เปิด 20 แอปฮิตครองใจคนไทย 10 ปี App Store

รายงานข่าวจาก  Appsynth บริษัทเอเจนซี่ผู้พัฒนาแอปพลิเคชันในประเทศไทย ได้เปิดเผย 20 อันดับแอปพลิเคชั่นยอดนิยมของคนไทยในรอบ 10 ปี เพื่อร่วมฉลองเดือนแห่งการครบรอบ 10 ปีของ App Store ซึ่งได้เปิดให้บริการดาวน์โหลดแอปพลิเคชั่นเป็นครั้งแรกเมื่อเดือน ก.ค. 2551  ปัจจุบันมียอดดาวน์โหลดกว่า 170 พันล้านครั้ง  เป็นมูลค่ากว่า 130 พันล้านเหรียญสหรัฐ

“โรเบิร์ต แกลลาเกอร์” ผู้ก่อตั้งและกรรมการผู้จัดการบริษัทแอ๊พซินท์ เปิดเผยว่า การจัดอันดับในครั้งนี้เป็นการจัดอันดับจากยอดดาวน์โหลดแอปพลิเคชั่นของธุรกิจในประเทศไทยเท่านั้น โดยไม่รวมแอปพลิเคชั่นประเภทเกม ซึ่งข้อมูลทั้งหมดถูกรวบรวมโดย App Annie บริษัทผู้นำด้าน วิเคราะห์การใช้งานแอปพลิเคชัน (app analytics) และเก็บข้อมูลทางการตลาดของแอปพลิเคชันทั่วโลก

โดยอันดับ 1 ได้แก่ K Plus ของธนาคารกสิกรไทย อันดับ 2 SCB EASY อันดับ 3 TV Thailand อันดับ 4 KTB netbank อันดับ 5 Wallet by Truemoney อันดับ 6 Bualuang mBandking อันดับ 7 my AIS อันดับ 8 Kaidee อันดับ 9 Wongnai อันดับ 10 dtac

อันดับ 11 Thailand TV อันดับ 12 Thai Fast Dictionary อันดับ 13 Nok Air อันดับ 14 7-Eleven TH อันดับ 15 SF Showtimes in Hand  อันดับ 16 Thai Radio อันดับ 17 ThaiTV Live อันดับ 18 ThaiTV3  อันดับ 19 Thai Tunes (TV) Free และอันดับ 20 Krungsri

โดยอันดับ 1 ได้แก่ K Plus ของธนาคารกสิกรไทย อันดับ 2 SCB EASY ของธนาคารไทยพาณิชย์ ได้สะท้อนถึงแนวโน้มของตลาดปัจจุบันที่ธุรกิจกลุ่มธนาคารกำลังเผชิญกับการสูญเสียส่วนแบ่งทางการตลาดให้กับคู่แข่งที่ทุ่มการลงทุนบนดิจิทัลแพลตฟอร์มเป็นหลัก รวมถึงกลุ่ม ฟินเทค สตาร์ทอัพ หรือกลุ่มผู้พัฒนาโซลูชั่นทางการเงินขนาดเล็ก ที่พยายามเข้ามามีบทบาท  ทำให้ธนาคารหลายแห่งในประเทศไทยรับมือด้วยการเร่งลงทุนและพัฒนาดิจิทัลแพลตฟอร์มของตนเองในช่องทางต่างๆ อีกทั้งยังร่วมมือกับกลุ่ม ฟินเทค สตาร์ทอัพ ในการคิดค้นสินค้าและบริการรูปแบบใหม่ๆ เพื่อตอบรับการใช้งานที่หลากหลายของผู้บริโภคในอนาคต

“พัชร สมะลาภา” กรรมการผู้จัดการธนาคารกสิกรไทย กล่าวว่า “จุดแข็งที่ทำให้ K PLUS แตกต่างจากแอปของธนาคารอื่นก็คือ ให้ความสำคัญในการใช้งานแบบโมบายเฟิร์ส  เน้นสร้างประสบการณ์การใช้งานแบบใหม่ ผ่าน Personalization ฟีเจอร์ซึ่งถูกออกแบบมาเพื่อตอบโจทย์การใช้งานของผู้บริโภคที่หลากหลาย โดยธนาคารกสิกรไทยมีความมุ่งมั่นที่จะพัฒนาแอปพลิเคชันให้มีประสิทธิภาพดียิ่งขึ้นกว่าเดิมในปีต่อๆไป เพื่อให้ K PLUS คงความเป็นแอปที่ตอบสนองดิจิทัลไลฟ์สไตล์ของผู้บริโภคในทุกๆ วัน

ด้าน “ธนา โพธิกำจร” ผู้อำนวยการอาวุโส ผู้บริหารสาย Digital Banking ธนาคารไทยพาณิชย์ กล่าวว่า SCB EASY ได้ปรับเปลี่ยนรูปแบบการให้บริการ โดยเชื่อมโยงบริการทางการเงินทั้งออนไลน์และออฟไลน์เข้าด้วยกันอย่างมีประสิทธิภาพ ซึ่งความสำเร็จของ SCB EASY คือ บทพิสูจน์ของความทุ่มเทในการพัฒนาแอปพลิเคชันที่รองรับพฤติกรรมการใช้งานและความต้องการของผู้บริโภคอย่างรอบด้าน เพราะผู้บริ โภคไม่ได้เจาะจงการใช้งานเพียงช่องทางใดช่องทางหนึ่ง แต่จะเลือกใช้งานบนช่องทางที่สะดวกที่สุดในขณะนั้น

ขณะที่ Alternative banking หรือกลุ่มทางเลือกใหม่ของผู้ให้บริการด้านการเงิน เริ่มเข้ามามีบทบาทสำคัญแทนที่ธุรกิจการเงินแบบเดิมๆ เห็นได้จาก “TrueMoney Wallet” ที่อยู่ในอันดับ 5 ของชาร์ต ถือเป็นผู้นำของการให้บริการใช้จ่ายเงินผ่านกระเป๋าเงินดิจิทัลในประเทศ ทั้งการใช้จ่ายในร้านค้า การจ่ายบิลด้วยการสแกน แม้แต่เติมเงินโทรศัพท์มือถือ และยังสามารถผูกบัญชีธนาคารเข้ากับกระเป๋าเงินดิจิทัลได้ด้วย

ส่วนอันดับที่ 3 ของชาร์ต “TV Thailand” เป็นอีกความน่าสนใจเนื่องจากเป็นแอปพลิเคชั่นเดียวที่ถูกพัฒนาโดยนักพัฒนาอิสระ ที่สามารถดูละครฮิต การ์ตูน มิวสิควิดีโอ

ขณะที่ผลสำรวจพบว่า 51% ของผู้ใช้สมาร์ทโฟนในประเทศไทย ดูวิดีโอผ่านโทรศัพท์มือถือทุกวัน และ 81% ดูอย่างน้อยหนึ่งครั้งต่อสัปดาห์ จึงทำให้แอปพลิเคชั่นวิดีโอสตรีมมิ่งติด 20 อันดับยอดนิยมถึง 5 แอปพลิเคชั่น  หนึ่งในนั่นคือ “Thai TV3 app” ในอันดับที่ 18 ซึ่งตอนนี้เปลี่ยนชื่อเป็น Mello  และเป็นเพียงแอปเดียวที่ถ่ายทอดคอนเทนต์โดยตรงจากผู้ผลิตรายการทีวีชั้นนำของประเทศ

อีกหนึ่งแอปในชาร์ตที่น่าสนใจคือ Wongnai อันดับ 9 ซึ่งเป็นหนึ่งในสองของสตาร์ทอัพที่ทำตลาดผ่านมือถือเป็นช่องทางแรก (mobile-first startups) ที่ติดอันดับ 20 แอปยอดนิยม เริ่มต้นเมื่อปี 2553 รวบรวมข้อมูลร้านอาหารเด็ดๆ ในประเทศไทย  โดย “ยอด ชินสุภัคกุล” ซีอีโอ วงใน เผยเคล็ดลับความสำเร็จว่า สิ่งเดียวที่สำคัญที่สุดของวงใน คือ ช่วยให้ผู้ใช้งานค้นหาร้านอาหารชื่อดังในละแวกใกล้เคียงได้อย่างทันที เป็นฟีเจอร์ที่ทุกคนชอบเพราะตอบโจทย์ความต้องการได้จริง

ขณะที่อีกหนึ่ง mobile-first startup ในชาร์ตอย่าง Kaidee  ในอันดับ 8 ซึ่งเป็นแอปพลิเคชั่นตลาดขายของมือสอง “ทิวา ยอร์ค” Head Coach/CEO ได้ให้ความเห็นกับทาง Appsynth ว่า  ตั้งแต่ปี 2556 Kaidee วางแผนพัฒนาการตลาดแบบ app-first จนทำให้ปัจจุบันเป็นช่องทางที่มีผู้ใช้งานมากที่สุด และทำให้ได้เข้าใจความต้องการของผู้บริโภค รวมถึงกลุ่มผู้บริโภคที่พึ่งเริ่มใช้งานอินเทอร์เน็ตครั้งแรกผ่านสมาร์ทโฟน

ด้าน “เซเว่น-อีเลฟเว่น” หนึ่งเดียวในธุรกิจค้าปลีกที่มีแอปพลิเคชั่นติดชาร์ต โดยอยู่ในอันดับ 14  ทั้งยังเป็น Top 5 ของแอปยอดนิยมในปี 2561 ด้วย เนื่องจากช่วยให้ผู้บริโภคใช้จ่ายในร้าน เซเว่น-อีเลฟเว่น สะดวกสบายขึ้น ทั้งฟีเจอร์ การสะสมแสตมป์ดิจิทัล การเข้าถึงโปรโมชั่น กิจกรรม และส่วนลดพิเศษอื่นๆ อีกมากมายผ่าน 7Rewards ซึ่งเป็น loyalty campaign หลักภายในแอป

“โรเบิร์ต แกลลาเกอร์” ผู้ก่อตั้งและกรรมการผู้จัดการบริษัทแอ๊พซินท์  กล่าวว่า กว่า 71% ของคนไทยในปัจจุบันใช้สมาร์ทโฟน ซึ่งแอปพลิเคชันมีบทบาทอย่างมากในการเปลี่ยนรูปแบบการซื้อสินค้าและบริการ การติดต่อสื่อสารกับแบรนด์ รวมถึงการใช้ชีวิตประจำวันของผู้บริโภค

โดยผลของการจัดอันดับสะท้อนถึงความหลากหลาย และเห็นได้ชัดถึงความนิยมในคอนเทนต์ของธุรกิจรายการโทรทัศน์ ธุรกิจกลุ่มธนาคารที่ชัดเจนเรื่องการส่งเสริมการใช้จ่ายแบบไร้เงินสด กลุ่มธุรกิจร้านค้าและร้านอาหารที่เน้นการแชร์ประสบการณ์ของการใช้บริการ รวมถึงระบบการสะสมแต้มหรือ loyalty program