ควบรวม “แคท-ทีโอที” เรื่องเก่าเล่าใหม่-แค่เกมถ่วงเวลา ?

มาเป็นระยะ ๆ กับแนวคิดควบรวม 2 รัฐวิสาหกิจโทรคมนาคม บมจ.ทีโอที และ บมจ.กสท โทรคมนาคม (แคท) เป็น “บริษัท โทรคมนาคมแห่งชาติ” ตั้งแต่แปรสภาพจาก “องค์การโทรศัพท์ฯ” และ “การสื่อสารแห่งประเทศไทย” เมื่อ ปี 2545 และ 2546 ตามลำดับ

ล่าสุด “อัจฉรินทร์ พัฒนพันธ์ชัย” ปลัดกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอี) เปิดเผยกับ “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า เมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา ทั้งทีโอที และแคท ได้ส่งหนังสือแจ้งมติที่ประชุมคณะกรรมการของแต่ละบริษัทมายังดีอี โดยระบุว่า บอร์ดได้รับทราบแนวทางการพลิกฟื้นองค์กรด้วยการควบรวมเป็นบริษัทโทรคมนาคมแห่งชาติ

ดังนั้นภายในสัปดาห์นี้จะประชุมคณะทำงานพิจารณาแผนรองรับการเปลี่ยนผ่านทีโอทีและแคท ซึ่งมีตัวแทนของทั้งดีอี ทีโอที แคท ผู้แทนสำนักงานคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ (สคร.) เพื่อหาข้อสรุปเสนอให้คณะอนุกรรมการกลั่นกรองแผนการแก้ไขปัญหารัฐวิสาหกิจ และคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ (คนร.) พิจารณา เปรียบเทียบกับ มติ คนร. เดิมที่ให้ โอนทรัพย์สินของทั้งคู่ไปตั้ง 2 บริษัทลูก คือ NBN Co (บริษัท โครงข่ายบรอดแบนด์แห่งชาติ) และ NGDC Co (บริษัท โครงข่ายระหว่างประเทศและศูนย์ข้อมูลอินเทอร์เน็ต จำกัด) โดยระบุว่า ควบรวมเพื่อลดการลงทุนซ้ำซ้อนและความอยู่รอดขององค์กร เนื่องจากทั้ง 2 บริษัททำธุรกิจเดียวกัน

“แต่วิธีการควบรวมยังมีแนวทางต่างกัน ทั้งยังมีประเด็นด้านกฎหมายที่อาจจะติดขัด ดังนั้นต้องเสนอให้ระดับนโยบาย คือ คนร. เป็นผู้ตัดสินใจว่าจะไปแนวทางใด เพราะถ้าระดับนโยบายตัดสินใจผลักดันก็ปลดล็อกได้”

เดิมสหภาพฯค้าน-หนนี้ชงเอง

แนวคิดบริษัท โทรคมนาคมแห่งชาติ เกิดขึ้นหลายครั้งแล้ว ที่ชัดเจนคือ สมัยรัฐบาล คมช. (คณะมนตรีความมั่นคงแห่งชาติ) ปี 2549 แม้แต่รัฐบาลนี้ก็เกิดขึ้นครั้งหนึ่งแล้วในปี 2557 ที่มี “สุรชัย ศรีสารคาม” ปลัดกระทรวงไอซีที(ในขณะนั้น) เปิดประเด็น ซึ่งทุกครั้งมีเป้าหมาย “ลดการทำงานซ้ำซ้อน-ให้องค์กรอยู่รอด” โดยบอร์ดบริหาร-กระทรวงต้นสังกัดเป็นผู้เสนอ แต่มีอันต้องล้มพับ เพราะสหภาพฯคัดค้านรุนแรง

แต่ล่าสุด “สหภาพแรงงานรัฐวิสาหกิจ” ทั้ง 2 แห่ง กลับเป็นผู้เสนอเพื่อหวังใช้แทนมติ “คนร.” ที่ไม่เห็นด้วยถึงขั้นรวมตัวเดินขบวนไปยื่นหนังสือที่กระทรวงการคลัง และทำเนียบรัฐบาล และเผาโลงศพจำลองของกรรมการผู้จัดการใหญ่ ทีโอที มาแล้ว เพราะมองว่า ไม่ได้แก้ปัญหาการลงทุนหรือทำงานซ้ำซ้อน แต่เพิ่มองค์กรใหม่ที่สร้างปัญหาใหม่ขึ้นแทน เพราะ 2 บริษัทลูกก็ยังต้องอยู่ใต้กรอบรัฐวิสาหกิจ

แผนเดิมรอ พนง.เกษียณปี”70

แหล่งข่าวภายในกระทรวงดีอีเปิดเผยกับ “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า แนวคิดควบรวมเกิดขึ้นหลังสหภาพฯ คัดค้านหนัก พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี จึงให้นโยบายกับกระทรวงมาว่า ให้ไปหารือร่วมกัน 3 ฝ่ายหาแนวทางที่คิดว่าดีกว่ากลับมาเสนอให้ คนร.

โดยตอนนี้แคทเสนอให้ควบรวมทันที แต่ทีโอทีเห็นว่า ควรเริ่มทีละขั้น เพราะมีวัฒนธรรมองค์กรต่างกัน โดยให้เปลี่ยนชื่อ ทีโอที เป็นบริษัท โทรคมนาคมแห่งประเทศไทย จำกัด ก่อนในปีนี้ แล้วค่อยโอนทรัพย์สินของแคท เข้ามาจนครบในปี 2565 แล้วค่อยยุบ แคท

“ที่ผ่านมาไอเดียควบรวมทีโอที-แคทมีตลอด แต่ทำได้ยาก และกังวลว่า ยิ่งรวมยิ่งฉุดให้แย่ไปทั้งคู่ และตอนนี้ทีโอทีก็ไม่อยากรวมด้วย เพราะโครงการที่เป็นพาร์ตเนอร์กับเอกชนเริ่มมีรายได้แล้ว”

ส่วนแนวคิดการตั้ง 2 บริษัทลูกของ คนร. จึงเกิดขึ้นเพื่อแยกทรัพย์สินและคนที่ยังมีศักยภาพออกมาอยู่ในองค์กรใหม่ แล้วรอให้คนที่มีอยู่ล้นงานมากของทั้งคู่ ค่อย ๆ เกษียณออกไปจนหมดเอง โดยมีเป้าหมายว่าในปี 2570 พนักงานของทั้ง 2 บริษัทจะลดลงเหลือครึ่งหนึ่ง

“เมื่อ 5 ปีก่อน ทีโอทีมีพนักงาน2 หมื่นกว่าคน เกษียณกับเออร์ลี่รีไทร์จนปีนี้เหลือ 13,000 คน คาดว่าปี 2570 จะเหลือ 5,000 คน ส่วนแคทเดิมมี 7,000 กว่าคน ตอนนี้เหลือ 5,400 คน คาดว่าจะเกษียณจนเหลือครึ่งหนึ่งในปี 2570”

จับตาดูเกมต่อไป

ด้านแหล่งข่าวระดับสูงภายใน บมจ.ทีโอที เปิดเผยกับ “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า น่าแปลกใจที่ครั้งนี้สหภาพแรงงานรัฐวิสาหกิจของทั้งคู่ โดยเฉพาะแคท เป็นตัวตั้งตัวตีเสนอแนวทางควบรวมกิจการ เพราะแนวคิดนี้ถูกคัดค้านมาตลอดทุกครั้ง โดยเฉพาะแคทที่ยืนยันมาตลอดว่า ไม่ต้องการควบรวมกับทีโอที เพราะจะกลายเป็นการฉุดรั้งการทำธุรกิจของแคท

“เดิมพนักงานจะกลัวว่า ถ้าควบรวมแล้วต้องปลดคนที่เกินงานออก เพราะก็รู้ ๆ กันอยู่ว่า แต่ละองค์กรมีคนเกินงานอยู่เยอะ ยิ่งควบรวมยิ่งมีส่วนเกินเยอะ หนนี้จึงแปลกใจที่สหภาพฯเห็นว่า ควบรวม ดีกว่าตั้งบริษัทลูก เพราะถ้าตั้งบริษัทลูกแล้ว คนที่เหลือก็รอเกษียณอยู่บริษัทแม่ได้ แล้วบริษัทแม่ก็ยังมีรายได้จากปันผลของบริษัทลูกให้อยู่ต่อไปได้ ก็ต้องรอดูที่เสนอแบบนี้ว่าจะเล่นอะไรกันต่อไป แต่เข้าใจว่าครั้งนี้ที่ฝ่ายบริหารยอมเสนอแนวทางนี้ให้ดีอีพิจารณาเพื่อลดกระแสต่อต้านของพนักงาน”

ทีโอทีรายได้เริ่มฟื้น


ด้าน “มนต์ชัย หนูสง” กรรมการผู้จัดการใหญ่ บมจ.ทีโอที กล่าวว่าผลการดำเนินการงานของทีโอทีดีขึ้นเป็นลำดับ 6 เดือนแรกปีนี้มีผลกำไรสุทธิ 473 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีก่อนที่ขาดทุน 5,853 ล้านบาท เป็นผลมาจากการเพิ่มขึ้นของรายได้จากพันธมิตรและการควบคุมค่าใช้จ่ายอย่างเคร่งครัด โดยรายได้บรอดแบนด์เพิ่มขึ้น 2% โทรศัพท์ประจำที่เพิ่ม 22% โดยมีลูกค้ารวมกัน 1,363,800 ราย Cloud Business เพิ่ม 705% คาดว่าผลประกอบการสิ้นปีจะมีกำไร ทั้งจากรายได้ที่เพิ่มขึ้นของบริการโมบายที่ร่วมกับพันธมิตรบนคลื่น 2100 MHz และ 2300 MHz บริการให้เช่าเครื่องและอุปกรณ์โทรคมนาคมบนโครงข่าย 900 MHz และโครงการพัฒนาที่ดินหลายแปลง อาทิ โครงการพัฒนาที่ดินคลังพัสดุคลองเตย มูลค่า 1,000-5,000 ล้านบาท แผนการใช้พื้นที่ในเขตนครหลวง 3 แปลง ได้แก่ ที่ดินศาลาธรรมสพน์ ที่ดินตลิ่งชัน และที่ดินชุมสายประเวศ ซึ่งเป็นโครงการขนาดเล็ก มีมูลค่าโครงการต่ำกว่า 1,000 ล้านบาท ขยายธุรกิจ cyber security