เส้นทางวิบากสู่ 5G ปี”63 ผ่ามุมมอง 3 ค่ายมือถือ-TDRI

ปักธงแล้วว่าจะให้คนไทยได้ใช้ 5G ในปี 2563 ขณะที่เวทีเสวนา “5G เทคโนโลยีพลิกโลก : ทำอย่างไรให้เกิดขึ้นจริงในไทย” โดยมติชน ได้ฉายภาพชัดว่า กว่าจะถึงวันนั้นเตรียมพร้อมอย่างไรบ้าง

“ดร.สมเกียรติ ตั้งกิจวานิชย์” ประธานสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (TDRI) ระบุว่า 5G ผู้ใช้กลุ่มใหญ่คืออุตสาหกรรม โดยเฉพาะภาคโรงงานและการผลิต ฉะนั้น 5G จะมีความสำคัญยิ่งกับขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศ ถ้าอุตสาหกรรมไทยไม่มี 5G ใช้ แต่ประเทศอื่นมี ก็จะเกิดการย้ายฐานการผลิต

“นโยบาย-กำกับดูแล” ชี้อนาคต

แต่หากนโยบายและการกำกับดูแลไม่ดี การแข่งขันของรายใหม่ไม่เกิดขึ้น ทั้งผู้ประกอบการเดิมบางรายยังอาการน่าเป็นห่วง ก็จะทำให้ 5G ในไทย กลายเป็นบริการที่ไม่ดี และราคาแพง กระทบไปถึงผู้ใช้ที่เป็นอุตสาหกรรม เป็นแค่โมบายบรอดแบนด์ที่เร็วกว่า 4G แค่ 10 เท่า ไม่ได้เกิดประโยชน์อื่นทางเศรษฐกิจ

ปลดล็อกหุ้นต่างชาติหนุนเปิดเสรี

“อยากเห็นรัฐบาลมองผู้ใช้ในภาคอุตสาหกรรม และประชาชนเป็นตัวตั้ง ไม่ใช่โอเปอเรเตอร์ การเปิดเสรีบริการ 5G ด้วยการแก้กฎหมายให้ต่างชาติถือหุ้นบริษัทโทรคมนาคมได้เกินครึ่ง ยังเปิดโอกาสให้รัฐบาลแก้ปัญหาของรัฐวิสาหกิจโทรคมนาคม ซึ่งรัฐพยายามหาทางรอดให้ด้วยการหาโปรเจ็กต์ให้ทำ เช่น ทำโครงข่ายอินเทอร์เน็ต เป็นโมเดลไม่ยั่งยืน แต่ที่จะทำให้อยู่รอดได้อย่างยั่งยืน ต้องเกิดจากความเข้มแข็งด้วยการมีพันธมิตรเข้ามาร่วมทุนธุรกิจ”

ทั้งควรผลักดันให้เกิดผู้ประกอบการรายใหม่ที่ให้บริการเฉพาะพื้นที่ ตามผู้ใช้ 5G คือ อุตสาหกรรม อาทิ ใน EEC และรัฐบาลต้องเตรียมกฎระเบียบมารองรับ อาทิ กฎหมายข้อมูลส่วนบุคคล ที่ทำมา 20 ปีแล้วยังไม่เสร็จและร่างล่าสุดที่เห็นก็ยังไม่สอดคล้องกับกฎหมายนี้ ของสหภาพยุโรปที่ห่วงมากที่สุด คือ กำกับดูแลแล้วทำให้แข่งขันไม่เป็นธรรม ทำให้โอเปอเรเตอร์ต้องวิ่งเต้นเพื่อให้ได้เปรียบคนอื่น แทนที่จะมุ่งพัฒนาหานวัตกรรมใหม่ ๆ

อยากได้ 5G ต้องหา กสทช.ใหม่

“ฉะนั้นสิ่งแรกคือรัฐบาลต้องสรรหา กสทช.ชุดใหม่ เพราะชุดนี้หมดวาระแล้วหากต้องตัดสินเรื่องใหญ่ ก็จะเกิดคำถามว่า ยังมีอำนาจอยู่หรือไม่ ซึ่ง 5G จะไม่ทันก็เพราะเหตุนี้ ส่วนร่าง พ.ร.บ.กสทช.ฉบับใหม่ ก็ควรทำให้ถูก ทำให้ดี ไม่หมกเม็ดเรื่องอื่น ทั้งควรทำแผนคลื่นความถี่ ทบทวนว่าคลื่นใด ใครถือครองอยู่แล้วมีสิทธิชอบธรรมหรือไม่ แต่ที่ผ่านมาเหมือน กสทช.จะเกรงใจหน้าอินทร์ หน้าพรหม มากเกินไป ทั้งที่มีอำนาจ เพื่อให้เรียกคืนมาจัดสรรใหม่ โดยวางแผนวางกรอบให้ชัด ไม่ใช่จัดแล้วเปลี่ยนเงื่อนไข หรือเอาเงื่อนไขการประมูลครั้งก่อนมาผูกกับครั้งนี้ ถ้าชัดเจนแล้วผู้ประกอบการจะตัดสินใจกันเอง ถ้าเขาจะเจ๊งให้เจ๊งด้วยมือตัวเอง ไม่ใช่เพราะองค์กรกำกับดูแล”

2563 ปีวิกฤตค่ายมือถือ

“จักรกฤษณ์ อุไรรัตน์” รองผู้อำนวยการด้านรัฐกิจสัมพันธ์ บมจ.ทรู คอร์ปอเรชั่น กล่าวว่า 5G จะเกิดได้ต้องมีคลื่นมีโรดแมปที่ชัดเจน

“4G ใช้เสา 2-5 ต้น แต่ 5G ต้องใช้ 10-15 ต้น ต้องลากสายไฟเบอร์เพิ่ม มีกฎกติกาอย่างไร ใครจะเป็นผู้ลงทุน รัฐบาลปล่อยให้อุตสาหกรรมโทรคมนาคมเป็นผู้ขับเคลื่อน ต้องลงทุนโครงข่ายเอง ประมูลคลื่นเอง รัฐซัพพอร์ตอะไรบ้าง

ปี 2563 คือปีแห่งวิกฤตของอุตสาหกรรมโมบายไทย เพราะเมื่อรวมภาระที่ทรูกับเอไอเอสต้องจ่ายค่าคลื่น 900 MHz ที่ประมูลไปก่อนนี้ 1.2 แสนล้านบาท แต่ EBITDA (กำไรก่อนหักดอกเบี้ยภาษีค่าเสื่อมราคาฯ) ของ 2 บริษัท อยู่ที่1.5 แสนล้านบาท ซึ่งยังไม่รวมเงินลงทุนโครงข่ายและเงินประมูลค่าคลื่นใหม่”

รัฐเยียวยาสุดประหลาด

ด้านประธาน TDRI กล่าวว่า คนที่ควรเห็นใจ คือ ประชาชน และรัฐบาล ยิ่ง กสทช.ตอนนี้ที่แทบจะกราบไหว้ให้ค่ายมือถือเข้ามาประมูล เพื่อให้มีเงินเข้ารัฐ ดังนั้นการเปิดเสรีตลาดจะทำให้ทั้งผู้บริโภคและรัฐมีทางเลือก

“อย่าคิดว่า รัฐไทยไม่ช่วยเหลือ อย่าง มาตรการเยียวยาหลังสิ้นสุดสัมปทาน กสทช.ก็ให้เยียวยาโดยให้ใช้คลื่นต่อได้ ซึ่งประหลาดที่สุด แต่โอเปอเรเตอร์ก็ยังไม่ได้จ่ายเงินเข้ารัฐ ซึ่งถ้ายังไม่จ่ายก็กรุณาอย่าบอกว่า รัฐไม่ได้ช่วยเหลือ”

โต้เยียวยาลูกค้า-เอกชนไม่ได้เงิน

รองผู้อำนวยการรัฐกิจสัมพันธ์ ทรูฯชี้แจงว่า การเยียวยาหลังสิ้นสุดสัมปทานเป็นการทำให้ผู้บริโภคยังใช้งานต่อได้ โดยเป็นภาระโอเปอเรเตอร์ในการให้บริการคงเดิม แต่เมื่อเก็บเงินจากลูกค้าก็ต้องหักค่าใช้จ่ายแล้วส่งคืนให้รัฐ น่าจะเป็นที่เดียวในโลกที่ให้เอกชนทำหน้าที่แทนรัฐ โดยที่ไม่ได้ผลตอบแทนเลย

“ในอินเดีย เพิ่งมีโอเปอเรเตอร์รายเดิมออกจากตลาด เพราะหนี้จากค่าไลเซนส์ และรัฐได้เปลี่ยนกติกาเพื่อให้มีรายอื่นเข้ามาในตลาดได้ ฉะนั้นถ้าจะไป 5G แล้ว ต้องแก้กติกาใหม่ เพื่อประโยชน์ทั้งสังคม โดยไม่คำนึงว่าภาคเอกชนที่เคยลงทุนเพื่อรัฐแต่เดิมมาจะอยู่กันอย่างไร ก็อาจเป็นอีกมุมที่ต้องคิด และคลื่นเป็นต้นทุน ไม่ใช่เทศกาลลดราคาที่มีใครบังเอิญได้ในราคาถูก เมื่อต้นทุนไม่เท่ากันก็ไม่สามารถแข่งขันกันได้”

โทรคมนาคมเป็นอินฟราสตรักเจอร์ที่รัฐควรมีส่วนช่วยเหลือ ถ้าปล่อยให้ห่านทองคำตัวนี้ตายไป ก็อาจจะไม่มีทองคำให้รัฐหรือประชาชนต่อไปได้ ฉะนั้น 5G จะเกิดได้ ต้องภาครัฐเป็นกำลังหลัก

Luxury-Utility อยู่ที่รัฐ

“สุเทพ เตมานุวัตร์” ผู้ช่วยกรรมการผู้อำนวยการอาวุโส ส่วนงานธุรกิจสัมพันธ์และพัฒนา บมจ.แอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส (AIS) กล่าวว่า 5G ไม่ได้มาทดแทน 4G แต่เป็นส่วนเติมเต็ม โดยเฉพาะกับภาคอุตสาหกรรมที่จะเป็นตลาดใหม่ที่ AIS ต้องโฟกัส

สำคัญคือ การกำหนดนโยบายที่ชัดเจน อย่างเกาหลีใต้ ประกาศนโยบาย 5G ระบุชัดว่า ต้องทำอะไร เมื่อใดแล้วจะทำให้เกิดมูลค่าทางเศรษฐกิจเท่าใด กับอุตสาหกรรมใด เห็นทุกอย่างเป็นรูปธรรมและชัดเจน จึงอยากให้มีบ้างในไทย

“5G มีได้ 2 มุม คือ การให้บริการ luxury ดูวิดีโอ 4K 8K ได้ หรือจะเป็น utility เครื่องมือพัฒนาประเทศ ฉะนั้นอยู่ที่ภาครัฐว่าจะผลักดันให้เป็นแบบไหน”

5G ใช้คลื่นเป็น 1000 MHz

“นฤพนธ์ รัตนสมาหาร” ผู้อำนวยการอาวุโส สายงานรัฐกิจสัมพันธ์ บมจ.โทเทิ่ล แอ็คเซ็ส คอมมูนิเคชั่น (ดีแทค) กล่าวว่า กสทช.ยังไม่ได้กำหนดแผนและวิธีการจัดสรรคลื่นว่าจะทำด้วยวิธีไหน ราคาเท่าไร ในต่างประเทศเตรียมจัดสรรเป็น 1000 MHz เพราะแต่ละรายต้องใช้คลื่น 70-100 MHz แต่คลื่นในไทยแพงมาก จะเป็นไปได้ทางธุรกิจแค่ไหน จะเปิดให้แชร์ใช้ร่วมกันได้หรือไม่

ทั้งต้องทบทวนว่ามีกฎหมายสนับสนุนให้เกิดการใช้ 5G การขยายโครงข่ายทำได้อย่างราบรื่นและรวดเร็วหรือไม่ เน็ตเวิร์ก 2G จะยังต้องใช้ต่อหรือไม่ เพราะหลายประเทศเริ่มยุติแล้ว การแบ่งปันโครงสร้างพื้นฐานทำได้จริงหรือไม่ เพราะจะทำให้เน็ตเวิร์กดีขึ้น ส่งผลดีกับโอเปอเรเตอร์และประเทศ

กสทช.เคลียร์คลื่นรับ 5G อ้าแขนรับ 2.3 ล้านล้านบาท

5G เทคโนโลยีพลิกโลก : ทำอย่างไรให้เกิดขึ้นจริงในไทย คำตอบนี้ “กสทช.” คณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ น่าจะเป็นผู้ตอบได้ดีที่สุด “ฐากร ตัณฑสิทธิ์” เลขาธิการ กสทช. ระบุว่า 5G จะไม่ยอมให้ล้าหลัง ต้องเกิดพร้อมกับทั่วโลกในปี 2563 โดยจะผลักดัน คือ 1.คลื่นความถี่ มีแผนจัดสรรเพิ่มในเร็ว ๆ นี้ คือ ย่าน 700 MHz ที่มีอยู่ 90 MHz และคลื่น 2600 MHz ที่ บมจ.อสมท ใช้งานอยู่ คาดว่าจะเรียกคืน 180 MHz ส่วนย่านใหม่ที่ต้องใช้กับ 5G คือ ย่าน 3.5 GHz ที่มีสูงสุด 200 MHz และย่าน 26 กับ 28 GHz ที่มีสูงสุด 3 GHz

2.คืออินฟราสตรักเจอร์ที่จะไม่ให้เกิดปัญหาคอขวด ก็หวังว่า 3 โอเปอเรเตอร์จะเข้าประมูลคลื่นความถี่ และลงทุนสร้างโครงข่ายเพิ่ม และ 3.การเชื่อมต่อเป็นอินเทอร์เน็ตออฟทิงส์ (IOT)

“คาดว่า ปี 2573 จะเกิดการใช้ 5G อย่างเต็มรูปแบบ ฉะนั้นถ้า 5G ไม่เกิดขึ้นภายในปี 2573 จะทำให้ไทยสูญเสียโอกาสทางเศรษฐกิจถึง 2.3 ล้านล้านบาท คิดเป็นราว 20% ของ GDP 5G จะทำให้เกิดการลงทุนและมูลค่าเพิ่มจาก 2 แสนล้านบาทในปี 2563 พุ่งถึง 2.3 ล้านล้านบาทในปี 2573 ถ้าเปิดช้าก็จะสูญเสียมูลค่าเพิ่มตรงนี้ คิดเป็น 77% ของงบประมาณแผ่นดินในปัจจุบัน โดยภาคการผลิตและภาคอุตสาหกรรมจะกระทบสุด จะเสียโอกาสสร้างมูลค่าเพิ่มไปกว่า 7 แสนล้านบาท ถึง 1.6 ล้านล้านบาท หรือ 10-30% ของมูลค่าภาคอุตสาหกรรมของไทยในปัจจุบัน”

ทั้งยังสูญเสียเครื่องมือในการฝ่าวิกฤตสังคมผู้สูงวัย จากประชากรเกิดใหม่ที่เหลือแค่ 7-8 แสนคนต่อปี ซึ่งทำให้อีกไม่กี่ปีจะมีแรงงานรุ่นใหม่เข้าสู่ระบบเศรษฐกิจลดลง 20-30% แต่มีผู้สูงอายุเพิ่มถึง 20 ล้านคน ในอีก 15 ปี 5G สามารถทดแทนแรงงาน และช่วยการแพทย์โดยเฉพาะ telemedicine ลดค่าเสียโอกาสทางเศรษฐกิจของผู้ป่วยได้อย่างน้อย 11,000 ล้านบาทต่อปี

“ตู้ เย่ชิง” รองประธานบริหาร กลุ่มผลิตภัณฑ์ 5G หัวเว่ย เทคโนโลยี กล่าวว่า 5G จะมีผลทุกอุตสาหกรรม แต่ภาคการผลิตจะได้รับประโยชน์สูงสุด สร้างมูลค่าเพิ่มได้ถึง 3.4 ล้านล้านเหรียญสหรัฐ หรือ 28% ของ GDP โลก ส่วนการสื่อสารจะสร้างมูลค่าเพิ่มได้ราว 1.4 ล้านล้านเหรียญสหรัฐ ธุรกิจโรงพยาบาลและสุขภาพ 5.6 แสนล้านเหรียญสหรัฐ

“ปีนี้ทั่วโลกกำลังประมูล 5G หลายประเทศเลือกใช้คลื่นย่าน 3.5-3.6 GHz ขณะที่สมาร์ทโฟนหัวเว่ยรุ่นใหม่จะเริ่มรองรับ 5G ตั้งแต่ปี 2562”

“วุฒิชัย วุฒิอุดมเลิศ” รองประธานและหัวหน้าฝ่ายเน็ตเวิร์ก โซลูชั่นส์ บริษัท อีริคสัน (ประเทศไทย) จำกัด ระบุว่า ในปี 2566 จะมีผู้ใช้สมาร์ทโฟน 5G ถึง 1 พันล้านราย ทำให้โมบายทราฟฟิกบนโครงข่าย 20% เกิดจาก 5G และโตขึ้นถึง 8 เท่า เมื่อเทียบกับปี 2560


“ต้องวางแผนร่วมกับทั้งภาครัฐ เอกชน อุตสาหกรรม เวนเดอร์ เพื่อให้มีการใช้ประโยชน์ 5G อย่างแท้จริง”