ส่งออกซอฟต์แวร์ไทยโต11%ดีป้าชงมาตรการหนุน

“ดีป้า” เผยตลาดซอฟต์แวร์ไทยปี’59 ผลิตในประเทศลดลง 4.63% แต่ส่งออกโต 11.53% ปิดที่ 50,129 ล้านบาท เหตุบริษัทข้ามชาติย้ายฐานการผลิตมาอยู่ในไทย ชง 3 มาตรการปลุกตลาดซอฟต์แวร์ ทั้งงัดมาตรการภาษี SMEs หักลดหย่อนได้ 200% พร้อมจับมือ “ทรูอินโนเวชั่นปาร์ค” สร้างวันสต็อปเซอร์วิสเพิ่มสปีดพัฒนา

นายธนชาติ นุ่มนนท์ ตัวแทนจากสถาบัน IMC หัวหน้าโครงการสำรวจข้อมูลอุตสาหกรมซอฟต์แวร์ และบริการซอฟต์แวร์ เปิดเผยว่า ผลการสำรวจรายได้ของซอฟต์แวร์ และบริการซอฟต์แวร์ ในปี 2559 ไม่รวมซอฟต์แวร์เกมและแอนิเมชั่น มีมูลค่าการผลิต 50,129 ล้านบาท ลดลง 4.63% จากปีก่อน เป็นการผลิตใช้ในประเทศ 46,415 ล้านบาท ลดลง 5.72% การส่งออกมีมูลค่า 3,714 ล้านบาท โตขึ้น 11.53% จากบริษัทต่างชาติมาตั้งฐานผลิตในไทย

ขณะที่การบริโภคมีมูลค่า 77,7573 ล้านบาท ลดลง 5.60% แบ่งเป็นผลิตเพื่อใช้ในประเทศ 46,415 ล้านบาท ลดลง 5.72% และนำเข้า 31,158 ล้านบาท ลดลง 5.42% ซึ่งคาดจะลดต่อเนื่อง ด้วยการใช้บริการในรูปแบบคลาวด์มากขึ้น ซึ่งถือว่าน่าเป็นห่วงมาก เพราะเงินไหลออกประเทศอย่างเดียว

ส่วนการผลิตซอฟต์แวร์สมองกลฝังตัว (Embedded Software) ในปี 2559 มีมูลค่า 5,277 ล้านบาท ลดลง 12.62% แต่ในปีนี้และปีหน้าจะโตราว 5%

ด้านบุคลากรด้านซอฟต์แวร์เติบโตเพียง 0.38% เป็น 56,089 คน เนื่องจากมีผู้เลือกเรียนน้อยลง และมีอัตราการจบเพียงครึ่งหนึ่ง รวมทั้งอาจไม่ทำงานตรงสายหรือออกไปเป็นสตาร์ตอัพ แต่ยังเป็นที่ต้องการของตลาด

ส่วนเทรนด์ในปีนี้ Cloud Computing เป็นตัวแปรเปลี่ยนอุตสาหกรรมไอที รองมาคือ IoT และ Big Data โครงการจากนโยบาย Thailand 4.0 และ Digital Park การผลักดันเทคสตาร์ตอัพ รวมถึงนโยบาย Promtpay และ QR code ที่กระตุ้นให้ลงทุนด้านไอทีมากขึ้น คาดการณ์ว่าในปีนี้และปี 2561 ตลาดซอฟต์แวร์และบริการจะมีมูลค่าการผลิตในประเทศลดลง 4-5% ต่อปี จากตลาด Software-enabled Service ที่จะใหญ่ขึ้น

ด้านนายณัฐพล นิมมานพัชรินทร์ ผู้อำนวยการสำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล (ดีป้า) กล่าวว่า มี 3 มาตรการ ผลักดันคือ 1.สร้างตลาด เพิ่มสิทธิประโยชน์ทางภาษีให้ SMEs ที่มีทุนจดทะเบียนไม่เกิน 5 ล้านบาท รายได้ไม่เกิน 30 ล้านบาท ลดหย่อนได้ 200% วงเงิน 1 แสนบาท หากจะใช้บริการกับผู้ประกอบการที่มี ISO 29110 หรือ CMMI และลงทะเบียนกับดีป้าแล้ว

2.สร้างความเชื่อมั่น ส่งเสริมผู้ประกอบการซอฟต์แวร์ให้ได้รับมาตรฐาน ISO 29110 โดยความร่วมมือกับกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี NECTEC และกระทรวงอุตสาหกรรม

ปัจจุบันมีบริษัทซอฟต์แวร์ในไทยไม่ถึงพันราย ขึ้นทะเบียนแล้ว 100 ราย ตั้งเป้าปีนี้เพิ่มเป็น 200 ราย มีงบประมาณ 10 ล้านบาทช่วยค่าตรวจรับใบรับรอง 70% หรือรายละ 30,000 บาท โดยคาดว่าภายในปี 2562 จะครอบคลุม 80% ของบริษัทซอฟต์แวร์ในไทย รวมถึงมีแผนกระตุ้นบุคคลทั่วไป โดยลดภาษี 15,000 บาท ขอใบเสร็จกับร้านที่ใช้ซอฟต์แวร์ไทย

3.สร้างขีดความสามารถในการพัฒนานวัตกรรมดิจิทัล โดยตั้งสถาบันไอโอที (IoT Institute) ประกอบด้วย 1.IoT Coworking Space สำหรับผู้ประกอบการรายใหญ่และผู้ประกอบการซอฟต์แวร์ไทย เช่น อุตสาหกรรมยานยนต์ 2. Cloud Innovation Center สำหรับพัฒนาซอฟต์แวร์เซอร์วิสใหม่บนคลาวด์ 3. Big Data Center สำหรับทำโอเพ่นซอร์ซแพลตฟอร์ม และ 4.Maker Space พื้นที่จับคู่ธุรกิจ คาดว่าใช้เวลา 3 ปี 8 เดือน ในการสร้างสถาบันไอโอที

“ร่วมมือกับทรูอินโนเวชั่นปาร์ค เป็นวันสต็อปเซอร์วิส นำร่องก่อนที่สถาบันไอโอทีที่ชลบุรี รวมทั้งร่วมกับ BOI ทำ Tech Visa คาดว่าจะเริ่มในปีนี้”

เชื่อว่าทั้ง 3 มาตรการจะกระตุ้นให้อุตสาหกรรมซอฟต์แวร์กลับมาคึกคักได้อีกครั้ง จากมูลค่าปีนี้ที่ 52,000 ล้านบาทเท่าปี 2558 หรือโต 2% และตั้งเป้า 60,000 ล้านบาท ในปี 2562