ผ่าแผน 5 หมื่นล้าน “กทปส.” ปูพรมเน็ตชายขอบซัพพอร์ตทีวีดิจิทัล

เปิดแผนใช้เงิน “กทปส.” กองทุน5 หมื่นล้าน ควัก 3 หมื่นล้านลุย “เน็ตชายขอบ” กัน 4.6 พันล้านอุดหนุน “ทีวีดิจิทัล” ทั้งค่ามัสต์แครี่-MUX-คูปองทีวีดิจิทัล พร้อมเดินหน้าให้ทุนวิจัย 900 ล้านบาท โชว์ผลงาน 6 ปี จด 4 สิทธิบัตร

นายนิพนธ์ จงวิชิต รักษาการผู้จัดการกองทุนวิจัยและพัฒนากิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์และกิจการโทรคมนาคม เพื่อประโยชน์สาธารณะ (กทปส.) สำนักงาน กสทช. เปิดเผยกับ “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า ปัจจุบันเงินสะสมคงเหลือของกองทุนอยู่ที่ราว 50,100 ล้านบาท แต่มีภาระผูกพันที่ต้องกันเงินไว้ 22,000 ล้านบาท อาทิ โครงการสนับสนุนคูปองทีวีดิจิทัลให้กับประชาชน เฟสแรก 242 ล้านบาท กับเฟส 2 ที่ใช้บัตรประชาชนไปแลก 417 ล้านบาท ซึ่งเป็นส่วนที่ประชาชนไปใช้สิทธิ์แล้ว แต่ยังไม่ได้เบิกเงิน กับส่วนที่ประชาชนยังไม่ได้ใช้สิทธิ์ 1,100 ล้านบาท และเงินสนับสนุนค่าเช่าช่องสัญญาณดาวเทียมสำหรับการเผยแพร่ช่องทีวีดิจิทัลตามประกาศมัสต์แครี่ของ กสทช. 1,500 ล้านบาท เงินสนับสนุนค่าเช่าโครงข่ายทีวีดิจิทัล (MUX) ตามคำสั่ง คสช. เบื้องต้นอยู่ที่ราว 2,100 ล้านบาท แต่หลังจากประกาศลดค่าเช่า 20% ก็น่าจะลดวงเงินได้ 400-500 ล้านบาท

“ก้อนใหญ่สุดคือโครงการเน็ตชายขอบ (โครงการจัดให้มีสัญญาณโทรศัพท์เคลื่อนที่และบริการอินเทอร์เน็ตความเร็วสูงในพื้นที่ชายขอบ) เฟสแรก 3,920 หมู่บ้าน 13,100 ล้านบาท เฟส 2 อีก 15,732 หมู่บ้าน 15,000 ล้านบาท

20,000 ล้าน-USO โทรคมฯ

ปัจจุบันรายได้หลักกองทุนมาจากเงินสมทบเพื่อบริการสาธารณะอย่างทั่วถึง (USO) จากผู้รับใบอนุญาตจาก กสทช. โดยในฝั่งบรอดแคสต์จะไม่เกิน 2% ของรายได้ และ 2.5% สำหรับผู้ประกอบการโทรคมนาคม

“แต่ละปีเงินสมทบฝั่งโทรคมนาคมเข้ากองทุนปีละ 9,000 ล้านบาท ส่วนฝั่งบรอดแคสต์เพิ่งมีเงินสมทบเข้าเป็นปีแรก 475 ล้านบาท ซึ่งกฎหมายกำหนดชัดเจนว่าเงินสมทบฝั่งโทรคมนาคมจะต้องใช้เพื่อ USO ฝั่งโทรคมฯเท่านั้น แต่เงินฝั่งบรอดแคสต์ใช้ได้กับทุกวัตถุประสงค์ ฉะนั้น ก้อนที่เหลือ 28,000 ล้านบาทจะถูกใช้กับ USO โทรคมนาคมราว 20,000 ล้านบาท ซึ่งประกาศแผน 5 ปีไว้แล้ว”

วิจัยผลกระทบคลื่นต่อสุขภาพขณะเดียวกัน มีกรอบวงเงินสนับสนุนการวิจัยปีนี้ 900 ล้านบาท แยกเป็นการเปิดรับโครงการที่ผู้วิจัยเสนอหัวข้อมา 300 ล้านบาท ซึ่งปีนี้จะเน้นตอบโจทย์ไทยแลนด์ 4.0 ด้านการเงิน สมาร์ทซิตี้ สุขภาพ และการเกษตร และมีอีก 600 ล้านบาทหัวข้อวิจัยที่กองทุนกำหนด แต่เนื่องจากบอร์ดชุดปัจจุบันซึ่งครบวาระไปแล้วแต่ปฏิบัติหน้าที่ตามคำสั่ง คสช. จึงมีแต่หัวข้อฝั่งโทรคมนาคม 10 โครงการวงเงิน 200 ล้านบาท ซึ่งจะทยอยประกาศรับสมัคร

“หลัก ๆ คือ ศึกษาผลกระทบเกี่ยวกับคลื่นความถี่ต่อสุขภาพของประชาชน วงเงิน 20 ล้านบาท เพื่อให้มีงานวิจัยในนามของ กสทช. ซึ่งเป็นโครงการระยะ 2-3 ปี พร้อมมีแผนมอนิเตอร์กลุ่มตัวอย่างอีก 10 ปี”

ยื่นขอเพียบแต่ไม่ผ่านเกณฑ์

“แต่ละปีมีโครงการที่เป็นงานวิจัยล้วน ๆ 20% ที่เหลือเป็นโครงการพัฒนาคน ส่งเสริมการรู้เท่าทันสื่อเทคโนโลยี การคุ้มครองผู้บริโภค”

โดย กทปส.เริ่มให้เงินสนับสนุนกับโครงการวิจัยและพัฒนา ปีแรกคือปี 2556 มีกรอบวงเงิน 150 ล้านบาท แต่ผ่านเกณฑ์ 10 โครงการ 36 ล้านบาทปี 2557 กรอบ 500 ล้านบาท ผ่านเกณฑ์ 30 โครงการ 120 ล้านบาท ปี 2558 กรอบ 1,000 ล้านบาท แต่กว่าจะจบกระบวนการพิจารณาให้ทุนได้จริงคือ ปี 2560 มี 40 โครงการ 300 ล้านบาท

สาเหตุที่ไม่ผ่านการอนุมัติ 1.ขอเป็นภารกิจประจำของหน่วยงานนั้น ซึ่งควรจะใช้งบประมาณประจำของตัวเอง 2.ไม่ตรงกับวัตถุประสงค์กองทุน และ 3.โครงการเขียนมาไม่ชัดเจน หรือพิจารณาแล้วว่าเป็นไปไม่ได้ที่จะทำให้สำเร็จ

“วงเงินวิจัยอาจจะดูน้อยเมื่อเทียบกับเงินกองทุน แต่รายได้กองทุน 80-90% มาจากเงินสมทบ USO ภารกิจนี้จึงเป็นเรื่องใหญ่สุด และถ้า กทปส.ไม่ทำก็ไม่มีกองทุนอื่นทำ ต่างจากงานวิจัยที่ยังมีกองทุนอื่น ๆ สนับสนุน”

หน่วยงานรัฐของบฯพิเศษ

ส่วนการของบประมาณสนับสนุนพิเศษของหน่วยงานรัฐ กองทุนมีเกณฑ์ว่า 1.ทุกโครงการต้องมีรัฐมนตรีต้นสังกัดลงนามขอรับการสนับสนุน 2.ถ้าวงเงินเกินพันล้านบาทต้องเสนอให้คณะรัฐมนตรีอนุมัติ 3.ต้องเป็นส่วนราชการเท่านั้นไม่ใช่องค์กรมหาชนหรือรัฐวิสาหกิจ 4.ต้องตรงกับวัตถุประสงค์ของกองทุนที่จะอนุมัติให้ได้

ส่วน 14,000 ล้านบาทที่รัฐบาลยืมไปใช้บริหารจัดการน้ำ ทยอยคืนมาแล้ว 4,000 ล้านบาท เดิมต้องคืนให้ครบภายใน 4 ปี ก็คงต้องขยาย MOU ออกไป

“ก่อนนี้เปิดช่องให้กระทรวงการคลังยืมเงินได้ แต่ พ.ร.บ.ล่าสุดไม่ได้แล้ว”

6 ปี 4 สิทธิบัตร

6 ปีที่ของกองทุนมี 4 โครงการวิจัยที่ได้จดสิทธิบัตรไปแล้ว ได้แก่ 1.ระบบติดตามและอุปกรณ์ช่วยเหลือผู้พิการและผู้ป่วยในการทำกายภาพบำบัดผ่านเครือข่ายสื่อสาร มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ 2.การสนับสนุนเวชศาสตร์การป้องกัน ม.หอการค้าไทย 3. การเชื่อมต่อเครือข่ายแบบไร้สายภายในบ้านอัจฉริยะสำหรับผู้สูงอายุ ม.สงขลาฯ 4.สายอากาศทีวีดิจิทัลแถบความถี่กว้างที่มีอัตราการขยายสูง ม.เทคโนโลยีสุรนารี

“พยายามผลักดันให้มีการนำไปต่อยอดเชิงพาณิชย์ เพราะไม่อยากให้งานวิจัยขึ้นหิ้ง แต่ด้วยวัตถุประสงค์ที่เน้นเพื่อประโยชน์สาธารณะ และหลายเคสต้องใช้เวลาขยายผลอีกระยะ ทำให้มีผู้สนใจนำไปต่อยอดน้อย อย่างกลุ่มสตาร์ตอัพที่เพิ่งเปิดให้เข้ามาได้ก็ยังไม่มีใครมายื่นขอทุน แต่ในเงื่อนไขการให้ทุนปีนี้ก็มีระบุแต้มต่อให้กับโครงการที่มีพาร์ตเนอร์มารับรองว่าจะนำไปใช้ประโยชน์ต่อ”