5 เดือน”ทีโอที”พลิกกำไร 80 ล. เร่งลงทุนบรอดแบนด์ลุยติดเน็ตภาครัฐ

เร่งติดตั้ง - บมจ.ทีโอทีเร่งติดตั้งโครงการ "เน็ตชายขอบ" ของ กสทช. โดยยืนยันว่าการรีดีไซน์โครงข่ายใหม่แม้จะทำให้ล่าช้าแต่ประหยัดเงินหลวงได้ 280 ล้านบาท
ทีโอทีปักธงสิ้นปีกำไรสุทธิพันล้าน พลิกจากปี”60 ขาดทุนยับ 4 พันล้าน อานิสงส์ “เอไอเอส-ดีแทค” ช่วยหนุน ทุ่ม 4 พันล้านลงทุนบรอดแบนด์เพิ่ม ตั้งเป้าสิ้นปีลูกค้า 1.5 ล้านราย พร้อมหาโมเดล IOT ติดสปีด “เน็ตชายขอบ-ประชารัฐ” ให้ทันเส้นตายรัฐบาล ควบคู่รัดเข็มขัดลดต้นทุน

 

นายมนต์ชัย หนูสง กรรมการผู้จัดการใหญ่ บมจ.ทีโอที เปิดเผยกับ “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า ผลประกอบการ 5 เดือนแรกปี 2561 มีกำไรสุทธิกว่า 80 ล้านบาท ถือว่าดีขึ้นมาก เมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อนที่ขาดทุน 1,700 ล้านบาท ตั้งเป้าสิ้นปี 2561 จะมีกำไรสุทธิกว่า 1,000 ล้านบาท จากรายได้ทั้งหมด 50,000 ล้านบาท พลิกจากปี 2560 ที่รายได้ทั้งปี 38,976 ล้านบาท ขาดทุนสุทธิ 4,261 ล้านบาท

“เอไอเอส-ดีแทค” หนุนกำไร

โดยรายได้หลักที่เพิ่มขึ้นชัดเจนคือ จากการเป็นพันธมิตรธุรกิจโมบายกับ “เอไอเอสและดีแทค” ราว 24,000 ล้านบาท กับที่ทีโอทีทำเอง 36,000 ล้านบาทขณะที่งบฯลงทุนปีนี้เตรียมไว้ 4,000 กว่าล้านบาท เน้นขยายธุรกิจบรอดแบนด์เป็นหลัก อีกส่วนจะใช้รุกธุรกิจดิจิทัล ที่ตอนนี้เน้นเรื่องไซเบอร์ซีเคียวริตี้เป็นหลัก

หวังลูกค้าบรอดแบนด์ 1.5 ล้าน

ส่วนของทีโอทีเอง รายได้หลักจะมาจากบริการอินเทอร์เน็ตความเร็วสูง 13,000 ล้านบาท ปัจจุบันมีลูกค้าราว 1.3 ล้านราย โดยเป็นผู้ใช้บริการด้วยเทคโนโลยีเคเบิลใยแก้ว 1 ล้านราย บริษัทตั้งเป้าจะปรับให้ลูกค้าที่เหลือ ซึ่งยังใช้สายทองแดงเปลี่ยนเป็นเคเบิลใยแก้วทั้งหมดภายใน 2 ปี เพื่อให้คุณภาพบริการดีขึ้นและเพิ่มสปีดให้สูงขึ้น สิ้นปีตั้งเป้าลูกค้าบรอดแบนด์ 1.5 ล้านราย

“แผนตลาดจะเน้นความเร็วที่ทุกคนหยิบจับได้จริงในทุกพื้นที่ เพราะความเร็วระดับ 1 Gbps ทีโอทีก็ให้บริการได้ แต่เป็นบางพื้นที่และก็มีแค่ลูกค้าบางกลุ่มที่อยากใช้ และจะออกแบบแพ็กเกจให้ลูกค้าคุ้มค่า พร้อมสร้างระบบ proactive maintenance คอยมอนิเตอร์โครงข่ายเพื่อซ่อมบำรุงอัตโนมัติ ไม่ต้องรอให้ลูกค้าแก้เหตุขัดข้อง ช่วยเพิ่มคุณภาพบริการและลดอัตราการยกเลิกให้ต่ำลง”

2300 MHz รอไลเซนส์สถานีฐาน

ขณะที่ธุรกิจโมบายของทีโอที นอกจากต้องเร่งขยายตลาดเองแล้ว จะเพิ่มพาร์ตเนอร์ที่จะเช่าใช้โครงข่ายไปให้บริการต่อ (MVNO) แต่ปีนี้อาจจะยังไม่เห็นชัดเจน แต่โดยรวมแล้วสิ้นปีตั้งเป้าลูกค้าโมบายไว้ที่ 1 ล้านเลขหมาย จากปัจจุบันมีอยู่ราว 1 แสนเลขหมาย

ส่วนโครงการพัฒนาคลื่น 2300 MHz ถือว่าไปได้ดี แต่อาจจะช้ากว่าที่คิดไว้ แม้จะติดตั้งสถานีฐานได้หลายร้อยแห่ง แต่ยังเปิดใช้งานไม่ได้เพราะต้องรอใบอนุญาตใช้งานจาก กสทช.

“แผนธุรกิจคลื่น 2300 MHz ที่วางไว้ คาพาซิตี้ 60% ดีแทคใช้ งานอีก 40% ทีโอทีจะใช้เอง ซึ่งในจำนวนนี้ 20% จะให้บริการโมบาย อีก 20% สำหรับฟิกซ์ไวร์เลสบรอดแบนด์ ส่วน MVNO ยังต้องเจรจาเพิ่มและดูว่า จะสามารถใช้งานซิมเดียวบน 2 โครงข่ายได้หรือไม่”

คุมต้นทุนรัดเข็มขัดเพิ่ม

อีกส่วนหนึ่งจะเกิดจากความพยายามปรับปรุงระบบการทำงานทั้งหมด อย่างที่เห็นได้ชัดคือ เทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่แล้ว สามารถประหยัดค่าใช้จ่ายที่เป็นต้นทุนการดำเนินงานได้มากขึ้นกว่า 400 ล้านบาท แต่ก็ยังมีเรื่องที่ต้องทำต่อ คือ การปรับโครงสร้างต้นทุนของทีโอทีให้ดีกว่าเดิม เพราะยังมีสิ่งที่ต้องปรับให้ลดลงมาเท่ากับคู่แข่ง

“ต้นทุนของบางบริการยังสูงกว่ามาก อาทิ การพยายามจัดซื้ออุปกรณ์ที่แต่ละจังหวัดจัดซื้อกันเอง ทำให้ไม่มีปริมาณมากพอจะต่อรองราคาได้และมาตรฐานอุปกรณ์อาจจะแตกต่างกัน จึงมีความพยายามจะรวมการจัดซื้อให้เป็นก้อนใหญ่ โดยการตั้งเกณฑ์ไว้ว่า หากค่าจัดซื้อสูงกว่าครั้งก่อนก็จะตีกลับโครงการ”

พร้อมลุย IOT-ท่อร้อยสาย

อีกธุรกิจที่เร่งขยายคือ บริการด้านดิจิทัล ให้ทันกับความเปลี่ยนแปลงของเทคโนโลยี ซึ่งปัจจุบันมุ่งไปที่ธุรกิจไซเบอร์ซีเคียวริตี้ แต่อินเทอร์เน็ตออฟทิงส์ (IOT) เป็นอีกตลาดที่น่าสนใจ แต่ต้องหาตัวอย่างการใช้งานที่จะนำไปตอบโจทย์ในแต่ละอุตสาหกรรม เพื่อให้ลูกค้าเห็นประโยชน์จากการนำไปใช้ ไม่ใช่แค่การสร้างโครงข่ายเท่านั้น คาดว่าน่าจะเริ่มเห็นความชัดเจนเกี่ยวกับทิศทางธุรกิจนี้ของทีโอทีราว ๆ สิ้นปี

ด้านธุรกิจท่อร้อยสายโทรคมนาคม ที่หลายหน่วยงานรัฐพยายามผลักดันให้นำสายไฟและสายโทรคมนาคมลงใต้ดินให้หมด เพื่อลดอุบัติเหตุและสร้างทัศนียภาพให้กับเมือง ปัจจุบันทีโอทีมีท่อร้อยสายเหลืออยู่อีกมาก โดยเฉพาะในเขตกรุงเทพฯและเมืองใหญ่ จึงยังไม่จำเป็นต้องระดมทุนด้วยการตั้งกองทุนท่อร้อยสาย แต่กำลังรอให้โอเปอเรเตอร์ตัดสินใจเข้ามาเช่าใช้

“ตอนนี้ทีโอทีได้ปรับค่าเช่าท่อลง 50% ในส่วนของ 120 กิโลเมตรเขตกรุงเทพฯ ที่ล้อไปกับโครงการมหานครแห่งอาเซียนของการไฟฟ้านครหลวงที่จะนำสายไฟลงดิน ซึ่งมีในสมาคมโทรคมนาคมฯ ที่จะผลักดันให้มีการลดหย่อนค่าธรรมเนียมที่ต้องจ่ายให้กับ กสทช. สำหรับโอเปอเรเตอร์ที่นำสายลงดิน”

โครงสร้างใหม่ยังไม่ชัด

ส่วนอุปสรรคสำคัญคือ ความไม่แน่นอนเกี่ยวกับโครงสร้างขององค์กรว่าจะยังเดินหน้าแยกทรัพย์สินออกมารวมกับ บมจ.กสท โทรคมนาคม ตั้งเป็น 2 บริษัทลูก ตามนโยบายคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ (คนร.) หรือจะเป็นไปในแนวทางไหน หลังจากนายกรัฐมนตรีในฐานะประธาน คนร. แจ้งว่า หากจะไม่เอาโมเดลของรัฐบาลที่จะตั้ง 2 บริษัทลูกคือ NBN Co. (บริษัทโครงข่ายบรอดแบนด์แห่งชาติ) และ NGDC Co. (บริษัท โครงข่ายระหว่างประเทศและศูนย์ข้อมูลอินเทอร์เน็ต จำกัด) ก็ต้องมีข้อเสนอใหม่ที่ชัดเจนว่าดีกว่ามาเสนอ ดังนั้นทั้งฝ่ายบริหารและตัวแทนของพนักงานคือสหภาพแรงงานรัฐวิสาหกิจของทั้งคู่ และกระทรวงดีอี ต้องปรับ ซึ่งก็มีข้อเสนอเกี่ยวกับการควบรวม 2 บริษัทเป็นบริษัทโทรคมนาคมแห่งชาติ ซึ่งเป็นแนวคิดที่เคยเสนอมาหลายครั้งและถูกคัดค้านมาตลอด

“อุปสรรคในปีนี้คือ การปรับโครงสร้างองค์กรให้กระชับและลดการซ้ำซ้อนของงาน ที่ยังต้องรอทิศทางใหม่ ซึ่งก็ยังไม่รู้ว่าจะคืบหน้าหรือชัดเจนเมื่อใด โดยสัปดาห์หน้าจะมีการประชุมร่วมกับปลัดกระทรวงดีอี ว่าจะมีแนวทางที่จะสามารถเดินต่อกันได้อย่างไรบ้าง ส่วนการแยกทรัพย์สินและโอนไปสู่ 2 บริษัทลูกก็ต้องหยุดไว้ก่อน ตอนนี้ก็ต้องมุ่งไปที่การลดต้นทุนและหารายได้ใหม่เพิ่มเข้ามาช่วย”

เร่งสปีดโครงการภาครัฐ

ส่วนความท้าทายคือ การเดินหน้าโครงการภาครัฐให้เสร็จตามนโยบายรัฐบาล ที่ขีดเส้นไว้ในปีนี้ทั้งหมด ทั้งโครงการเน็ตชายขอบของ กสทช. ที่จะต้องให้เสร็จ 28 ก.ย. 2561 โครงการเชื่อมต่อโครงข่ายเน็ตประชารัฐเพื่อให้บริการอินเทอร์เน็ตความเร็วสูงไปยังโรงเรียนต่าง ๆ และโรงพยาบาลสร้างเสริมสุขภาพตำบล (รพ.สต.) ซึ่งกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอี) ได้งบประมาณกลางรายการค่าใช้จ่ายส่งเสริมและสร้างความเข้มแข็งเศรษฐกิจภายในประเทศประจำปีงบประมาณ 2560 (บิ๊กร็อก) มาเพิ่มเติมอีกรวมถึงโครงการเน็ตชายขอบ เฟส 2 ที่กระทรวงดีอีเสนอขอคณะรัฐมนตรีดำเนินการแทน กสทช. ที่กำลังเข้าที่ประชุม ครม.อยู่ หากได้รับอนุมัติจะต้องติดตั้งให้เสร็จภายในสิ้นปีนี้เช่นกัน