กสทช.อ่วม”ทรู-ช่อง3″จ่อฟ้อง จับตาเอเชี่ยนเกมส์ปม”มัสต์แครี่”รอบใหม่

“ทรูโฟร์ยู” ร่อนหนังสือบี้ “กสทช.” สั่ง “เอไอเอส” หยุดดึงสัญญาณออก “AIS PLAY-AIS PLAY BOX” ขู่ฟ้องเรียกค่าเสียหายพ่วงด้วย ชี้กฎมัสต์แครี่ไม่ครอบคลุมเน็ตทีวี ฟาก “ช่อง 3” ประกาศพร้อมใช้สิทธิทางศาล หลังโดนบีบให้ยุติใช้ผังช่องแอนะล็อกกับช่อง 3HD ขณะที่ “กสทช.” ลั่น ทำดีที่สุดแล้ว จับตา “เอเชี่ยนเกมส์” ในมือเวิร์คพอยท์เป็นเคสต่อไป ขณะที่ 7 ปี กสทช. ถูกฟ้องแล้ว 285 คดี

แหล่งข่าวภายในสำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) เปิดเผยกับ “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า มี 2 ความเสี่ยงที่ กสทช. จะถูกฟ้องจากกลุ่มทรูและกลุ่มบีอีซี หลังจากเมื่อ 6 ก.ค. 2561 บริษัท ทรูโฟร์ยู สเตชั่น เจ้าของช่องทีวีดิจิทัล “true4U” ได้ทำหนังสือแจ้ง กสทช. ขอให้ใช้อำนาจออกคำสั่งระงับการดำเนินการของผู้รับใบอนุญาตที่ฝ่าฝืนประกาศ กสทช. เรื่อง หลักเกณฑ์การเผยแพร่กิจการโทรทัศน์ที่ให้บริการเป็นการทั่วไป (มัสต์แครี่)โดยระบุว่า ประกาศมัสต์แครี่ ไม่ได้กำหนดให้บริษัทจะต้องนำช่องรายการไปออกอากาศผ่านระบบอินเทอร์เน็ต IPTV ดังนั้นบริษัทจึงมีสิทธิโดยชอบที่จะไม่อนุญาตให้บริษัท ซุปเปอร์บรอดแบนด์ เน็ทเวอร์ค จำกัด (SBN) ในเครือเอไอเอส นำรายการของ True4U ไปออกอากาศบน AIS PLAY และ AIS PLAYBOX

เป็น OTT-ขู่ฟ้องเรียกค่าเสียหาย

ทั้งยังพบว่าเอไอเอสระบุในแบบแจ้งข้อมูลต่อสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) ว่า ทั้ง 2 บริการของ SBN เป็นการให้บริการแบบ OTT (Over the Top) ไม่ได้ให้บริการในลักษณะทีวีบอกรับสมาชิกผ่านระบบอินเทอร์เน็ต (IPTV) ตามที่อ้างที่ผ่านมาบริษัทได้มีการแจ้งเตือน SBN แล้วแต่ยังเพิกเฉย จึงแจ้งให้ กสทช. ในฐานะผู้กำกับดูแลมีคำสั่งให้ SBN ยุติการกระทำในทันที หากไม่ดำเนินการ ถือเป็นการกระทำละเมิดทางปกครอง ซึ่งบริษัทขอสงวนสิทธิในการใช้สิทธิตามกฎหมายเพื่อเรียกร้องเอาค่าเสียหายจากสำนักงาน กสทช.

ช่อง 3 พร้อมฟ้อง

ขณะเดียวกันทางบริษัทบางกอกเอ็นเตอร์เทนเม้นต์ จำกัด ผู้ให้บริการทีวีแอนะล็อก “ช่อง 3” ได้ส่งหนังสือตอบรับมายังสำนักงาน กสทช.ว่า พร้อมจะใช้สิทธิทางศาล หลังจากสำนักงาน กสทช.มีหนังสือแจ้งให้ยุติการออกอากาศคู่ขนาน (Simulcast) ผ่านทางช่องทีวีดิจิทัล “ช่อง 3HD” หมายเลข 33 ตั้งแต่ 16 ก.ค. 2561 ตามมติ “กสท.” คณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ ที่จะให้แต่ละช่องมีผังรายการแยกต่างกัน โดยช่อง 3 ยืนยันว่า จะต้องทำตามข้อตกลงเดิมที่ทำร่วมกับ กสทช. ไว้ ณ ศาลปกครองเมื่อ 8 ต.ค. 2557 ที่ตกลงจะให้ช่อง 3 แอนะล็อกออกอากาศคู่ขนานผ่านทางช่องดิจิทัล

ยืนยันมติมัสต์แครี่ชัดเจน

ด้าน พ.อ.นที ศุกลรัตน์ รองประธาน กสทช. เปิดเผยกับ “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า ทั้งกรณีของ true4U และช่อง 3 เมื่อบอร์ดมีมติไปแล้ว ก็ต้องเดินตาม ถือว่าทำดีที่สุดแล้ว แม้ว่าจะถูกเอกชนฟ้อง

“ประกาศมัสต์แครี่ระบุหน้าที่ของช่องให้เผยแพร่ทั้งช่องทางภาคพื้นดินและดาวเทียม ขณะที่เจ้าของโครงข่ายทีวีบอกรับสมาชิกก็มีหน้าที่ต้องนำคอนเทนต์ไปให้สมาชิกในทุกช่องทาง กรณีของ SBN ขอบเขตใบอนุญาตที่ได้จาก กสทช.ครอบคลุมการให้บริการคอนเทนต์บนโครงข่ายอินเทอร์เน็ตและมือถือ คือทั้ง กล่องรับสัญญาณและแอปพลิเคชั่นบนสมาร์ทโฟน จึงถือว่ามีหน้าที่ต้องปฏิบัติตามประกาศมัสต์แครี่”

โดยในที่ประชุม กสทช. เมื่อ 30 พ.ค. 2561 ซึ่งอนุมัติวาระที่ “ทรูวิชั่นส์” แจ้งสิทธิการถ่ายทอดสดฟุตบอลโลก ได้ย้ำให้ทางสำนักงาน กสทช.ทำหนังสือแจ้งไปยัง SBN บมจ.ทีโอที บมจ.บีอีซี เวิลด์ ถึงสิทธิและหน้าที่แล้ว

“บอร์ดวางมติไว้ชัดแล้วว่า เจ้าของสิทธิต้องเจรจาการถ่ายทอดมาให้ครบ แต่พอมีการถ่ายทอดในลักษณะนี้ผู้ประกอบการก็คิดตีความเข้าข้างตัวเอง ก็เลยต้องไปทะเลาะกันต่อที่ศาล อย่างก่อนนี้การถ่ายทอดสดวอลเล่ย์บอลหญิงชิงแชมป์โลก ทั้งทรูและเอไอเอสก็นำไปออกในแพลตฟอร์มตัวเอง ทั้ง TrueID AIS PLAY แต่พอตัวเองถือสิทธิก็จะห้ามคนอื่น ปัญหานี้ก็จะมีมาเรื่อย ๆ เดี๋ยว ส.ค. จะมีเอเชี่ยนเกมส์ 2018 ทางช่องเวิร์คพอยท์ ที่เป็นเจ้าของลิขสิทธิ์ถ่ายทอดสด ก็เริ่มทำหนังสือแจ้งห้ามแบบนี้แล้วเหมือนกัน”

“ฟ้องศาล”ถ้าไม่เห็นด้วย

ส่วนกรณีการยุติการออกอากาศคู่ขนานของช่อง 3 แอนะล็อกผ่านทางทีวีดิจิทัล “3HD” นั้น รองประธาน กสทช.กล่าวว่า เป็นไปตามมติของคณะกรรมการกิจกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ (กสท.) เมื่อปีก่อน ตั้งแต่ครั้งที่ กสทช. สุภิญญา กลางณรงค์ ยังอยู่ในตำแหน่ง แต่ตนเองไม่ได้ร่วมประชุมด้วย เพราะมีจุดยืนชัดเจนตั้งแต่ต้นว่า ช่อง 3 แอนะล็อกไม่มีสิทธิออกอากาศคู่ขนานได้ เพราะเป็นคนละนิติบุคคล

“แต่เมื่อเป็นมติบอร์ด กสท.ไปแล้ว ทางสำนักงานก็จำเป็นต้องมีคำสั่งออกไป ไม่สามารถเปลี่ยนได้ ทางออกคือถ้าเอกชนไม่เห็นด้วยก็ต้องยื่นฟ้องต่อศาลปกครอง แต่ยืนยันว่าที่ผ่านมาทั้งบอร์ด กสท.และ กสทช. ยังไม่เคยกำหนดวันยุติระบบทีวีแอนะล็อกของประเทศให้เป็นวันที่ 16 ก.ค. 2561”

หยุดคู่ขนานแก้ปม กม.

ด้าน กสทช.ธวัชชัย จิตรภาษ์นันท์ กล่าวกับ “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า มติบอร์ดที่ต้องให้ช่อง 3 แอนะล็อกยุติการออกอากาศคู่ขนาน เป็นการแก้ปัญหาในมิติด้านกฎหมาย เนื่องจากมีกรณีฟ้องร้องกันมาก่อน

ขณะที่แหล่งข่าวภายใน กสทช.เปิดเผยว่า ที่มาของการต้องมีมติบอร์ดกำหนดวันยุติการออกอากาศคู่ขนานของช่อง 3 แอนะล็อก ผ่านทางช่อง “3HD” เนื่องจาก สำนักงานตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) ได้ส่งหนังสือแจ้งให้ทบทวนการดำเนินการ เพราะทั้ง 2 ช่องเป็นคนละนิติบุคคล การดำเนินการดังกล่าวจึงอาจขัดกับมาตรา 9 พ.ร.บ.การประกอบกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์ และมาตรา 43 พ.ร.บ. กสทช. ถูกฟ้อง 285 คดี 3.7 แสนล้าน

ที่ผ่านมาตั้งแต่มีบอร์ด กสทช. ในปี 2554 ขึ้นมากำกับดูแลกิจการบรอดแคสต์และโทรคมนาคม จากข้อมูลของศาลปกครองพบว่า มีคดีที่ถูกยื่นฟ้องทั้งหมดกว่า 285 คดี ขณะที่ตามรายงานการปฏิบัติงานประจำปี 2560 ได้มีการสรุปคดีข้อพิพาทที่สำคัญไว้ทั้งหมด 40 คดี ซึ่งรวมแล้วมีมูลค่าทุนทรัพย์ในคดีกว่า 375,133 ล้านบาท ซึ่งเป็นคดีที่เกิดจากด้านบรอดแคสต์ 13 คดี มูลค่าทุนทรัพย์ที่ถูกฟ้อง 19,941 ล้านบาท