“ดีแทค” ไตรมาส 2 ลูกค้าหด 2 แสนราย กำไรสุทธิ 179 ล้าน ประกาศปันผล 1.01 บาท

บริษัท โทเทิ่ล แอ็คเซ็ส คอมมูนิเคชั่น จำกัด (มหาชน) หรือดีแทค รายงานผลประกอบการไตรมาส 2 ปี 2561 ต่อตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย เมื่อ 16 กรกฎาคม 2561

โดยระบุว่า ดีแทคยังคงมุ่งหน้าเสริมสร้างความคุ้มค่าโดยการเปิดตัว “ดีแทคเทอร์โบ” บริการ 4G ใหม่บนคลื่นความถี่ 2300 MHz ภายใต้การร่วมมือกับบริษัท ทีโอที จำกัด (มหาชน)  ซึ่งพร้อมติดตั้งสถานีฐานอย่างน้อย 7,000 แห่ง ครอบคลุม 37 จังหวัดใหญ่ทั่วประเทศภายในสิ้นปีนี้

ณ สิ้นไตรมาส 2 ปี 2561 บริษัทมีฐานลูกค้ารวมอยู่ที่ 21.6 ล้านราย ลดลงจากไตรมาส 1 /2561 กว่า 200,000 เลขหมาย แต่จำนวนลูกค้าที่ลดลงสุทธิปรับตัวดีขึ้นจากไตรมาสก่อน  โดยราว 98% ลงทะเบียนใช้งานภายใต้บริษัทดีแทค ไตรเน็ต ซึ่งเป็นบริษัทในเครือที่ได้รับใบอนุญาตใช้คลื่น 2100 MHz จาก กสทช. ซึ่งปัจจุบันมีเครือข่ายครอบคลุม 94% ของประชากรทั่วทั้งประเทศ

รายได้จากการให้บริการไม่รวม IC ลดลง 2.3% จากปีก่อน สาเหตุหลักมาจากการลดลงของรายได้จากบริการโทรทางไกลระหว่างประเทศ ในขณะที่รายได้จากการให้บริการหลัก (รายได้จากบริการเสียงและข้อมูล) ยังอยู่ที่ระดับคงที่

ส่วนกำไรสุทธิอยู่ที่ 179 ล้านบาท ลดลง 76% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน หรือ 86% จากไตรมาสก่อน ส่วนใหญ่มาจาก EBITDA ที่ลดลง ค่าเสื่อมราคาและค่าตัดจำหน่ายที่เพิ่มขึ้น

ขณะที่ในครึ่งแรกของปีนี้ ได้ใช้เงินลงทุน 5,484 ล้านบาท จากประมาณทั้งปีที่คาดว่าจะลงทุนราว 15,000 – 18,000 ล้านบาท

อัตราส่วนทางการเงินที่สำคัญปรับตัวดีขึ้นอย่างต่อเนื่อง ได้แก่ อัตราส่วนหนี้สินสุทธิต่อ EBITDA อยู่ที่ 0.6 เท่า อัตราส่วนหนี้สินสุทธิต่อทุนอยู่ที่ 1.6 เท่า และเงินสดในมืออยู่ที่ 3.13 หมื่นล้านบาท ซึ่งแสดงถึงฐานะการเงินที่แข็งแกร่งและมีความยืดหยุ่นในการตัดสินใจลงทุนในอนาคตของดีแทค และจากผลการดำเนินงานครึ่งแรกของปี 2561 บริษัทประกาศจ่ายเงินปันผลในอัตรา 1.01 บาทต่อหุ้น

นายลาร์ส นอร์ลิ่ง ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ดีแทค

นายลาร์ส นอร์ลิ่ง ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ดีแทค กล่าวว่า ดีแทคมีผลประกอบการที่แข็งแกร่งในไตรมาสที่ 2 ของปี 2561 ถึงแม้จะมีการชำระเงินจำนวน 840 ล้านบาทให้กับทีโอที แต่ EBITDA margin ยังคงรักษาระดับที่สูงกว่า 40% ซึ่งเป็นผลจากการควบคุมค่าใช้จ่ายที่เข้มแข็ง ภายใต้แนวทางการปรับปรุงประสิทธิภาพของการทำงาน นอกจากนี้ การพัฒนาบริการและดูแลลูกค้าปรับตัวดีขึ้น ทั้งในกลุ่มลูกค้าระบบเติมเงินและระบบรายเดือน อันเป็นผลจากกลยุทธ์การสร้างความคุ้มค่าให้แก่ลูกค้า ซึ่งถูกเสริมโดยการเปิดตัวของโครงข่ายดีแทคเทอร์โบ

“สุดท้ายนี้ ดีแทคกำลังพิจารณาข้อกำหนดและเงื่อนไขของการประมูลคลื่นความถี่ 900 MHz และ 1800 MHz เพื่อประเมินมูลค่าที่เหมาะสมของคลื่นความถี่ทั้งสองคลื่น ทั้งนี้บอร์ดบริหารของดีแทคจะตัดสินใจเกี่ยวกับการเข้าร่วมประมูลเมื่อถึงเวลาที่เหมาะสม ซึ่งดีแทคมั่นใจว่าจะสามารถให้บริการลูกค้าได้ต่อเนื่องอย่างไม่มีผลกระทบ ไม่ว่าผลของการประมูลคลื่นความถี่จะเป็นเช่นไร”