บี้กสทช.หาเงินเข้ารัฐ 6 หมื่นล. ชงเอไอเอส-ทรูจ่ายเยียวยาแลก”ม.44″

“กสทช.” จัดให้ ! รื้อทุกเงื่อนไขตามคำขอ ทั้งทิ้งกฎ N-1 ซอยย่อยไลเซนส์ เคลียร์ทางให้ “ดีแทค” เข้าร่วม วงในเผย “รัฐร้อนเงิน” ส่งบิลแจ้ง กสทช. เร่งหาเงินเข้ารัฐปีนี้ 6 หมื่นล้านบาท พร้อมชงเงื่อนไขให้ “ทรู-เอไอเอส” จ่ายเงินเยียวยาหลังสิ้นสุดสัมปทานที่ค้างเติ่งหมื่นล้าน แลก ม.44 ขยายงวดจ่ายค่าคลื่นรอบก่อน

 

นายฐากร ตัณฑสิทธิ์ เลขาธิการคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) เปิดเผยว่า ที่ประชุม กสทช. (25 มิ.ย. 2561) มีมติเห็นชอบให้นำร่างหลักเกณฑ์การประมูลคลื่น 1800 MHz ที่ได้ปรับปรุงใหม่ขึ้นเว็บไซต์เพื่อประชาพิจารณ์ก่อนนำให้บอร์ดลงมติอีกครั้ง2 ก.ค.นี้ เพื่อนำลงประกาศในราชกิจจานุเบกษา พร้อมกับร่างหลักเกณฑ์การประมูลคลื่น 900 MHz

โดยคลื่น 1800 MHz จะประมูล9 ใบอนุญาต ใบอนุญาตละ 5 MHz ราคาเริ่มต้น 12,486 ล้านบาท ผู้เข้าประมูลแต่ละรายจะประมูลได้สูงสุด 4 ไลเซนส์ และต้องวางหลักประกัน 2,500 ล้านบาท ส่วนคลื่น 900 MHz ประมูล 5 MHz ราคาเริ่มต้น 37,988 ล้านบาท โดยผู้ชนะประมูลจะต้องติดตั้งระบบป้องกันคลื่นรบกวน และนำเงินลงทุนส่วนนี้มาหักออกจากเงินค่าประมูลได้ไม่เกิน 2,000 ล้านบาท

รื้อเกณฑ์ให้ตามใจค่ายมือถือ

“ปรับเกณฑ์จากความเห็นของทุกฝ่าย เพื่อให้เกิดการประมูลคลื่นที่ประเทศได้ประโยชน์ ซึ่งประมูล 9 ไลเซนส์ ก็เป็นข้อเสนอจากเวทีประชาพิจารณ์ ที่เดิมอนุกรรมการด้านโทรคมนาคมก็เห็นด้วย แต่บอร์ดใหญ่เห็นว่าควรยึดการประมูลตามเกณฑ์เดิม แต่เมื่อเปิดประมูลแล้วไม่มีใครเข้า จึงได้ปรับลดตามข้อเสนอ ซึ่งหากเปิดประมูลแล้วไม่มีใครมาก็คงรื้อเกณฑ์ใหม่ใช้เวลาอีกนาน”

ทั้ง 2 คลื่นจะเปิดให้ยื่นคำขอเข้าร่วมประมูลวันที่ 8 ส.ค. 2561 ส่วนวันเคาะราคาคลื่น 900 MHz คือ 18 ส.ค. 2561 และ 1800 MHz 19 ส.ค. 2561

“กรณีมีผู้ขอเข้าประมูลแค่ 1 ราย จะเปิดรับอีก 30 วัน แต่ถ้าไม่มีใครเข้าประมูลเลย หรือมีใบอนุญาตเหลือจากการประมูล ก็จะมีการประเมินอีกครั้งว่าจะเก็บคลื่นไว้ก่อนหรือนำออกมาประมูลอีก ตอนนี้ขอแก้ไขปัญหาไปเป็นวัน ๆ แล้วกัน”

ต้องยื่นประมูลถึงได้สิทธิ์เยียวยา

ส่วน “ดีแทค” จะได้เข้าสู่มาตรการเยียวยาหลังสิ้นสุดสัมปทานหรือไม่ กำลังศึกษาข้อมูลเพิ่มเตรียมเสนอบอร์ดอีกครั้ง”จะเข้ามาตรการเยียวยาคือ กสทช.จัดประมูลไม่ทัน ไม่ใช่จัดประมูลแล้วไม่เข้า ฉะนั้นดีแทคอยากจะได้รับสิทธิ์เยียวยาคลื่นไหนก็ต้องยื่นประมูลคลื่นนั้น เพื่อแสดงความประสงค์ว่าอยากจะใช้งานคลื่นต่อ แต่เมื่อ 25 มิ.ย.ที่ผ่านมา ดีแทคยื่นหนังสือแจ้งเป็นทางการว่าจะเข้าร่วมประมูลคลื่น 900 MHz แน่นอน ดังนั้นถ้าแจ้งแล้วไม่เข้า ทางบริษัทก็ต้องชี้แจงกับสาธารณะ”

ขณะเดียวกัน ดีแทคได้ยื่นข้อเสนอว่า ยินดีจ่ายเงินค่าประมูลคลื่น 900 MHz ที่ กสทช.จะจัดขึ้น แต่ขอใช้คลื่นในส่วนสัมปทานเดิมทั้ง 10 MHz ไปก่อนเป็นเวลา 24 เดือน ในระหว่างติดตั้งอุปกรณ์โครงข่าย ซึ่งหากดีแทคชนะการประมูลก็มองว่าไม่น่าจะมีปัญหา

“ไม่ได้กดดันแต่ดีแทค แต่กดดันทั้งรายเดิมและรายใหม่ เพราะได้ซอยย่อยไลเซนส์ให้เล็กลงแล้ว ก็เปิดโอกาสให้รายใหม่เข้ามาได้ และถ้าค่ายอื่นไม่อยากให้ดีแทคได้สิทธิ์เยียวยาก็ต้องเข้าประมูลด้วย ซึ่งเท่าที่พูดคุยนอกรอบก็มีโอเปอเรเตอร์สนใจเข้าประมูล”

รัฐจี้ส่งเงินเข้ารัฐ 6 หมื่นล้าน

แหล่งข่าวภายใน กสทช. เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า สาเหตุที่มีการปรับเกณฑ์การประมูลใหม่ ทั้ง ๆ ที่ก่อนหน้านี้เคยยืนยันว่าไม่สามารถปรับแก้ได้เพราะต้องทำประชาพิจารณ์ใหม่ และจะทำให้จัดประมูลไม่ทันสัมปทานสิ้นสุด เนื่องจากรัฐบาลได้ประสานงานมาอย่างไม่เป็นทางการกับเลขาธิการ กสทช. และบอร์ดหลายคนเร่งให้จัดประมูลคลื่นเพื่อนำเงินรายได้ส่งเข้ารัฐในปีนี้ให้ได้อย่างน้อย 6 หมื่นล้านบาท

“เดิมที่นำคลื่น 900 MHz มาจัดประมูล ก็เพื่อปิดทางไม่ให้ดีแทคได้เข้าสู่มาตรการเยียวยา แต่ที่จู่ ๆ ต้องเร่งแก้เกณฑ์ใหม่ ทั้งยกเลิกไม่ใช่ N-1 (ใบอนุญาตที่นำออกประมูลน้อยกว่าผู้เข้าประมูล 1 จำนวน) กับคลื่น 1800 MHz โดยให้ผู้เข้าประมูลแต่ละรายยื่นประมูลกี่ไลเซนส์ก็ได้ แต่ต้องไม่เกิน 4 ใบอนุญาต ทั้งการลดขนาดใบอนุญาตเหลือ 5 MHz ตามข้อเสนอดีแทคทุกอย่าง เพราะรัฐจี้เรื่องส่งเงินเข้าคลัง ดังนั้นโจทย์สำคัญตอนนี้คือทำอย่างไรจะให้ได้เงินประมูลมากที่สุด”

ดังนั้นเมื่อดีแทคเข้ามาเจรจาว่า สนใจเข้าประมูล 900 MHz เพราะถ้าไม่มีคลื่นย่านนี้จะส่งผลกระทบมาก อาจจะมีพื้นที่ให้บริการได้ไม่ครอบคลุมทั่วประเทศ ส่วน 1800 MHz ถ้าลดขนาดไลเซนส์ลงก็สนใจ แต่ต้องจัดประมูลคลื่น 900 MHz ก่อน แล้วถ้าเงินยังเหลือก็ยินดีจะเข้าประมูล 1800 MHz ให้ กสทช. จึงกำหนดวันจัดประมูลคลื่น 900 MHz ก่อนหน้า 1800 MHz 1 วัน

“มีการแจ้งในที่ประชุมว่า หากปรับเกณฑ์ก็จะได้เงินเข้ารัฐแน่ ๆ จากคลื่น 900 MHz ส่วน 1800 MHz อาจจะได้อีก 20 MHz จากดีแทค 10 MHz และเอไอเอสกับทรูอีกรายละ 5 MHz หาก คสช.ออกคำสั่งตามมาตรา 44 ยืดเวลาการจ่ายเงินประมูลคลื่น 900 MHz แต่กรอบเวลาตามมติอนุกรรมการโทรคมนาคมเดิมที่เสนอมา จะออก ม.44 ไม่ทัน จึงขอให้บอร์ดเลื่อนวันประมูลออกไป 10 กว่าวัน”

ทั้งเพื่อไม่ให้ คสช.ถูกมองว่าเอื้อประโยชน์ 2 ค่ายมือถือรายใหญ่มากเกินไป จึงได้เสนอแนวคิดให้เป็นคำสั่งที่มีเงื่อนไขให้ผู้ประกอบการทั้งคู่ต้องนำส่งเงินรายได้ที่เกิดจากช่วงเวลาในการเยียวยาหลังสิ้นสุดสัมปทานที่เป็นข้อพิพาทยืดเยื้อมาหลายปี รวมเป็นเงินกว่าหมื่นล้านบาท แลกกับการยืดเวลาจ่ายเงินประมูลครั้งก่อนนี้ในงวดที่จะครบกำหนดปี 2563 ซึ่งแต่ละรายต้องจ่ายอีกกว่า 6 หมื่นล้านบาท

“ถ้าเลือกแนวทางนี้ ในปีนี้รัฐก็จะได้เงินจากการประมูลคลื่น 900 MHzงวดแรก 4,020 ล้านบาท คลื่น 1800 MHz ไม่น้อยกว่า 25,000 ล้านบาท แล้วได้จากเงินช่วงเยียวยาสัมปทานเอไอเอส-ทรู อีกหมื่นกว่าล้านบาท เมื่อรวมกับเงินประมูลคลื่นหนก่อน ๆ ที่จะครบกำหนดจ่ายในปีนี้อีก 30,210.92 ล้านบาท กสทช.ก็จะมีเงินส่งเข้าคลังเป็นรายได้แผ่นดินราว 6 หมื่นล้านบาทพอดี จากนี้คงต้องดูว่าเขี้ยวใครจะคมกว่ากัน เพราะแต่ละฝ่ายก็ต่อรองกันเต็มที่ แม้แต่ดีแทคที่ปกติจะไม่ค่อยต่อรอง”