ดีแทค-เอไอเอสเข้ารับเอกสารประมูลคลื่น 1,800 และ 900 MHz

ดีแทค-เอไอเอสเข้ารับเอกสารประมูลคลื่น 1,800 และ 900 MHz ด้านกสทช.มั่นใจ ประมูลแน่ เชื่อ 3 มาตรการช่วยดึงดูด

นายฐากร ตัณฑสิทธิ์ เลขาธิการกรรมการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (เลขาธิการ กสทช.) กล่าวว่า สำนักงานฯ เปิดให้ผู้ที่สนใจรับเอกสารคำขอเข้าร่วมการประมูลคลื่น 1800 MHZ และ 900 MHZ โดยมี 4 บริษัทมารับเอกสาร ได้แก่ บริษัท แอนวานซ์ ไวร์เลส เน็ทเวอร์ค จำกัด (เอดับบลิวเอ็น), บริษัท แอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส จํากัด (มหาชน) (เอไอเอส), บริษัท ดีแทคไตรเน็ต และ บริษัท ดีแทค บรอดแบนด์ โดยรับเอกสารทั้ง 2 คลื่นความถี่ ส่วนบริษัท ทรู แจ้งว่าจะมารับเอกสารในวัน 19-20 กรกฎาคมนี้ เนื่องจากกำลังหารือกันภายใน แต่คาดว่าจะรับทั้ง 2 คลื่น อย่างไรก็ตามจะมีการยื่นซองประมูลในวันที่ 8 สิงหาคม ถ้าไม่มีใครยื่นเลยก็ต้องเก็บไว้ แต่มั่นใจว่าจะมีการยื่นทั้ง 2 คลื่น เพียงแต่จะยื่นกี่ราย ถ้ารายเดียวก็ต้องเลื่อนการประมูลไปอีก 30 วัน

“ผมมั่นใจว่าจะยื่นประมูลแน่นอน 99% เนื่องจากมีแรงดึงดูดจาก 3 ปัจจัย ได้แก่ 1.คลื่น 1800 MHz ได้ซอยเป็นใบอนุญาตละ 5 MHz 9 ใบ จากเดิมเป็นใบอนุญาตละ 15 MHz 3 ใบ 2.สามารถสลับชุดคลื่นความถี่ไปใช้คลื่นที่ใกล้เคียงกับคลื่นที่ตัวเองมีได้ 3.กรณีดีแทคถ้าชนะคลื่น 900 MHz สามารถใช้คลื่น 850 MHz เดิมได้ จนกว่าจะติดตั้งเสาสัญญาณเสร็จ ซึ่งคาดว่าดีแทคอาจต้องใช้เวลาประมาณ 18 เดือน ถึง 2 ปี”

ในส่วนของมาตรการเยียวยาคลื่น 1800 MHz และ 900 MHz มติที่ประชุมของอนุกรรมการกลั่นกรองได้มีมติและจะเข้าที่ประชุมของกสทช.ในวันที่ 18 กรกฎาคม โดยการจะได้รับการเยียวยาต้องมีความประสงค์ที่จะ ใช้งานคลื่นความถี่ หรือคือยื่นประมูลคลื่น แต่ถ้าไม่ประมูลก็จะไม่ได้เยียวยา ดังนั้นจะชนะหรือไม่ แต่ถ้าเข้าร่วมประมูลก็จะได้รับการเยียวยา เพราะสัญญาสัมปทานจะหมดใน 15 กันยายน ขณะที่กรอบระยะเวลาในการชำระค่าประมูลอยู่ที่ 90 วัน ดังนั้นระยะเวลาเยียวยาจะอยู่ประมาณ 2 เดือน

ด้านนายสมชัย เลิศสุทธิวงศ์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท แอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า เอไอเอสจะประมูลทั้ง 2 คลื่นหรือไม่นั้นต้องรอผลการศึกษา เพราะว่าเป็นบริษัทในตลาดหลักทรัพย์ดังนั้นจะมีขั้นตอน ดังนั้นตอนนี้กำลังให้ที่ปรึกษาศึกษาเงื่อนไข กฎเกณฑ์ กติกาต่าง ๆ กับสภาพธุรกิจในปัจจุบันว่าเป็นอย่างไร เพื่อทำการพิจารณา นอกจากนี้ยังมีปัจจัยอื่น ๆ เช่น ความต้องการลูกค้า ความต้องการบริษัท รวมทั้งคำนึงถึงเทคโนโลยีในอนาคต แต่ทุกคลื่นความถี่ที่มีการประมูลถือว่าเป็นโอกาส เพราะคลื่นเป็นสิ่งสำคัญ แต่ในวันนี้เอไอเอสยังมีคลื่นเพียงพอในการให้บริการ