Dr.Consulta คลินิกคนยาก

คอลัมน์ สตาร์ตอัพ “ปัญหา” ทำ “เงิน”

โดย มัชฌิมา จันทร์สว่างภูวนะ

 

บราซิลมีประชากร 208 ล้านคน แต่มีแค่ 25% ที่เข้าถึงการรักษาพยาบาลที่ได้มาตรฐาน ที่เหลือ 150 ล้านคนต้องพึ่งพาสถานบริการฟรีของรัฐ ที่ทั้งเก่า ช้า และไม่ครอบคลุม

Dr.Consulta คือสตาร์ตอัพที่เสนอทางเลือกใหม่เพื่อแก้ปัญหานี้ โดยเปิดคลินิกที่ให้บริการด้วยคุณภาพเหมือนเอกชนแต่ราคาถูกกว่าหลายเท่าเพื่อคนมีรายได้น้อยจะได้มีโอกาสเข้าถึงบริการดี ๆ กับเขาบ้าง

ปกติคนมีเงินในบราซิลจะใช้วิธีซื้อแพ็กเกจประกันสุขภาพเพื่อเข้ารับบริการที่โรงพยาบาล หรือคลินิกเอกชน เฉลี่ยเดือนละ 120 เหรียญ ซึ่งชาวบ้านทั่วไปไม่มีปัญญาจ่าย แต่จะหันไปโรงพยาบาลของรัฐ ก็เจอปัญหาความไม่พร้อม ทั้งหมอไม่พอ ยาไม่มี รอคิวยาว

ถึงคลินิกของ Dr.Consulta จะไม่ได้รักษาฟรี แต่ราคาก็พอรับไหว เฉลี่ยครั้งละ 20 เหรียญ สำหรับพบหมอทั่วไป และ 30 เหรียญเมื่อพบแพทย์เฉพาะทาง ส่วนค่าเอกซเรย์ MRI ตรวจเลือด ตรวจแมมโมแกรม อยู่ที่ 3-30 เหรียญ (มีระบบผ่อนจ่ายเป็นงวด)

และไม่ต้องกลัวจะไม่เจอหมอ เพราะที่นี่จะมีหมอประจำอย่างน้อย 1 คนตลอดเวลา อุปกรณ์ หยูกยา ทันสมัย เพราะถูกออกแบบให้เป็นคลินิกชุมชนที่ one-stop shop คือมาที่เดียวได้ทั้งพบแพทย์-ตรวจ-รักษา-จ่ายยา

สตาร์ตอัพแห่งนี้เปิดให้บริการครั้งแรกในปี 2011 โดยเริ่มจากคลินิกเล็ก ๆ ใจกลางชุมชนที่ยากจนที่สุดของเมืองเซาเปาโล ทำไปทำมา เริ่มติดลมบน

แล้วยังระดมทุนมาได้อีก 100 ล้านเหรียญ ทำให้ขยายกิจการจนตอนนี้มีคลินิกทั้งสิ้น 44 แห่ง ทั่วเมืองเซาเปาโล มีหมอ 2,000 คน รักษาคนไข้ได้เดือนละ 1 แสนราย

เมื่อกิจการใหญ่โตขึ้น บริษัทก็เริ่มนำเทคโนโลยีโดยเฉพาะ AI และ cloud applications เข้ามาใช้มากขึ้นเพื่อลดค่าใช้จ่าย และเพิ่มประสิทธิภาพการทำงาน ทั้งระบบดาต้าเบสที่เก็บประวัติการรักษาทั้งหมด ระบบการเงิน ระบบบริหารคลังยา ระบบมาร์เก็ตติ้ง และระบบการบริหารความสัมพันธ์กับลูกค้าและซัพพลายเออร์ นอกจากนี้เขายังพัฒนาแอปพลิเคชั่นบนมือถือสำหรับจองคิว ทำนัด และ follow up อื่น ๆ รวมทั้งเป็นเครื่องมือส่งข้อมูลใหม่ ๆ ที่มีประโยชน์ต่อการรักษา

ล่าสุด บริษัทออกแพ็กเกจแบบเหมาจ่ายรายเดือน ที่ให้ลูกค้าจ่ายเงินครั้งเดียวต่อเดือนแล้วเข้ารับการบริการได้ไม่อั้น

สำหรับอนาคต “โทมัส สรูกี้”ผู้ก่อตั้งและเจ้าของ Dr.Consulta มองว่า ข้อมูลที่บริษัทเก็บรวบรวมไว้ตลอดหลายปีที่ให้บริการมาโดยเฉพาะข้อมูลประวัติการรักษาคนไข้เป็นล้านคนนั้น น่าจะมีประโยชน์ต่อการพัฒนาระบบวิเคราะห์ที่ช่วยคาดการณ์แนวโน้มของโรค รวมถึงวิธีการรักษาและวิธีป้องกันได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น

ดังนั้น นอกจากจะจัดให้มีแผนกวิเคราะห์ข้อมูลเป็นพิเศษในองค์กรแล้ว เขายังมองหาพันธมิตรที่เป็นมหาวิทยาลัยและสถาบันวิจัยชั้นนำ เพื่อนำข้อมูลเหล่านี้มาใช้ในการวิจัยทางการแพทย์เพื่อพัฒนายาหรือวิธีการรักษาใหม่ ๆ อีกด้วย