GSMA ย้ำราคาประมูลคลื่นสูงทำผู้บริโภค “จ่ายแพง-เน็ตอืด” ชี้ระบบป้องกันคลื่นคือความปลอดภัยสาธารณะอย่าโยนค่ายมือถือ

ผู้สื่อข่าว “ประชาชาติธุรกิจ” รายงานว่า สมาคม GSMA ได้ศึกษาผลกระทบเกี่ยวกับราคาประมูลคลื่นในประเทศกำลังพัฒนาที่มีต่อผู้บริโภค โดยเก็บข้อมูลในช่วงปี ค.ศ. 2010  – 2017  ซึ่งผลการศึกษาพบว่า ผู้บริโภคในประเทศกำลังพัฒนาได้รับผลกระทบอย่างมากจากราคาประมูลคลื่นที่สูง ทั้งในแง่ที่ต้องจ่ายค่าบริการที่มีราคาสูง การขยายโครงข่ายให้ครอบคลุมที่ล่าช้าและการให้บริการโมบายอินเทอร์เน็ตที่มีความเร็วต่ำ

นายเบร็ต  ทาร์นัตเซอร์ ประธานด้านคลื่นความถี่ของ GSMA เปิดเผยว่า ก่อนหน้านี้ก็มีผลการศึกษาในประเทศที่พัฒนาแล้วว่า ราคาประมูลคลื่นมีผลกระทบต่อผู้บริโภค และเพื่อให้เกิดความสมบูรณ์ขึ้นได้มีการศึกษาเฉพาะในประเทศที่กำลังพัฒนา เนื่องจากที่มีผ่านมามีการศึกษาผลกระทบในกลุ่มนี้น้อย ด้วยผลการศึกษาที่พบนี้ก็ช่วยยืนยันว่า ผู้บริโภคทั่วโลกกำลังได้รับผลกระทบจากราคาประมูลคลื่นความถี่สำหรับบริการโทรคมนาคมที่สูงเกินไป  เพราะแทนที่ผู้ให้บริการจะนำเงินลงทุนไปขยายโครงข่ายพัฒนาบริการให้ดีขึ้น กลับต้องนำมาใช้สำหรับจ่ายเงินประมูลคลื่นเพื่อนำไปให้บริการ

โดยเฉพาะในประเทศที่กำลังพัฒนาผลการศึกษาพบว่า ราคาเริ่มต้นประมูลคลื่นสูงกว่าประเทศที่พัฒนาแล้วถึง 5 เท่า และราคาสิ้นสุดการประมูลสูงกว่าประเทศพัฒนาแล้วถึง 3 เท่า

“ภาครัฐควรมีบทบาทสำคัญในการปกป้องไม่ให้ประชาชนได้รับผลกระทบจากราคาประมูลที่สูงเกินไป ขณะเดียวกัน GSMA มีข้อกังวลเกี่ยวกับเงื่อนไขการประมูลที่ กสทช.ในย่าน 900 MHz ที่กำหนดให้ผู้ชนะประมูลมีภาระต้องลงทุนระบบป้องกันคลื่นรบกวนกับระบบอาณัติสัญญาณของรถไฟความเร็วสูง เท่ากับเป็นการส่งผ่านหน้าที่ในการรักษาความปลอดภัยของประชาชนจากการใช้บริการสาธารณะไปสู่ผู้ชนะประมูล ซึ่งเป็นสิ่งที่ไม่ควรทำ ทั้งราคาเริ่มต้นประมูลที่ลดลงเล็กน้อยเป็นสัดส่วนที่เล็กน้อยมากเมื่อเทียบกับภาระที่ต้องดูแลความปลอดภัยประชาชน

ดังนั้น GSMA เสนอให้มีการทบทวนทั้งราคาเริ่มต้นประมูล การกำหนดเงื่อนไขการลงทุนระบบป้องกันคลื่นรบกวน ซึ่งหากยังยืนยันว่าจะใช้คลื่น 900 MHz ในย่านที่ใกล้เคียงกับที่ระบบอาณัติสัญญาณรถไฟความเร็วสูงใช้ก็ควรจะต้องมีการลดราคาลงมากกว่านี้  ที่สำคัญคือ ต้องมีการกำหนดแผนการจัดสรรคลื่นความถี่ในระยะยาวที่มีความชัดเจน และสร้างความมั่นใจในการลงทุนของผู้ให้บริการได้