บูม “Hackathon” ปลุกไมนด์เซต SMEs-สตาร์ตอัพ

ในช่วง 2 ปีมานี้ การจัดแข่งขัน “Hackathon” เกิดขึ้นมากมายในหลายวงการ โดย Hackathon มาจากคำว่า hack+marathon ซึ่งที่ผุดขึ้นเป็นดอกเห็ดก็คือการแข่งขันการพัฒนาแอปพลิเคชั่น นวัตกรรมใหม่ ๆ สำหรับแก้โจทย์ที่ตั้งไว้ ภายในระยะเวลาที่กำหนด ล่าสุดก็มีเวทีที่เป็นความร่วมมือระหว่างสำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล (depa) กับฮับบา-เทคสตาร์ส

“ดร.ชินาวุธ ชินะประยูร”ผู้อำนวยการสถาบันส่งเสริมวิสาหกิจดิจิทัลเริ่มต้น depa กล่าวว่า ในแต่ละปีภาครัฐมีงบฯในการพัฒนาเทคโนโลยีและสนับสนุนสตาร์ตอัพประมาณ 1,000 ล้านบาท ไม่รวมงบฯการสร้างอินฟราสตรักเจอร์ ซึ่งเทียบกับงบประมาณแผ่นดิน 2 ล้านล้านบาท ถือว่าน้อยมาก เพราะสตาร์ตอัพและเทคโนโลยีใหม่ ๆ เป็นอนาคตของชาติ ขณะที่ปัญหาทรัพยากรบุคคลก็่ไม่เพียงพอในการผลักดันให้เกิดการพัฒนาสิ่งใหม่ ๆ ดังนั้นความท้าทายคือ การเข้าถึงคนเหล่านี้ให้มากที่สุดเพื่อปรับวิธีคิด

“depa เคยจัดงาน Hackathon มาบ้างแล้ว แต่มองว่าถ้าให้เอกชนจัดจะมีความพร้อมมากกว่า และมองว่าภาครัฐต้องเปลี่ยนจากทำเองเป็นฟาซิลิเตอร์ ทำงานร่วมกับภาคเอกชนแบบพาร์ตเนอร์ แทนที่จะต้องทำเองหมดทุกอย่าง จึงได้ร่วมกับฮับบา-เทคสตาร์ส จัดงานแฮคกาธอนภายใต้ชื่อ “Startup Battleground” ในงานดิจิทัลไทยแลนด์บิ๊กแบงค์ 2018 เพราะเชื่อว่า จะช่วยสร้างแรงบันดาลใจ ช่วยหางาน หาโจทย์ หากระบวนการคิดใหม่ ๆ”

โดยเปิดรับสมัครถึง 9 ก.ย. ทีมละ 4-8 คน ที่มีถิ่นพำนักอยู่ในประเทศไทย ไม่จำกัดสัญชาติ มีประสบการณ์ระดมทุนไม่เกิน 2 ล้านเหรียญสหรัฐ และมีไอเดียที่พร้อมจะนำมาต่อยอดพัฒนาในงานนี้ พร้อมชิงรางวัลรวมกว่า1.5 ล้านบาท

“อมฤต เจริญพันธ์” ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและผู้ร่วมก่อตั้ง บริษัท ฮับบา จำกัด (HUBBA) กล่าวว่า สิ่งสำคัญในงาน Hackathon จำเป็นต้องสร้างคนเก่ง ๆ เพื่อสร้างธุรกิจให้เติบโต เพราะบางคนเก่ง มีประสบการณ์มานาน แต่ไม่มีโอกาสเป็นเจ้าของธุรกิจ Hackathon จึงเป็นเวทีให้คนมาประลองฝีมือ มาสร้างเน็ตเวิร์ก สร้างโอกาสต่าง ๆ

โดยในงานครั้งนี้ได้มีโจทย์ 10 หัวข้อ new S-curve ในการระดมไอเดีย ได้แก่ 1.เทคโนโลยีด้านการท่องเที่ยว (Travel Tech) 2.เทคโนโลยีด้านอาหาร (Food Tech) 3.เทคโนโลยีด้านเกษตรกรรม (Agri Tech) 4.ซอฟต์แวร์ในรูปแบบบริการ (Software as a Service หรือ SaaS) 5.เทคโนโลยีด้านการอยู่อาศัย (Living Tech) 6.เทคโนโลยีด้านการศึกษา (Ed Tech) 7.เทคโนโลยีสีเขียว (Green Tech) 8.เทคโนโลยีด้านทรัพยากรมนุษย์ (HR Tech) 9.เทคโนโลยีด้านอีคอมเมิร์ซ (e-Commerce) 10.เทคโนโลยีด้านสุขภาพ (Health Tech) ปัจจุบันมี 4 อุตสาหกรรมที่เห็นการเปลี่ยนแปลงชัด ได้แก่ การแพทย์, อาหาร, การเกษตร และการท่องเที่ยวที่เริ่มนำเทคโนโลยีเข้ามาปรับใช้

“วิศิษฐ์ ยินดีสิริวงศ์” ผู้จัดการบริษัท Omise ประเทศไทย ตัวแทนที่เคยเข้าร่วมงาน Hackathon กล่าวว่า สตาร์ตอัพต้องคิดรอบด้าน ดังนั้น การเข้าร่วม Hackathon จะได้รับความรู้ในระดับเริ่มต้น ทำให้ไม่ต้องไปเสียเวลาทำเอง ถือเป็นทางลัดในการเติบโตของสตาร์ตอัพ เช่น มาหาทีมหรือนำไอเดียไปต่อยอด

“Hackathon เป็นกิจกรรมที่ดี อยากให้รัฐและเอกชนสนับสนุน เพราะว่าการแข่งขันนี้จะช่วยดึงศักยภาพออกมาได้เต็มที่ ถ้าไม่มีโจทย์ก็เท่ากับไม่มีเป้าหมายของประเทศ Hackathon จึงเป็นเครื่องมือสำคัญที่ให้คนที่มีไอเดียได้เจอคนเยอะ และดึงคนเข้ามาเป็นสตาร์ตอัพมากขึ้น ช่วยให้คนได้ไอเดียใหม่ ๆ เพื่อแก้ปัญหา”

“ดร.ชินาวุธ” กล่าวเสริมว่า งาน Hackathon จะเป็นทางลัดให้บรรดาสตาร์ตอัพ รวมถึง SMEs ได้เรียนรู้เทคโนโลยีใหม่ และรู้ว่าต้องปรับเปลี่ยน จะอยู่แค่ในคอมฟอร์ตโซนไม่ได้ แต่ที่ผ่านมางาน Hackathon มักมีจุดอ่อนคือ ไม่เกิดการต่อยอด บางหน่วยงานจัดเสร็จก็จบ ทำให้สตาร์ตอัพหรือ SMEs ที่มีไอเดียดีฟอร์มทีมได้ดี แต่พัฒนาต่อไม่ได้เพราะไม่มีงบประมาณ จึงเกิด “depa fund” เพื่อเป็นกองทุนให้สตาร์ตอัพระดับเริ่มต้น และมี “grow fund” ให้กับสตาร์ตอัพที่มีธุรกิจแล้ว รวมทั้งมีโครงการอบรมบ่มเพาะ (accelerate) ช่วยส่งเสริมให้ครบวงจร