Twiga Foods M-commerce ขวัญใจคนยาก

ภาพจาก twigafoods.com

คอลัมน์ สตาร์ตอัพฯปัญหาทำเงิน

โดย มัชฌิมา จันทร์สว่างภูวนะ

“แกรนต์ บรู๊ค” นักวิจัยจากออกซ์ฟอร์ด ตะลึงมาก ตอนทำวิจัยเรื่องการส่งออกกล้วยที่เคนยาแล้วพบว่าประเทศยากจนแห่งนี้ต้องซื้อกล้วยในราคาเดียวกับที่อังกฤษ ยิ่งขุดลึกลงไปถึงต้นตอ เขาก็ยิ่งอัศจรรย์ใจเข้าไปอีก เมื่อพบว่าสาเหตุไม่ได้มาจากผลผลิตตกต่ำ แต่มาจากระบบที่กะพร่องกะแพร่ง กว่ากล้วยหวีหนึ่งจะมาถึงมือแม่ค้าในตลาดที่เมืองหลวงอย่างไนโรบี ต้องผ่านมือคนกลางมาไม่ต่ำกว่า 6 รอบ ทุกรอบต้องบวกราคาเพิ่ม ทำให้ราคาสุดท้าย ณ หน้าเพิงผักเล็ก ๆ ในตลาดสด ราคาเท่ากับกล้วยที่ขายในห้างค้าปลีกในลอนดอน

ถึงจะเข้าใจว่า “ถ้าอยากช่วยคนจน จงอย่าให้ปลา แต่ให้สอนวิธีจับปลา” แต่ “แกรนต์” ก็ร่วมมือกับเพื่อนหาวิธีแก้ปัญหาด้วยการตั้งบริษัทชื่อว่า Twiga Foods เพื่อรับซื้อกล้วยจากชาวสวนในราคาสูงกว่าตลาด แล้วนำมาขายให้พ่อค้าแม่ค้าโดยตรงเพื่อตัดวงจรพ่อค้าคนกลางทั้งเอาเงินที่ระดมมาได้ 13 ล้านเหรียญ พัฒนาระบบโลจิสติกส์และ M-commerce แอปพลิเคชั่นให้พ่อค้าแม่ค้าสั่งของและจ่ายเงินผ่านมือถือ

ทั้งหมดก็เพื่อลดต้นทุนและเพิ่มประสิทธิภาพของระบบตั้งแต่ต้นน้ำยันปลายน้ำ อีกทั้งยังเพิ่มรายได้ให้ชาวสวน ช่วยประหยัดต้นทุนให้พ่อค้าแม่ค้าตัวเล็กตัวน้อยในตลาด และทำให้ผู้บริโภคได้กินกล้วยราคาถูกลง

การบริหาร supply chain แบบนี้อาจฟังดูธรรมดาในประเทศที่พัฒนาแล้ว แต่ในเคนยาที่การขนส่งส่วนใหญ่ยังพึ่งพาท้องถนนที่ไม่ได้มาตรฐาน การที่บริษัทแห่งหนึ่งมีวิธีย่นเวลาและทำให้การขนส่งสินค้าเกษตรจากชนบทสู่เมืองมีประสิทธิภาพจึงเป็นเรื่องที่น่ายินดียิ่ง

ADVERTISMENT

เพราะผลที่ได้ นอกจากจะช่วยเกษตรกรให้ขายพืชผลได้ราคาดีขึ้น บรรดาพ่อค้าแม่ค้าเจ้าของแผง จิ้มมือถือไม่กี่ที ก็มีคนเอามาส่งให้ถึงหน้าร้าน แถมได้ราคาดีกว่าเดิม พลอยทำให้ผู้บริโภคได้กินกล้วยราคาถูกลงด้วย

แกรนต์ใช้เวลาแค่ 4 ปี ทำให้ Twiga Foods เป็นผู้จำหน่ายกล้วยรายใหญ่ที่สุดของไนโรบี ส่งกล้วยวันละกว่า 20 ตันให้พ่อค้าแม่ค้ากว่า 2,600 ราย และตอนนี้ยังรับมันฝรั่ง มะเขือเทศ และหอมใหญ่ มาขายด้วย

ADVERTISMENT

ที่ M-commerce ของ Twiga Foods ประสบความสำเร็จต้องยกความดีให้บริษัทมือถือที่ขยายเครือข่ายไว้ดีจนทำให้การเข้าถึงมือถือของเคนยาสูงถึง 94% กลายเป็นสื่อกลางเชื่อมต่อผู้คนกับบริการต่าง ๆ และเพื่อต่อยอด บริษัทยังจับมือกับ IBM นำ blockchain มาใช้ให้พ่อค้าแม่ค้ากู้เงินมาจ่ายค่าสินค้าด้วย ซึ่ง blockchain ช่วยให้การกู้สะดวกและปลอดภัยขึ้น เพราะทุกขั้นตอน ตั้งแต่การสมัคร-การโอน-ทำสัญญา ล้วนอยู่บนระบบและอยู่ในสายตาของทุกฝ่าย ดังนั้นโอกาสที่จะโดนโกงจึงแทบไม่มี

IBM เลือกจับมือกับ Twiga Foods ส่วนหนึ่งเพราะระบบ M-commerce ของ Twiga Foods เป็นระบบธุรกรรมผ่านมือถือที่พ่อค้าแม่ค้าคุ้นเคยดี ทั้งยังมีประวัติการจ่ายเงิน ทำให้ประเมินศักยภาพและความน่าเชื่อถือของผู้กู้ได้

วิธีกู้ก็ง่ายมาก เพียงสั่งสินค้าผ่านแอปของ Twiga Foods ตามปกติ พอสินค้ามาส่งแล้ว ระบบจะส่ง SMS มาถามว่า สนใจกู้เงินเพื่อจ่ายสินค้าลอตนี้มั้ย หากสนใจ ก็กดปุ่มนั้นไป เป็นอันเสร็จ

จากโครงการนำร่องพ่อค้าแม่ค้า 220 ราย เป็นเวลา 2 เดือน พบว่าส่วนมากจะกู้ประมาณ 30 เหรียญ/ครั้ง และคืนเงินต้นพร้อมดอกเบี้ย (1-2%) ได้ภายในเวลาแค่ 4-8 วัน โดยเงินก้อนนี้ช่วยเพิ่ม

ยอดสั่งซื้อพืชผลได้ถึง 30% และทำให้พ่อค้าแม่ค้ามีกำไรเพิ่มขึ้นถึง 6% บริษัทวางแผนจะขยายบริการใหม่นี้ไปยังพ่อค้าแม่ค้าทั่วประเทศภายในสิ้นปีนี้ ซึ่งน่าจะต่อยอดกิจการของ Twiga Foods ไปได้อีกไกลเลยทีเดียว