
“โดมินิค ลิชติ” ผู้อำนวยการอาวุโส ฝ่ายการตลาดผลิตภัณฑ์ระดับโลก สำหรับภาคการศึกษา Apple กล่าวว่า “การศึกษา” เป็นสิ่งที่อยู่ใน DNA ของแอปเปิลมาตั้งแต่ยุคของ “สตีฟ จ็อบส์” (ผู้ก่อตั้ง Apple) ที่ต้องการให้เทคโนโลยี และผลิตภัณฑ์ของแอปเปิลช่วยส่งเสริมให้ผู้คนเกิดการเรียนรู้ และพัฒนาทักษะใหม่ ๆ
“เราทำงานในแวดวงการศึกษามามากกว่า 40 ปี เห็นการเปลี่ยนผ่านขององค์ความรู้มาโดยตลอด จึงเชื่อว่านักเรียนและคุณครูควรได้รับการปลูกฝังทักษะใหม่ ๆ อย่างต่อเนื่อง เพื่อให้เท่าทันความเปลี่ยนแปลง ด้วยการทำงานเชิงรุกผ่านโครงการ Apple Education ที่จะช่วยให้นักเรียนเปิดโลกการเรียนรู้ได้กว้างขึ้น”
สำหรับการดำเนินงานตามโครงการ Apple Education แบ่งเป็น 4 เสาหลัก ได้แก่ 1.Versatility การเติมเต็มองค์ความรู้ในการประยุกต์ใช้ฟีเจอร์บน iPad และ Mac เพื่อสร้างสรรค์สิ่งใหม่ ๆ 2.Mobility อุปกรณ์พกพาสะดวก และส่งเสริมการเรียนรู้นอกสถานที่ 3.Durability อุปกรณ์ต้องแข็งแรงทนทาน และ 4.Performance ประสิทธิภาพการประมวลผลต้องดี เพื่อรองรับการใช้สื่อการเรียนรู้ขั้นสูง เช่น การเขียนโค้ด, เทคโนโลยี AR และแอนิเมชั่น
“การทำงานกับสถานศึกษาไม่ได้มีเกณฑ์ตายตัวว่าจะต้องทำงานกับใคร เพราะมองเรื่องเป้าหมายว่ามีจุดร่วมอะไรกันบ้างมากกว่า แต่ส่วนใหญ่จะเป็นที่ที่ใช้อุปกรณ์ของแอปเปิลในการเรียนการสอนอยู่แล้ว ที่ไหนพร้อมต่อยอด เราก็เอาความรู้เข้าไปเสริมให้ และปรับไปตามความเหมาะสมของแต่ละที่”
กรณีศึกษาใน ตปท.
ตัวอย่างสถานศึกษาในต่างประเทศที่ประสบความสำเร็จในการนำ iPad เข้าไปเป็นส่วนหนึ่งของการเรียนการสอน เช่น สภาการศึกษาแห่งเมืองฮิราคาตะ ประเทศญี่ปุ่น ตัดสินใจจัดหา iPad แบบ 1:1 ให้นักเรียนประถม และมัธยมต้นกว่า 30,000 คน ใน 63 โรงเรียน
เมื่อนักเรียนแต่ละคนมีอุปกรณ์ของตนเอง รูปแบบการเรียนการสอนจะเปลี่ยนไป เพราะครูผู้สอนสามารถออกแบบการมอบหมายงานที่ช่วยให้นักเรียนได้เรียนรู้เชิงลึก และถ่ายทอดความเข้าใจออกมาได้หลายรูปแบบ อาทิ ในชั้นเรียนวิทยาศาสตร์ระดับมัธยมต้น นักเรียนจะใช้ iPad บันทึกวิดีโอการทดลอง แล้วสังเกตว่าตัวแปรต่าง ๆ ในองค์ประกอบทางเคมีของลาวา และความหนืดให้ผลลัพธ์ที่ต่างกันอย่างไร จากนั้นจะนำฟุตเทจมารวมกันใน iMovie เพื่อสร้างวิดีโอที่อธิบายสมมุติฐานและข้อสรุป
หรือในชั้นเรียนภาษาญี่ปุ่น นักเรียนประถมใช้ GarageBand เพื่อบันทึกเสียงดนตรีประกอบบทกวีไฮกุที่มีชื่อเสียง โดยเลือกใช้เครื่องดนตรีจาก GarageBand และบันทึกเสียงธรรมชาติ หรือเสียงเครื่องดนตรีที่ใช้มือจับ เช่น กลองหรือระฆังราว ด้วยไมโครโฟนของ iPad จากนั้นก็บันทึกเสียงตนเองอ่านออกเสียงบทกลอนไฮกุ และตัดต่อเสียงเพื่อสร้างบทกวีที่มีท่วงทำนอง และนำไปแชร์กับเพื่อน ๆ ผ่าน Apple TV ในห้องเรียน
นอกจากนี้ แอปเปิลยังพัฒนา “Apple Education Community” หรือพื้นที่การเรียนรู้ที่ออกแบบมาเพื่อผู้ใช้เทคโนโลยีของแอปเปิลโดยเฉพาะ ให้สามารถเข้าถึงแหล่งข้อมูลการเรียนรู้ที่มีประโยชน์ ครอบคลุมทุกระดับการศึกษา ไม่ว่าจะเป็นบทเรียน แผนการสอนฉบับย่อ หรือเทมเพลตสื่อการสอน เชื่อมต่อกับเพื่อนครู ผู้เชี่ยวชาญด้านการศึกษา และสมาชิกคนอื่น ๆ เพื่อแลกเปลี่ยนประสบการณ์ และขอคำแนะนำด้านการเรียนการสอนได้อย่างเต็มที่
ความร่วมมือในไทย
สำหรับในประเทศไทย “แอปเปิล” ทำงานอย่างใกล้ชิดกับ “ผศ.ดร.ศิริวรรณ ฉัตรมณีรุ่งเรือง” คณบดีคณะครุศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏภูเก็ต ผู้ก่อตั้งศูนย์ความเป็นเลิศด้านนวัตกรรมการจัดการเรียนรู้ตลอดชีวิต (CITL) ที่ต้องการให้นักเรียนในพื้นที่ห่างไกลสามารถเข้าถึงการเรียนรู้ผ่านเทคโนโลยี

ผศ.ดร.ศิริวรรณเล่าว่า ศูนย์ CITL ก่อตั้งในปี 2561 ตามพันธกิจของมหาวิทยาลัยที่ต้องทำหน้าที่กระจายความรู้ไปสู่ชุมชน ตั้งใจให้ศูนย์แห่งนี้เป็น Learning Community ที่ต่างจากในตำรา และทุกคนสามารถทำงานเชื่อมต่อกันได้ การเรียนการสอนจึงต้องทำผ่านอุปกรณ์ไอทีทั้งหมด
“พอได้ลองใช้อุปกรณ์แอปเปิล ตอบโจทย์หลายอย่าง และได้ไปอบรม Apple Teacher เพิ่มเติมด้วย พอได้ไลเซนส์ในเลเวลที่สูงขึ้น ก็มีโอกาสพูดคุยและทำงานกับแอปเปิลเรื่อยมา สำหรับศูนย์ CITL แบรนด์ก็ซัพพอร์ตในแง่ของหลักสูตร การประยุกต์ใช้อุปกรณ์ และการฝึกอบรมบุคลากรอย่างดี”
การทำงานของ CITL
ด้านการทำงานของศูนย์ CITL จะเริ่มตั้งแต่ออกแบบสื่อการสอนบน iPad หรือ Mac ให้สอดคล้องกับการเรียนรู้ของนักเรียน จากนั้นจะมีคุณครูของศูนย์กระจายออกไปสอนตามโรงเรียนเครือข่าย เช่น โรงเรียนเกาะมะพร้าว จ.ภูเก็ต ที่ออกแบบหลักสูตรให้นักเรียนชั้น ป.4-6 จำนวน 18 คน ใช้ iPad ของศูนย์ในการเรียนรู้เรื่องราวเกี่ยวกับชุมชนของตนเอง
“ปัจจุบันศูนย์ CITL มี iPad อยู่ 104 เครื่อง ยืมใช้ได้ทั้งนักศึกษาและนักเรียนของโรงเรียนในเครือข่าย โดยจะอยู่ภายใต้ความดูแลของคุณครูแต่ละโรงเรียน หรือบางครั้งก็มีการจัดกิจกรรมให้นักเรียนมาใช้อุปกรณ์ที่ศูนย์ด้วยเช่นกัน”
ผศ.ดร.ศิริวรรณเล่าต่อว่า การทำงานของศูนย์ CITL ไม่ได้จำกัดแค่ใน จ.ภูเก็ต แต่ยังมีภาคีเครือข่ายในภาคใต้รวมแล้ว 14 จังหวัด เช่น ภูเก็ต พังงา และกระบี่ โดยแต่ละปีได้รับงบประมาณสนับสนุนมาจากหลายภาคส่วน เช่น สำนักงานปลัดกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (สป.อว.) 3-4 แสนบาท และภาคเอกชน 5 แสน-1 ล้านบาท เป็นต้น
“ช่วงที่เริ่มโครงการมีโรงเรียนในเครือข่ายราว 25 แห่ง แต่พอขยายผลไปเรื่อย ๆ เพิ่มขึ้นเป็น 88 แห่ง ในอนาคตจะมากกว่านี้อีก เพราะนอกจากศูนย์ที่เราทำอยู่ ภูเก็ตยกระดับเป็นพื้นที่นวัตกรรมการศึกษาด้วย เครือข่ายด้านการศึกษาน่าจะเข้มแข็งขึ้นตาม”
ปั้นนวัตกร EdTech
ผู้ก่อตั้งศูนย์ CITL บอกด้วยว่า ศูนย์ CITL ไม่ได้เพิ่มโอกาสการเรียนรู้ให้นักเรียนในโรงเรียนเครือข่ายเท่านั้น แต่ยังทำให้นักศึกษาที่จะจบไปเป็นครู ได้ทดลองสร้างนวัตกรรมการศึกษา มีทักษะของการเป็นนวัตกร EdTech ติดตัว ทำให้เด็ก ๆ มีทางเลือกในสายอาชีพมากขึ้น และเป็นครูยุคใหม่ที่ไม่ได้สอนตามตำราอย่างเดียว
“ยุคหนึ่งนักศึกษาทั้งห้องมี iPad ใช้ ก็เริ่มคิดแล้วว่าเราน่าจะปรับรูปแบบการสอน หรือมอบหมายงานให้นักศึกษาทำโดยใช้ประโยชน์จากฟีเจอร์บน iPad มากกว่าแค่แจกสไลด์หรือส่งสรุปเฉย ๆ”
ช่วง 2 ปีที่ผ่านมา ได้เริ่มโครงการสร้างนวัตกร EdTech อย่างจริงจัง โดยมีผู้ผ่านการอบรม Apple Teacher กว่า 400 คน และมีผู้ที่เป็นผู้นำการศึกษา หรือ Apple Professional Learning Specialist (APLS) 10 คน
คุณครูหลายคนได้แบ่งปันผลงานสื่อการสอนที่พัฒนาจากฟีเจอร์บน iPad ผ่าน “Forum” ที่เหล่า Apple Teacher จะมาถ่ายทอดประสบการณ์สอนของตนเอง เช่น การติดตามแนวคิดทางวิทยาศาสตร์ผ่านแบบจำลอง Stop Motion และการสร้าง Digital Book ประกอบการสอนเรื่องประเทศเพื่อนบ้าน เป็นต้น
“เราอยากทำให้ครูยุคใหม่มีทักษะของการใช้เทคโนโลยีฝังอยู่ใน DNA ซึ่งศูนย์ CITL เป็นเหมือนพื้นที่ที่ให้นักศึกษาได้ทดลองทำสิ่งต่าง ๆ ก่อนออกไปทำงานจริง เชื่อว่าความตั้งใจของเราจะเป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้คลัสเตอร์การศึกษาของไทยเติบโตยิ่งขึ้น”