ทรูปรับแผนกรุยทางขึ้นเบอร์1 พลิกเกมสู่”ผู้สร้าง”รับยุคออมนิแชนแนล

เปิดแผนธุรกิจดิจิทัลคอนเทนต์กลุ่มทรูปรับโครงสร้างใหม่แยก “คอนเทนต์-แชนเนล” ทุ่ม 3 พันล้านบาทต่อปี ปรับบทบาทจากผู้นำการซื้อสู่การสร้างคอนเทนต์ ซัพพอร์ตกลยุทธ์ออมนิแชนเนล ปักธงเกมออนไลน์ หนุนขึ้นแท่นผู้นำธุรกิจคอนเทนต์ จัดหนักทั้งปั้นเกมใหม่ คลอด trading card “โปเกมอน” ตุนยูทูบเบอร์เข้าสังกัด

นายพีรธน เกษมศรี ณ อยุธยา หัวหน้าคณะผู้บริหารด้านคอนเทนต์และมีเดีย บมจ.ทรู คอร์ปอเรชั่น เปิดเผยกับ “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า แต่ละปีกลุ่มทรูใช้เงินลงทุนคอนเทนต์ราว 3,000 ล้านบาท 60% เป็นคอนเทนต์กีฬา โดยซื้อลิขสิทธิ์จากต่างประเทศและพัฒนาของไทยเองอย่างละครึ่ง อีก 40% เป็นเอ็นเตอร์เทนเมนต์ โดยนโยบายการลงทุนคือ เมื่อซื้อหรือสร้างแล้วจะนำไปใช้กับทั้งเครือ เป็นออมนิแชนเนล และเปลี่ยนบทบาทจาก “ผู้นำในการซื้อ” มาเป็น “ผู้นำในการสร้าง”

“เน้นโลคอลคอนเทนต์ เพราะใกล้ชิดกับตลาดมากที่สุด ไม่ว่าจะเป็นกีฬาหรือเอ็นเตอร์เทนเมนต์ แม้จะเป็นการซื้อลิขสิทธิ์จากต่างประเทศมาก็ต้องผลิตใหม่ในสไตล์ไทย ซึ่งอีก 3 เดือนจะเห็นลีกวอลเลย์บอลของกลุ่มทรู เป็นกลยุทธ์ในการลดความเสี่ยง คือสร้างจุดยืนที่โดดเด่นในเชิงของอินเตอร์เนชั่นนอลฟอร์แมต ซึ่งเราเชี่ยวชาญ”

มุ่งสู่ออมนิแชนเนล

ทั้งยังได้ปรับโครงสร้างองค์กรใหม่มาระยะหนึ่งแล้ว โดย “ทรูวิชั่นส์ กรุ๊ป” มี 16 บริษัทอยู่ภายใต้ มีกลุ่มที่สำคัญ คือ มีหน่วยที่สร้างคอนเทนต์ทั้งโปรดักชั่นเฮาส์ สร้างหนังละคร จนถึงเกมออนไลน์ ซึ่งชัดเจนว่าจะมุ่งสร้างคอนเทนต์เพื่อตอบโจทย์กลยุทธ์ออมนิแชนเนล โดยมีธุรกิจเพย์ทีวีและแอปพลิเคชั่นทรูไอดีเป็นแค่อีกขาหนึ่งของธุรกิจ

“โครงสร้างใหม่ให้คอนเทนต์อยู่ด้านบน แชนเนลช่องทางออกอากาศอยู่ด้านล่าง ไม่ว่าจะเผยแพร่ผ่านแพลตฟอร์มอะไรก็รวมเป็นรายได้ของกลุ่ม จึงไม่แคร์ว่าผู้ชมจะดูผ่านฟรีทีวี เพย์ทีวี ดิจิทัล หรือ OTT เพราะก็เป็นคอนเทนต์ของผม และได้ฝังระบบวัดเรตติ้งของนีลเส็นไว้ทุกแพลตฟอร์ม เป็น over all rating”

ธุรกิจบรอดแคสต์คือมันนี่เกม

ที่สำคัญคือ การแยกโครงสร้างธุรกิจแบบนี้จะทำให้องค์กรที่มีหลายช่องทางเผยแพร่มีต้นทุนถูกลง แม้ปัจจุบันทรูจะยังไม่ถึงจุดนั้น แต่ไม่น่าเกิน 5 ปี เพราะในอุตสาหกรรมบรอดแคสต์ทุก “eye ball” ของผู้บริโภคในทุกแพลตฟอร์มมีค่าเท่ากัน แม้ทรูจะไม่สามารถเป็นเบอร์ 1 บนจอทีวีได้ แต่มีโอกาสชนะได้บนแพลตฟอร์มอื่น

ขณะที่ช่องทางบรอดแคสต์ใหม่ ๆ ที่ได้รับความนิยมสูงก็ไม่ได้ทำให้กังวล เพราะธุรกิจคอนเทนต์ คือ money business มีเงินก็ทำได้ ใครมีทุนอย่างยั่งยืนและมั่นคงจะไม่มีปัญหาเรื่องคอนเทนต์

ขยับสู่ Trading Card โปเกมอน

ขณะที่ลิขสิทธิ์โปเกมอนที่กลุ่มทรูถืออยู่ในมือและกระแสดูแผ่วไปนั้น นายพีรธนกล่าวว่า เป็นวงจรปกติของเกม แต่ “โปเกมอน โกลด์” ยังเป็นเกมที่ได้รับความนิยมติด top 10 ตลอด มีผู้เล่นแอ็กทีฟ 1.2-1.5 ล้านคน ยังมากว่าเกม ROV ที่กำลังฮิตกว่าเท่าตัว และยังมีอีเวนต์อยู่ทั่วโลก มีการแข่งขัน Pokemon trading card Olympic ทุกปี มีเงินรางวัลให้ผู้ชนะ 5 แสนเหรียญสหรัฐ โดยในไตรมาส 4 จะจัดอีเวนต์โปเกมอนที่สวนลุมพินี และเตรียมจัดแข่งหาตัวแทนประเทศไปแข่งในโอลิมปิกด้วย

“ในแง่รายได้ “trading card” คือธุรกิจหลักของโปเกมอนมา 30 ปี มีมูลค่าเป็นพันล้านเหรียญสหรัฐทุกปี สิ่งอื่น ๆ ไม่ว่าจะเป็นการ์ตูนหรือภาพยนตร์ที่มีซีรีส์ใหม่ออกทุกปี ก็เพื่อเสนอ

โปเกมอนแคแร็กเตอร์ที่จะนำไปออกการ์ดเกมรุ่นใหม่ เป็นมาร์เก็ตติ้งแคมเปญให้กับ trading card ซึ่งเรากำลังจะเริ่มทำตลาดในไทยหลังจากได้พิสูจน์ให้โปเกมอนคอมปะนีมั่นใจว่าเราทำได้”

ในไทยอุตสาหกรรม trading card มีมูลค่าราว 200 ล้านบาท ส่วนมากเป็นการนำเข้า มีผู้ประกอบการเพียงรายเดียว แต่ไม่ได้ทำการ์ดโปเกมอน คาดว่าหลังจากกลุ่มทรูเปิดตัวมูลค่าตลาดจะใหญ่ขึ้น โดยเจาะตลาด อายุ 12-15 ปี

ปักหลักเกมออนไลน์

เกมออนไลน์ในเชิงธุรกิจคอนเทนต์ เป็นธุรกิจที่มีมูลค่าใหญ่กว่าทุกธุรกิจคอนเทนต์รวมกัน ไม่ว่าจะเป็นทีวี ภาพยนตร์ ดนตรี ฉะนั้น ถ้าอยากจะใหญ่ในอุตสาหกรรมคอนเทนต์ต้องมีธุรกิจเกม โดยเมื่อปีที่แล้วได้ตั้ง “ทรูแอกซิออน เกมส์” ร่วมทุนกับ “แอกซิออน เวนเจอร์ส” จากแคนาดา ซึ่งมี 2 เกมมิ่งสตูดิโอในจีน เพื่อมุ่งจะพัฒนา IP (intellectual property : ทรัพย์สินทางปัญญา) เน้นด้านโมบายเกมมิ่งที่ใช้เทคโนโลยีใหม่ ๆ ภายในไตรมาส 4 นี้จะได้เห็นเกมแรก

“ในธุรกิจเกมยิ่งมีจำนวนคนเยอะ ยิ่งพัฒนาเกมได้เร็ว แต่คนหายาก จึงลงทุนสร้างเกมอะคาเดมีติดกับเกมสตูดิโอ เพื่อพัฒนาคนไปด้วย มีหลักสูตรให้เข้ามาเรียนรู้การทำงานไปด้วย เพราะวัฒนธรรมของเราคือ หาพาร์ตเนอร์ที่ดี สร้างคนพัฒนาคน”

เบอร์ 1 ตลาด MCN ไทย

อีกธุรกิจของกลุ่มทรูที่ประสบความสำเร็จอย่างเงียบ ๆ คือ multi channel networks (MCN) คือวิดีโอครีเอเตอร์ ยูทูบเบอร์ ซึ่งเป็นอุตสาหกรรมที่ใหญ่มาก โดยตั้งบริษัทที่มีโครงสร้างเหมือนค่ายเพลง มีศิลปินที่เซ็นสัญญากับสังกัดที่คอยช่วยในการพัฒนาโปรดักต์ โดยอุตสาหกรรม MCN กลุ่มทรูเป็นเบอร์หนึ่งในไทย และเมื่อปีที่แล้วเป็นอันดับ 36 ของโลก มีวิดีโอครีเอเตอร์เกือบ 1,000 ราย ซึ่งที่ติด top 10 อยู่ในสังกัดของทรู 5 คน อาทิ เบอร์ 2 ของประเทศอย่าง “แป้ง zbing z.” มียอดคนติดตาม 6 กว่าล้าน


“นี่คือธุรกิจใหม่ยุคดิจิทัล ดิจิทัลคอนเทนต์ ไม่ใช่การย้ายรายการทีวีมาสู่ช่องทางดิจิทัล แต่เป็นตลาดกลุ่มใหม่ ซึ่งเรามีทั้งเกมแคสเตอร์ ไลฟ์สไตล์เอ็นเตอร์เทนเมนต์ ปี 2560 มี 7,000 ล้านวิว บนยูทูบและช่องทางดิจิทัลต่าง ๆ ปีนี้แค่ 6 เดือนแรกมียอด 7,000 ล้านวิวแล้ว คาดว่าสิ้นปีนี้น่าจะได้ถึง 15,000 ล้านวิว และเราการันตียอดวิวให้ อย่างใช้ช่องของแป้ง zbing z. จะมียอดคนดูถึง 1 ล้านภายใน 3 วัน นี่คือคอนเทนต์รูปแบบใหม่ที่วัดผลได้ชัดเจน จึงเป็นเหตุผลว่าทำไมงบฯลงทุนด้านดิจิทัลมีมากขึ้นเรื่อย