“ดีแทค” ย้ำไม่ได้เรื่องเยอะ ยืนยันเทเลนอร์ไม่หนีไปไหน

ตั้งแต่ 3 ค่ายมือถือ พร้อมใจกัน “เท” ไม่เข้าประมูลคลื่น 1800 MHz ครั้งก่อน ก็ดูเหมือน “กสทช.” รีบรื้อกฎการประมูลให้ตามคำขอของ “ดีแทค” ยกใหญ่ ทั้งการนำคลื่น900 MHz ที่เปรยว่า “อยากได้” และการซอยบล็อกคลื่น 1800 MHzไลเซนส์ละ 5 MHz แต่สุดท้าย “ดีแทค” ก็ยังยื่นประมูลแค่ 1800 MHz พร้อมแจกแจงสารพัดปัญหาที่ทำให้เมินคลื่น 900 MHz “ประชาชาติธุรกิจ” คุยกับ “ราจีฟ บาวา” รองประธานเจ้าหน้าที่บริหาร กลุ่มกิจการองค์กรและพัฒนาธุรกิจ บมจ.โทเทิ่ล แอ็คเซ็ส คอมมูนิเคชั่น (ดีแทค) ถึงเบื้องหลังการตัดสินใจและอนาคตเมื่อสิ้นสุดสัมปทาน 15 ก.ย.นี้ ที่ยังไม่แน่ว่าจะได้เยียวยาหรือไม่ซึ่งดีแทคย้ำมาตลอดว่าเป็นคลื่นสำคัญ

Q : กสทช.ง้อสุด ๆ แต่ยังเรื่องเยอะ

ไม่เยอะนะ เพราะเงื่อนไขที่เพิ่มขึ้นมาใหม่ทำให้เราตัดสินใจไม่เข้าประมูล เป็นสิ่งที่ไม่เคยคุยกันมาก่อน ในการเปิดประชาพิจารณ์เกณฑ์การประมูลไม่ได้คุยกันเรื่องนี้ มีแค่ถกเถียงกันว่ามีความเสี่ยงสูงจากปัญหาคลื่นรบกวนกับระบบสื่อสารของรถไฟความเร็วสูงที่บอร์ดมีมติจัดสรรให้กับการรถไฟฯไป จึงสรุปกันตอนนั้นว่าจะเก็บคลื่น 900 ไว้ก่อน แต่ครั้งนี้มีมติให้นำออกมาประมูล จู่ ๆ ก็มีเงื่อนไขเพิ่มขึ้นมา ซึ่งเพิ่มภาระให้มากทั้งในเรื่องการลงทุนติดตั้งฟิลเตอร์กันคลื่นรบกวน และยังมีความเสี่ยงที่จะรับผิดชอบหากเกิดเหตุ เช่น รถไฟชนกันใหญ่เกินไปที่ใครจะรับผิดชอบได้

Q : แต่จะไม่มีคลื่น 900 ใช้

ดีแทคใช้ย่าน 850 MHz แต่ กสทช.นำมารีแบรนด์ใหม่เป็น 900 MHz ด้วยเหตุผลว่าไทยใช้ย่านคลื่นต่างจากประเทศเพื่อนบ้าน ถ้ายังใช้ 850 MHz เหมือนเดิมก็จะไปรบกวนประเทศอื่น เป็นปัญหาค้างมาจากระบบสัมปทานเดิม มติบอร์ด กสทช.จึงระบุว่า ถ้าสัมปทานดีแทคหมดต้องรีแบรนด์ให้เป็น 900 MHz แต่ก็ยังมีคลื่นในส่วนของแคท ที่ยังใช้ 850 MHz ที่จะมีปัญหาคลื่นรบกวนอยู่ แต่ยังไม่รู้ว่าเมื่อแคทหมดสิทธิ์ใช้ในปี 2568 จะมีการรีแบรนด์หรือไม่

ดีแทคใช้ 850 MHz มาตลอด ถ้าประมูล 900 MHz ได้ต้องติดตั้งอุปกรณ์ใหม่ทั้งโครงข่าย 3,000 เสา ใช้เวลา 2-3 ปี ต่อให้ประมูลได้ก็ไม่ได้ใช้งานได้ทันที ก่อนนี้เราถึงเจรจากับ กสทช.ขอใช้คลื่น 850 MHz ต่อตามประกาศมาตรการเยียวยาลูกค้าหลังสิ้นสุดสัมปทานในระหว่างรอติดตั้งอุปกรณ์ ซึ่ง กสทช.มีมติบอร์ดให้ แต่ไม่ได้ระบุไว้ในเงื่อนไขประมูล ทำให้มีความเสี่ยงเพิ่มขึ้น แต่ที่ซีเรียสที่สุดคือเรื่องความรับผิดชอบปัญหาคลื่นรบกวน

Advertisment

Q : ตอนทรูก็ยังไม่มีเน็ตเวิร์ก

ต่างกัน เพราะทรูสร้างเน็ตเวิร์กใหม่ขึ้นมาคู่ไปกับการใช้เน็ตเวิร์ก 850 MHz ของแคท จึงไม่กระทบลูกค้า แต่กรณีเราเสี่ยงที่เน็ตเวิร์กเดิมจะชัตดาวน์ใช้ไม่ได้เลย อุปกรณ์ใหม่ก็ยังติดไม่เสร็จ

Advertisment

Q : กสทช.ไม่ให้เยียวยาคลื่น 900 

ยังอยู่ในขั้นตอนเจรจา เรายังเชื่อมั่นว่าจะได้สิทธิ์เหมือน่อีก 2 ค่ายได้ตอนสิ้นสุดสัมปทาน ซึ่งดีแทคพร้อมจ่ายค่าใช้โครงข่ายให้แคท และนำส่งรายได้ในช่วงเวลาดังกล่าวให้กับรัฐ เพราะมีลูกค้าอีก 4 แสนกว่ารายที่ยังใช้งาน โดยเฉพาะ M2M (machine to machine) ที่ธุรกิจใช้ติดตั้งในฮาร์ดแวร์ต่าง ๆ ซึ่งถ้าย้ายคลื่นเขาก็ต้องใช้เวลาเปลี่ยนอุปกรณ์เหมือนกัน

Q : ไม่มีแผนสำรอง

มี เรามีแผน 1 2 3 4 คู่ขนานกันไป อย่างได้ MOU โรมมิ่งกับเอไอเอสแล้ว แต่ปัญหาคือโรมมิ่ง 2G บนโครงข่าย900 MHz ของเอไอเอสเท่านั้น แต่ 850 MHz ของเราเป็น 3G จึงไม่สามารถไปโรมมิ่งได้ ทางออกตอนนี้คือต้องเจรจากับคนที่ให้บริการ3G บน 850 MHzคือ ทรูกับแคท แต่คงไม่ง่ายจึงเน้นเจรจากับ กสทช.เพื่อเข้าสู่มาตรการเยียวยา เพราะถือเป็นความรับผิดชอบร่วมกันที่ต้องคุ้มครองผู้บริโภค

Q : กสทช.เมินข้อเสนอดีแทค

แต่เกณฑ์ประมูล 1800 MHz ใหม่ กสทช.ก็ยอมปรับให้ 2 ข้อที่เราเสนอไปทั้งยกเลิก N-1 (ไลเซนส์ที่นำออกประมูลน้อยกว่าผู้เข้าประมูล 1 จำนวน) และการซอยย่อยบล็อกคลื่นต่อไลเซนส์ ซึ่งก็ถือเป็นนิมิตหมายที่ดี

Q : รื้อเกณฑ์ 900 จะเข้าประมูล

ก็ต้องดูเงื่อนไขอื่น ๆ ด้วยว่าจะเพิ่มในส่วนที่จะทำให้ไม่สามารถใช้คลื่นได้จริงอีกหรือไม่ แต่สิ่งอยากให้ กสทช. ตัดสินใจ คือ จะจัดสรรคลื่นย่านไหนให้ระบบรถไฟ มีแนวทางที่ต่างประเทศใช้อยู่แล้ว คือ ย้ายไปอยู่ย่าน 450 MHz ในจีนเริ่มใช้ LTE-R แทน GSM-R ทำให้อุปกรณ์ต่าง ๆ ราคาถูกลงแล้ว และย่าน 450 MHz ในไทยทีโอทีก็ส่งคืนมานานแล้ว ไม่มีใครใช้งานแต่ถ้าไม่ย้ายก็ต้องมีกลไกแก้ปัญหาเพราะเงื่อนไขเดิมไม่มีค่ายไหนเข้าประมูล เช่น ให้ต่างคนต่างรับผิดชอบติดตั้งฟิลเตอร์กันเองตามหลักสากล แล้วนำเงินที่ลงทุนไปมาหักออกจากเงินประมูล หรือใช้เงินจากกองทุน USO ของ กสทช. หรือไม่ก็ย้ายบล็อกคลื่นไปอยู่ในลอตปลายสุดที่ติดกับทรูรายเดียว แทนที่จะอยู่ตรงกลางย่านรบกวนหลายค่าย

Q : คลื่นในมือตอนนี้พอให้บริการ

เพียงพอ เพราะจะประมูล 1800 MHz และมี 2300 MHz ของทีโอที

Q : ลือหนักมากเทเลนอร์ทิ้งไทย

แค่ข่าวลือ ยืนยันว่าเทเลนอร์ไม่ไปไหน ยังคงเดินลงทุนในประเทศไทย