“ดีแทค” ไม่ฟันธง ประมูล “คลื่น 900 MHz” เหตุข้อกำหนดผู้ชนะกระทบอุตสาหกรรมโทรคมนาคม

นายราจีฟ บาวา รองประธานเจ้าหน้าที่บริหาร กลุ่มกิจการองค์กรและพัฒนาธุรกิจ บริษัท โทเทิ่ล แอ็คเซ็ส คอมมูนิเคชั่น จำกัด (มหาชน) หรือดีแทค กล่าวว่า ดีแทคมีความกังวลต่อข้อกำหนดเงื่อนไขการประมูลใหม่ ในเงื่อนไขในการอนุญาตข้อ 16, 17 และ 18 ที่กำหนดให้ผู้ชนะการประมูลคลื่น 900 MHz จะต้องมีหน้าที่รับผิดชอบในการป้องกันและแก้ไขปัญหาการรบกวนกันของคลื่นความถี่และการรบกวนระบบอาณัติสัญญาณของระบบคมนาคมขนส่งทางรางทั้งหมดแต่เพียงผู้เดียว รวมถึงรับผิดชอบแก้ไขให้แก่ผู้รับใบอนุญาตคลื่นความถี่ 850 MHz และ 900 MHz รายอื่นด้วย

โดยดีแทคชี้แจงประเด็นหลักได้แก่ 1.ค่าใช้จ่าย โดยจำนวนเงินที่ กสทช. ลดราคาขั้นต่ำของการประมูลให้จำนวน 2,000 ล้านบาท มองว่าไม่ครอบคลุมงบประมาณในการดำเนินการสร้างระบบป้องกันคลื่นสัญญาณรบกวน (Filter) ให้กับผู้ที่ให้บริการโทรคมนาคมรายอื่น และระบบคมนาคมขนส่งทางราง แม้ขณะนี้จะยังไม่ได้มีผลวิเคราะห์งบประมาณอย่างแน่นอน แต่ดีแทคประเมินว่าค่าใช้จ่ายจะสูงกว่าการลดราคาขั้นต่ำของการประมูลมาก เนื่องจากในส่วนของระบบคมนาคมขนส่งทางราง ยังมีมีการกำหนดจำนวนเสาสัญญาณที่ชัดเจน ดังนั้นจึงทำให้มีความเสี่ยงและความไม่แน่นอนด้านงบประมาณค่าใช้จ่ายและการดำเนินงานเพิ่มขึ้นอีกมาก

2.ความเสี่ยงในการดำเนินงาน เนื่องจากการเข้าไปดำเนินการติดตั้งระบบป้องกันคลื่นสัญญาณรบกวน ในสถานีฐานของผู้รับใบอนุญาตรายเดิมทั้งหมดที่มีอยู่ซึ่งเป็นเรื่องยากมากในทางปฏิบัติ

3.ถ้าการรบกวนสัญญาณยังเกิด แม้มีการติดตั้งระบบป้องกันแล้ว ในเงื่อนไขการประมูลจะมีการสว็อปคลื่นสัญญาณไปคลื่นอื่น ซึ่งเป็นเรื่องที่ใหญ่สำหรับผู้ประกอบการ ดังนั้นอาจจะเกิดภาระค่าใช้จ่ายเพิ่มเติม

นอกจากนั้น ตามที่ดีแทคได้ส่งหนังสือถึง กสทช. เมื่อวันที่ 25 มิถุนายน ที่ผ่านมา โดยระบุว่า การเปลี่ยนเป็นคลื่น 900 MHz เพื่อให้บริการครอบคลุมทั่วประเทศด้วยสถานีฐานประมาณ 13,000 สถานี จะต้องใช้เวลาในการติดตั้งอุปกรณ์ใหม่ประมาณ 24 เดือน ดังนั้น ดีแทคจึงขอความชัดเจนในการใช้งานคลื่น 850 MHz เพื่อให้บริการลูกค้าระหว่างการดำเนินการปรับเปลี่ยนดังกล่าว

เบื้องต้น ดีแทคมองว่า แม้ว่าข้อกำหนดจะอยู่ในราชกิจจานุเบกษา แม้จะรู้ว่าไม่สามารถแก้ไขได้ แต่อยากให้ออกประกาศเพิ่มเติมให้ชัดเจนในบางประเด็น เช่น จำนวนไซด์ทั้งหมดมีเท่าไหร่ เพื่อให้ลดความเสี่ยงในการลงทุน เพราะข้อมูลตอนนี้มันยังไม่เพียงพอ หรือให้ต่างคนต่างทำฟิลเตอร์เอง และมาเบิกกับกสทช.ตามจริง แต่อาจจะยุ่งยากกับกสทช.

“เรามองว่าภายในสิ้นปีเรามีคลื่น 2100 MHz ที่จะขยายไซด์อีก 4,000 แห่งและมีคลื่น 2300 MHz และจะขยายไซด์ 7,000 แห่ง โดยทั้ง 2 คลื่นสามารถให้บริการเดต้าได้ดี โดยเราอาจจะพิจารณาเข้าประมูลคลื่น 1800 MHz แต่คลื่น 900 MHz อาจต้องรอความชัดเจน ซึ่งถ้ามีการปรับข้อกำหนดต่าง ๆ เชื่อว่าจะทำให้เราตัดสินใจได้ง่ายว่าจะเข้าประมูลหรือไม่”