เกาะติดโปรเจ็กต์ “อินทนนท์” สกุลเงินดิจิทัลนำร่องของ ธปท.

Cryptocurrency หรือเงินดิจิทัลเกิดจากความต้องการสร้างเครื่องมือชำระเงินโดยไม่ใช้ตัวกลาง แต่นำเทคโนโลยีบล็อกเชน หรือ Distributed Ledger Technology (DLT) กระจายศูนย์ในการเก็บข้อมูล และการทำงานร่วมกันของผู้ใช้งานในเครือข่าย โดยปัจจุบันธนาคารกลางหรือธนาคารพาณิชย์ในหลายประเทศกำลังพิจารณาจะนำสกุลเงินดิจิทัลของธนาคารกลาง Central Bank Digital Currency (CBDC) มาใช้

แม้แต่ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ยังเปิดตัวโครงการ “อินทนนท์” ใช้บล็อกเชนแก้ปัญหาระบบชำระราคาระหว่างธนาคารทั้งในและต่างประเทศที่จะต้องผูกกับเวลาทำการของธนาคาร ถึงวันนี้คืบหน้าไปแค่ไหนอย่างไร

“ดร.อัมพร แสงมณี” ผู้อำนวยการอาวุโสฝ่ายบริหารเงินสำรองสายตลาดการเงิน ธปท. เปิดเผยในเวทีเสวนา “โครงการอินทนนท์ : สกุลเงินนำร่องในเทคโนโลยีบล็อกเชน”

โดยระบุว่า การเปลี่ยนแปลงเทคโนโลยี ทำให้เกิดธุรกรรมทางการเงินใหม่ ๆ แต่ ธปท. เห็นว่าต้องทำอย่างระมัดระวัง เพราะอ่อนไหวต่อเสถียรภาพระบบการเงินของประเทศ ปัจจุบันประเทศกลุ่มสแกนดิเนเวียหรือจีน มีการใช้เงินสดน้อยลงเรื่อย ๆ และนำ E-money มาใช้แทนจนกลายเป็น cashless society

แต่วิธีการชำระเงินแต่ละรูปแบบ ต่างมีจุดดีจุดด้อย อย่างการใช้ “เงินสด” มีต้นทุนมหาศาลในการผลิตและกระบวนการที่รองรับทั้งหมด แต่ก็มีความเป็นส่วนตัวในการทำธุรกรรม และมีเสถียรภาพสูง ขณะที่ E-money รวมถึง cashless จำเป็นต้องมีผู้ให้บริการข้อมูล จึงเป็นจุดตั้งต้นในการนำข้อมูลไปใช้กับการวิเคราะห์ต่อทางธุรกิจ เสี่ยงกับความเป็นส่วนตัว ทั้งส่วนใหญ่ยังออกแบบระบบให้มีข้อจำกัดในการเชื่อมต่อ อาทิ อาลีเพย์กับเทนเซนต์ เชื่อมต่อกันไม่ได้

“ขณะที่ Cryptocurrency หรือเงินดิจิทัล มีข้อจำกัดเรื่อง store of value หรือการรักษามูลค่ายังไม่เสถียรพอที่จะทำให้เป็นสกุลเงินจริง ๆ ควรเรียกว่าเป็น Crypto asset มากกว่า และกลายเป็นช่องทางในการปิดบังการทำธุรกรรมของธุรกิจใต้ดิน จึงเป็นจุดที่ ธปท.มองว่าจะให้เข้ามามีบทบาทในระบบธุรกรรมทางการเงินได้แค่ไหน เช่นเดียวกับระบบ decentralized หรือระบบไร้ตัวกลาง แม้จะมีข้อดีอยู่มาก แต่ยังมีข้อจำกัดเรื่องการกำกับดูแลจึงต้องคำนึงว่าจะนำคอนเซ็ปต์ส่วนใดมาใช้บ้าง”

โดย ธปท.ได้ตัดสินใจจะนำ CBDC มาใช้ในระดับโฮลเซล คือสร้างเน็ตเวิร์กเชื่อมกันในระดับธนาคารที่ร่วมโครงการเท่านั้น เพื่อให้การเชื่อมต่อระบบชำระราคาระหว่างกันสามารถทำงานได้แบบ 24×7 (24 ชั่วโมง ตลอด 7 วัน)

“คงยังไม่ทำในระดับรีเทลที่ลงไปถึงผู้บริโภค เพราะมีหลายประเด็นต้องพิจารณาในระดับนโยบายทางการเงินก่อน อาทิ ต้องมีการจ่ายดอกเบี้ยระหว่างกันหรือไม่ หากเกิดวิกฤตขึ้นในระบบจะรับมืออย่างไร เช่น เกิดปัญหาในสถาบันการเงิน เพราะต้องเป็นการควบคุมภายใต้สถานการณ์ที่ซับซ้อนขึ้น”

ปัจจุบัน ธปท.มี 2 โครงการที่กำลังดำเนินการอยู่ ได้แก่ 1.Project Scripless Saving Bond เพื่อให้เป็นข้อมูลที่จะแชร์กันภายในเน็ตเวิร์ก สำหรับการตัดสินใจซื้อพันธบัตร อาทิ โควตาในการซื้อเต็มหรือยัง จากปัจจุบันที่ยังเป็นระบบ centralized ที่ข้อมูลทุกอย่างแต่ละธนาคารต้องเข้าไปเช็กจากศูนย์ข้อมูลกลาง แต่ถ้านำระบบนี้มาใช้จะทำให้ทุกธนาคารที่อยู่ในเน็ตเวิร์กได้ข้อมูลเหมือนกันพร้อมกันอยู่ในมือ

2.โครงการอินทนนท์ จะเป็นระบบแบบ Real Time Gross Settlement (RTGS) เป็นเน็ตเวิร์กเรียลไทม์ที่จะทำให้การทำธุรกรรมแต่ละรายการมีผลสมบูรณ์ในทันที โดยมูลค่าต่าง ๆ สามารถโอนย้ายระหว่างธนาคารได้ ซึ่งไม่ได้ตั้งเป้าว่าจะพัฒนาขึ้นมาทดแทนระบบเดิม แม้สมบูรณ์แล้วก็ต้องใช้งานแบบคู่ขนานไปกับระบบเก่าก่อน

“โครงการจะค่อย ๆ ดำเนินงานทำไปทีละขั้นตอน จะเริ่ม kick off ได้ใน 1-2 เดือนนี้ แบ่งโครงการเป็น 3 เฟส แต่ละเฟสจะใช้เวลาราว 13 สัปดาห์ โดยเฟสสุดท้ายคือเฟสที่ 3 จะทดลองเชื่อมกับธนาคารต่างประเทศที่นำระบบ DLT มาใช้อย่างฮ่องกงและสิงคโปร์ ซึ่งน่าจะต้องใช้เวลาประมาณ 1 ปี”

“ดร.อัมพร” ย้ำอีกว่า เทคโนโลยีที่เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว เป็นโอกาสให้ปรับอีโคซิสเต็มทั้งหมดที่ช่วยเปลี่ยนโครงสร้างพื้นฐานใหม่ได้ ระบบนี้อาจจะไม่ใช่คำตอบทั้งหมด และต้องมีข้อระวังเยอะ อาทิ ความพร้อมของคน ความคุ้นเคยในระบบปฏิบัติการเดิม ฉะนั้น การพัฒนาต้องพิจารณาอย่างรอบด้าน