
สัมภาษณ์
สตาร์ตอัพไทยและอาเซียนยังดึงดูดเงินลงทุนได้ต่อเนื่อง ล่าสุด กองทุน “Draper Athena” จาก Silicon Valley ที่ก่อตั้งมา 20 ปี ลงทุนในสตาร์ตอัพไปแล้ว 53 ล้านล้านเหรียญสหรัฐ ทั้งใน Skype (exit ปี 2005) Twitter (exit ปี 2013) Twitch (exit ปี 2014) และมูลค่าทรัพย์สินกองทุนตอนนี้อยู่ที่ 1.6 พันล้านเหรียญสหรัฐ ตอนนี้ประกาศพร้อมลุยลงทุนในอาเซียน “ประชาชาติธุรกิจ” มีโอกาสพูดคุยกับ “แพร์รี่ ฮา” (Perry Ha) ผู้ร่วมก่อตั้งและผู้จัดการกองทุน “Draper Athena”
- จับตาธุรกิจเลิกจ้าง ปิดกิจการ ส่งออกสะดุด-บริษัทยักษ์ย้ายฐาน
- โปรดเกล้าฯ แต่งตั้ง พล.อ.ประยุทธ์ เป็นองคมนตรีคนใหม่ มีผลทันที
- เปิดความเป็นมาองคมนตรี 18 คน อำนาจหน้าที่และการดำรงตำแหน่ง
Q : แผนการลงทุน
หลังจากตั้งเมื่อ 20 ปีก่อนที่ Silicon Valley และได้ขยายสู่เกาหลีใต้ ฮ่องกง จีน ตอนนี้อยากจะขยายสู่อาเซียน โดยจะใช้ไทยเป็นฐาน เพราะมองว่าอาเซียนคือตลาดสำคัญมาก มั่นใจว่าเป็นภูมิภาคที่เติบโตได้เร็ว มีตัวแปรสำคัญคือ โครงสร้างพื้นฐาน ซึ่งการที่อาเซียนไม่มีโครงสร้างพื้นฐานที่สมบูรณ์อยู่ก่อน ทำให้การพัฒนาให้กลายเป็นโครงข่ายไร้สายล้วน ๆ ทำได้ง่ายกว่า โดยโฟกัสลงทุนกับ B2B คือไม่ใช่สตาร์ตอัพที่คิดสินค้าหรือบริการสำหรับคอนซูเมอร์ (B2C) แต่เป็นลูกค้าธุรกิจ
Q : สตาร์ตอัพในอาเซียนน่าสนใจ
กำลังอยู่ในช่วงทรานซิชั่นที่สำคัญ และเป็นช่วงเวลาที่ถูกต้องที่จะเข้ามาลงทุน เพราะเดิมส่วนใหญ่สตาร์ตอัพจะยังเน้นพัฒนาสำหรับ B2C แต่กองทุนของเราโฟกัสที่ B2B เป็นสตาร์ตอัพที่เน้น deep tech เทคโนโลยีระดับสูง ทั้งฟินเทค ไบโอเทค AI การนำวิทยาศาสตร์สาขาต่าง ๆ มาใช้ในชีวิต เราจึงมองหาสตาร์ตอัพที่เป็น technology base ซึ่งจังหวะนี้เป็นเวลาที่ใช่
Q : พาร์ตเนอร์ที่ต้องการ
ในภูมิภาคนี้มีนักลงทุนที่ลงทุนกับสตาร์ตอัพระดับซีรีย์เอลงมาเยอะแล้ว แผนของเราคือจะลงทุนร่วมกับนักลงทุนโลคอลที่รู้จักท้องถิ่นดี เพื่อลงทุนในระดับซีรีส์เอขึ้นไป โดยเราจะนำสิ่งที่พวกเขาไม่มี อย่างประสบการณ์ต่าง ๆ มาที่นี่ แล้วให้พวกเขานำสิ่งที่เราไม่มีมาเสริมกัน ซึ่งเชื่อว่าจะทำให้เป็นทีมเวิร์กที่ดีและมีความเป็นไปได้ที่จะทำงานร่วมกับมหาวิทยาลัย ในแง่การลงทุนด้าน AI หรือเฮลท์แคร์ ที่เป็น deep tech ในรูปแบบการนำงานวิจัยจากห้องแล็บสู่การทำตลาดเชิงพาณิชย์
Q : สตาร์ตอัพอาเซียนมีศักยภาพพอ
แน่นอน เราเห็นโอกาส และกำลังมองหาสตาร์ตอัพที่จะสามารถขยับไปสู่ซีรีส์ที่โตขึ้นเรื่อย ๆ ได้ ซึ่งกองทุนของเราจะช่วยให้ทำธุรกิจข้ามประเทศได้ดี เพราะเป็น cross boarder fund ซึ่งแต่ละปีเลือกสตาร์ตอัพที่จะลงทุนไม่มากราย แต่ลงเยอะในแต่ละรายเพื่อให้เติบโตได้จริง ๆ
Q : ตั้งเป้าจะลงทุนกี่รายในอาเซียน
อาจจะ 1-2 รายต่อปีที่มองไว้ แต่เตรียมเงินไว้เยอะสำหรับแต่ละรายแน่นอน เพราะเราไม่ใช่ seed funding (เงินลงทุนราว 1 ล้านเหรียญสหรัฐ)
Q : จุดอ่อน-จุดแข็งสตาร์ตอัพไทย
มันยากที่จะบอก แต่ถ้าพูดถึงไทยซึ่งมีประชากรราว 70 ล้านคน ตลาดคอนซูเมอร์อาจจะไม่ได้แข็งแรงมาก มีกำลังซื้อสูงอย่างจีนหรือสหรัฐดังนั้นอาจจะต้องดูว่า ณ ตอนนี้ ไทยอยู่ที่จุดไหน ผมมองว่าไทยควรจะมีสตาร์ตอัพ B2B ที่เป็น deep tech มากกว่านี้ จะช่วยให้มีโอกาสโตได้มากขึ้น ซึ่งโมเดล B2B ที่น่าสนใจ เช่น Mobile AD. platform ที่ใช้ AI วิเคราะห์ผู้ใช้และส่งโฆษณาสินค้าหรือบริการ ส่วนลดต่าง ๆ เพื่อให้ลูกค้าพึงพอใจและสร้างความผูกพันต่อเนื่องได้ และการพัฒนาเพื่อต่อยอดสร้างประโยชน์ให้กับกลุ่ม B2C ได้ เช่นหาโซลูชั่นที่ต่อยอดให้บริการของแกร็บได้
สิ่งที่ VC กองทุนต่าง ๆ ทำคือการมองหาตลาดที่ถูกต้อง ในเวลาที่ถูกต้อง ซึ่งเราไม่สามารถนั่งมองให้คนอื่นเข้าไปก่อนได้ เพราะมันจะสายไปแล้ว ในอาเซียนหรือในไทย อาจจะไม่ใช่ที่ที่สามารถหาสตาร์ตอัพระดับยูนิคอร์นได้เป็นร้อย ๆ ราย แต่เชื่อว่าจะมีรายที่น่าสนใจ ที่อาจจะกลายเป็นตัวขับเคลื่อนสำคัญได้ ผมรู้สึกได้ถึงช่วงเวลาและโอกาส ณ ที่นี่
Q : โมเดลไหนที่เลิกทำได้แล้ว
อะไรที่คุณเริ่มได้ยินมาก่อนแล้วก็ไม่ควรจะเข้าไปทำอีก เพราะ VC หรืออย่างกองทุนของเราก็พยายามจะลงทุนในสตาร์ตอัพที่สื่อต่าง ๆยังไม่เคยได้ยินโมเดลธุรกิจนี้ ถึงแม้จะตอบได้ยากว่าอะไรจะบูมในอนาคตแต่ก็ไม่ควรจะลอกแบบ CopyCat เพราะทุกวันนี้ก็มี deep tech ใหม่ ๆ เกิดขึ้นอยู่ตลอด เช่น อุปกรณ์และระบบเซ็นเซอร์ ที่ถูกกว่าการใช้อินฟราเรดถึง 10 เท่า อย่างในไทย การทำ deep tech ในส่วนที่เป็นจุดแข็งเดิมอย่างด้านการท่องเที่ยว อาหาร การเกษตร ที่มีการนำ AI มาช่วย ก็น่าสนใจ
Q : ไทยสนับสนุนสตาร์ตอัพมากพอ
เท่าที่เห็นคือ ภาครัฐไม่ได้สร้างกำแพง ซึ่งรัฐก็ควรจะสนับสนุนสตาร์ตอัพในท้องถิ่น เพราะช่วยสร้างงาน สร้างการเติบโตรองรับการเปลี่ยนผ่านสู่เทคโนโลยีด้วย เพื่อแต่ว่าตอนนี้ไทยยังตามหลังสิงคโปร์อยู่มาก เพราะการสนับสนุนทางด้านการศึกษาในส่วนที่เกี่ยวข้องกับเทคโนโลยียังน้อย ทั้งที่ human capital เป็นเรื่องที่สำคัญมาก ขณะที่สิงคโปร์เป็นประเทศที่ใช้ภาษาอังกฤษเป็นหลัก และสร้างสภาพแวดล้อมที่เอื้อต่อการอำนวยความสะดวกในการทำธุรกิจการลงทุนที่มากกว่า
Q : ฟองสบู่สตาร์ตอัพในอาเซียน
ฟองสบู่สตาร์ตอัพเป็นปรากฏการณ์ทั่วโลก แต่ส่วนใหญ่เกิดกับกลุ่มที่จับตลาด B2C ยังไม่เห็นใน B2B เท่าไร โดยเฉพาะกลุ่มมุ่งเป็น deep tech ดังนั้นคนที่จะลงทุนพัฒนาและลงทุนในสตาร์ตอัพต้องเข้าใจ ศึกษาถึงความเกี่ยวข้องของ deep tech กับธุรกิจที่จะเข้ามาซัพพอร์ตให้ดีด้วย