“ทีโอที” แจงติดตั้ง “เน็ตชายขอบ” ช้าแต่ประหยัดงบให้รัฐ 280 ล้าน เหตุปรับโครงข่ายไม่ให้ซ้ำซ้อน

ผู้สื่อข่าว “ประชาชาติธุรกิจ” รายงานว่า นาวาอากาศเอก สมศักดิ์ ขาวสุวรรณ์ รองปลัดกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม และประธานกรรมการบริหาร บมจ.ทีโอที พร้อมด้วยนายมนต์ชัย หนูสง กรรมการผู้จัดการใหญ่ บมจ.ทีโอที และผู้บริหารระดับสูง ได้ลงพื้นที่จังหวัดชัยภูมิ ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของโครงการจัดให้มีสัญญาณโทรศัพท์เคลื่อนที่ และบริการอินเทอร์เน็ตความเร็วสูงในพื้นที่ชายขอบ หมู่บ้านในพื้นที่ชายขอบ (Zone C+) ที่บมจ.ทีโอที ได้รับงานติดตั้งโครงการจากสำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) ด้วยวงเงิน 6,486,399,926 บาท (รวมภาษีมูลค่าเพิ่ม)

นายมนต์ชัย หนูสง กรรมการผู้จัดการใหญ่ บมจ.ทีโอที เปิดเผยว่า โครงการดังกล่าว ทีโอที รับผิดชอบงานใน ตามสัญญากลุ่มที่ 1 ภาคเหนือ 1 การจัดให้มีสัญญาณโทรศัพท์เคลื่อนที่ (Mobile Service) )สัญญากลุ่มที่ 2 ภาคเหนือ 2 การจัดให้มีบริการอินเทอร์เน็ตความเร็วสูง (Broadband Internet Service)และสัญญากลุ่มที่ 3 ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ การจัดให้มีบริการอินเทอร์เน็ตความเร็วสูง (Broadband Internet Service)

“หลังจากลงพื้นที่ตรวจสอบก่อนติดตั้ง พบว่า มีบางส่วนของ TOR ที่กำหนดจุดติดตั้งอุปกรณ์ OLT และจุดติดตั้งโครงข่าย ทับซ้อนกับโครงการเน็ตประชารัฐที่กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม(ดีอี) ได้ติดตั้งไปก่อนนี้  ทีมวิศวกรแต่ละพื้นที่จึงได้สำรวจใหม่ พร้อมเสนอให้ กสทช. ปรับปรุงจุดติดตั้งและจุดลากโครงข่ายโดยเชื่อมต่อกับโครงข่ายของเน็ตประชารัฐ เพื่อลดการลงทุนซ้ำซ้อน และลดความเสี่ยงจากการลากสายโครงข่ายที่ไกลเกินไป รวมถึงลดค่าบำรุงรักษาในอนาคตได้  โดยการรีดีไซน์โครงข่ายใหม่จะลดจำนวนอุปกรณ์และค่าใช้จ่ายที่เกี่ยวข้อง อาทิ เคเบิลใยแก้วนำแสง ค่าติดตั้ง ได้กว่า280 ล้านบาท ซึ่งเป็นการใช้เงินลงทุนของประเทศอย่างมีประสิทธิภาพ”

โดยปัจจุบันกำลังรอให้ทาง กสทช. อนุมัติจุดติดตั้งใหม่ตามที่เสนอไป ซึ่งหาก กสทช. พิจารณาอนุมัติมาได้อย่างรวดเร็ว  มั่นใจว่า โครงการทั้งหมดจะติดตั้งเสร็จภายใน 28 ก.ย. 2561 ตามสัญญาแน่นอน