ดีอีดันแผนรวมทีโอที-แคท ลุ้นกันยานี้ “คนร.”ชี้อนาคต

ไม่ง่ายควบรวม “ทีโอที-แคท” แม้ทั้งบอร์ดและพนักงาน 2 องค์กรจะเห็นด้วย เจ้ากระทรวงดีอีย้ำแผนเดินหน้าต้องตอบโจทย์ “เสริมแกร่ง-อยู่รอดได้หลังปี”68” เร่งดันข้อสรุปเสนอ คนร. เดือน ก.ย.นี้ ชี้แผนบริหารทรัพยากรต้องชัดจะรับมือคนล้นงาน-2 วัฒนธรรมที่ต่างกันอย่างไร

นายพิเชฐ ดุรงคเวโรจน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอี) เปิดเผยว่า กำลังเร่งทำข้อสรุปเสนอแนวทางพลิกฟื้น บมจ.ทีโอที และ บมจ.กสท โทรคมนาคม (แคท) ด้วยการ “ควบรวมกิจการ”ตามที่บอร์ดและพนักงานของทั้ง 2 บริษัทเสนอมา ให้ทันเข้าที่ประชุมคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ (คนร.) ในเดือน ก.ย.นี้

“ถือเป็นครั้งแรกที่ทั้ง 2 บริษัทโดยบอร์ดและพนักงานเสนอมาเองว่าจะควบรวมกิจการ แต่ถึงจะเห็นพ้องกัน แต่ยังมีรายละเอียดขั้นตอนและกรอบเวลาควบรวมที่แตกต่างกันอยู่ จึงได้ให้คณะทำงานพิจารณาแนวทางในการหาประโยชน์จากทรัพย์สินร่วมกันระหว่างทีโอทีและแคท ซึ่งมีปลัดกระทรวงฯ เป็นประธานแจ้งให้ทั้ง 2 บริษัทนำเสนอรายละเอียดเพื่อวิเคราะห์ความเห็นไปได้และผลกระทบที่จะเกิดขึ้น ทั้งกับคลื่นที่ทั้งคู่มีอยู่ในมือ ส่วนที่เป็นคดีความของทั้งคู่ ซึ่งมีทั้งที่ฟ้องกันเองและกับเอกชน คลื่นที่ถืออยู่ในมือ ที่สำคัญคือแผนการบริหารทรัพยากรที่ต้องชัดเจน เพราะทั้งคู่ก็มีพนักงานอยู่จำนวนมาก มีสิทธิประโยชน์การจ้างงาน วัฒนธรรมองค์กรที่ต่างกัน จะมีแผนอย่างไรและจะเป็นไปได้จริงแค่ไหน”

โดยต้องตอบโจทย์ที่รัฐตั้งไว้ว่า ทั้ง2 องค์กรต้องเข้มแข็ง สามารถแข่งขันกับเอกชนได้ อยู่รอดได้ โดยเฉพาะหลังจากปี 2568 ที่สิทธิ์ในคลื่นความถี่จะหมดไป

“จุดอ่อนของทั้งคู่ที่มองตัวเอง คือ กฎเกณฑ์ภาครัฐที่ทำธุรกิจลำบาก ซึ่งส่วนตัวก็มองว่า เป็นจริงในแง่เศรษฐกิจที่มีระดับการแข่งขันไม่เท่ากับเอกชน ด้วยความเป็นรัฐวิสาหกิจที่ทำให้ขาดแรงจูงใจในการพัฒนาสิ่งใหม่ และหลังปี 2568 ไม่มีคลื่นแล้วก็จะยิ่งลำบาก”

ด้านนายมรกต เธียรมนตรี รองกรรมการผู้จัดการใหญ่ ทีโอที และหัวหน้าคณะทำงานฯ เปิดเผยว่า เป้าหมายคือควบรวม แต่แนวทางยังแตกต่างกัน

“ทีโอทีเสนอต้องทำทีละขั้น เพื่อไม่กระทบด้านคดีและข้อพิพาทระหว่างทีโอที และแคท โดยเฉพาะคดีหรือข้อพิพาทที่เกี่ยวเนื่องกับบริษัทเอกชน และไม่มีผลกระทบกับสิทธิการใช้คลื่นความถี่ 2100 MHz และ 2300 MHz แต่แคทเสนอให้ควบรวมทันที”

ขณะที่คณะทำงานฯ ตั้งข้อสังเกตมาว่าการออกพระราชกฤษฎีกา ตั้งบริษัทโทรคมนาคมแห่งชาติอาจทำได้ยาก และกระทบกับสภาพการจ้างของพนักงาน ทั้งการใช้เวลานานอาจถูกแทรกแซงจากปัจจัยภายนอก