ดีแทคแนะแก้ 3 อุปสรรค กฎหมาย-ความถี่-ร่วมมือ ดัน 5G ไทยเกิด

เมื่อวันที่ 19 กรกฎาคม เวลา 10.30 น. นายราจีฟ บาวา รองประธานเจ้าหน้าที่บริหารกลุ่มกิจการองค์กรและพัฒนาธุรกิจ บริษัท โทเทิ่ล แอ็คเซ็ส คอมมูนิเคชั่น หรือดีแทค กล่าวถึงวิสัยทัศน์ 5G ว่า สำหรับการพัฒนาเทคโนโลยี 5G ให้เกิดขึ้นในไทยทุกภาคส่วนจะต้องกำจัดอุปสรรคและเข้ามาทำงานร่วมกัน ซึ่งขณะนี้ทั่วโลกเริ่มมีการนำเทคโนโลยี 5G มาใช้แล้วทั้งในเกาหลีใต้ ญี่ปุ่น จีน ออสเตรเลีย เป็นต้น ซึ่งจะเกิดขึ้นเต็มรูปแบบในปี 2563 สำหรับไทยถ้าสามารถทำงานร่วมกันได้ ยังเชื่อว่าเราน่าจะเป็นผู้นำในภูมิภาคได้ ซึ่งเมื่อมีการนำ 5G มาใช้ในยุโรปประเมินกันว่าจะส่งผลให้จีดีพีเพิ่มขึ้น 2-4%

นายราจีฟ กล่าวว่า สำหรับแนวทางการผลักดันเพื่อให้วิสัยทัศน์ 5G ของไทยเกิดขึ้น จะต้องมีการแก้ไข ข้อแรก เรื่องกฎหมายและกฎระเบียบต่างๆ เช่น การแบ่งปันการใช้โครงสร้างพื้นฐานในปัจจุบันเพียงพอหรือไม่ เพราะในหลายประเทศใช้รูปแบบนี้ ถ้าหากเกิดการแบ่งปันกันได้เป็นประโยชน์ต่อผู้ให้บริการโทรศัพท์และประโยชน์ต่อประเทศไทยโดยรวม รวมทั้งเรื่อง 2G ปัจจุบันไทยยังมีการใช้ 2G กันอยู่ควรจะมีการยกเลิกหรือไม่หรือจะให้ความชัดเจนอย่างไร เพื่อเตรียมความพร้อมไปสู่ 5G ที่กำลังจะมา

สองคือเรื่องสเปคตรัม ที่ภาครัฐควรจะมีความชัดเจนว่าจะใช้ความถี่ช่วงไหน โดยมองว่าเราต้องคลื่นความถี่ต่ำเพื่อรองรับ อุปกรณ์จำนวนมากที่จะเข้ามาเชื่อมต่อ รวมทั้งรองรับการดาวน์โหลดข้อมูลจำนวนมาก จึงเป็นเรื่องที่ผู้กำกับดูแลเรื่องนี้ต้องเตรียมความพร้อมว่าสเปคตรัมไหนเหมาะสม เพราะจะมีผลทั้งเรื่องค่าใช้จ่ายลงทุนโครงข่ายและค่าใช้จ่ายในการใช้ นำไปใช้จริง

และเรื่องที่สาม คือ ความร่วมมือทั้งภาครัฐและเอกชน อย่างในยุโรปมีการประกาศความร่วมมือจากทุกฝ่ายเพื่อทำให้ 5G เกิดขึ้นจริง ไม่ใช่เพียงตัวอย่างเบื้อต้น เราเชื่อว่า 5G ไม่ใช่เพียงเรื่องเทคโนโลยีเท่านั้นแต่เป็นเรื่องการเข้ามาช่วยพัฒนาและยกระดับชีวิตของคนไทย จึงต้องอาศัยการทำงานร่วมกันทั้งภาครัฐและเอกชน นอกจากนี้ ในส่วนของดีแทคได้เริ่มมีการสภาพแวดล้อม หรืออีโคซิสเต็ม ของ 5G และชวนผู้ประกอบการสตาร์ทอัพมาร่วมกัน และนำไปทดสอบในอุตสาหกรรมต่าง ๆ เช่น ในธุรกิจเฮลแคร์เพื่อการผ่าตัดจากหมอส่วนกลางไปยังชนบท ในภาคการเกษตรเพื่อทำให้เกิดสมาร์ทฟาร์มมิ่ง เป็นต้น

ดังนั้น เราต้องมองอุปสรรคข้อท้าทายและร่วมมือกันเพื่อทำให้ 5G เกิดขึ้นได้

 

ที่มา มติชนออนไลน์