นับหนึ่ง “เรียกคืนคลื่น”

ตั้งท่าจะเรียกคืนคลื่น 2600 MHz ที่อยู่ในมือของ บมจ. อสมท กว่า 190 MHz นำออกมาจัดสรรใหม่ พักใหญ่แล้ว โดยเลขาธิการ กสทช. “ฐากร ตัณฑสิทธิ์” คาดว่าน่าจะนำออกประมูลได้ 3-4 ใบอนุญาต แต่ติดขัดเรื่องการเยียวยาจากการเรียกคืนคลื่น

แต่ล่าสุดที่ประชุมคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) เมื่อ 15 ส.ค. 2561 มีมติเห็นชอบ (ร่าง) ประกาศ กสทช. เรื่อง หลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไข การเรียกคืนคลื่นความถี่ที่ไม่ได้ใช้ประโยชน์ หรือใช้ประโยชน์ไม่คุ้มค่า หรือนำมาใช้ประโยชน์ให้คุ้มค่ายิ่งขึ้น

โดยจะเข้าสู่กระบวนการเปิดรับฟังความคิดเห็นสาธารณะต่อไป ก่อนปรับปรุงแก้ไข เพื่อประกาศใช้ต่อไป

สาระสำคัญคือให้ กสทช. เรียกคืนคลื่นมาจัดสรรใหม่ได้ ใน 3 กรณี ได้แก่ 1.คลื่นที่ไม่ได้ใช้ประโยชน์ 2. ใช้ประโยชน์ไม่คุ้มค่า 3.นำมาใช้ประโยชน์ให้คุ้มค่ายิ่งขึ้น แต่จะไม่รวมถึงคลื่น 700 MHz ที่ใช้ในกิจการบรอดแคสต์ขณะนี้

โดยต้องจัดทำรายงานวิเคราะห์การเรียกคืนคลื่นที่ไม่ได้ใช้งาน หรือใช้ประโยชน์ไม่คุ้มค่า หรือนำมาใช้ประโยชน์ให้คุ้มค่ายิ่งขึ้น โดยต้องมีข้อมูล 6 ด้าน ได้แก่ 1.วัตถุประสงค์ แนวทางการเรียกคืนคลื่น จำนวนที่จะเรียกคืน 2.ผู้รับอนุญาตให้ใช้คลื่น 3.สถานะการถือครอง การใช้งานคลื่น 4.ผู้ที่ได้รับผลกระทบจากการถูกเรียกคืน 5.กรอบระยะเวลาในการเรียกคืนและนำไปจัดสรรใหม่ 6.ประโยชน์ทางเศรษฐกิจและสังคมที่จะได้จากการจัดสรรใหม่

จากนั้นให้นำเสนอต่อที่ประชุม กสทช. หากเห็นชอบ ให้สำนักงาน กสทช. ทำหนังสือแจ้งหน่วยราชการเจ้าของคลื่นภายใน 7 วัน นับแต่มีมติ โดยหน่วยงานเจ้าของคลื่นต้องมีหนังสือยืนยันการคืนคลื่นทั้งหมดหรือบางส่วน พร้อมแจ้งแนวทางการคืนคลื่นและนำส่งเอกสารประกอบ หรือหนังสือปฏิเสธการคืนคลื่นต่อ กสทช.ภายใน 90 วัน

ส่วนการประเมินมูลค่าการเรียกคืนคลื่นความถี่ และการทดแทน ชดใช้ หรือจ่ายค่าตอบแทนสำหรับผู้ถูกเรียกคืนคลื่น ให้สำนักงาน กสทช. จ้างสถาบันการศึกษาหรือสถาบันวิจัยของรัฐอย่างน้อย 3 แห่ง เป็นผู้ประเมิน โดยต้องคำนึงถึงสิทธิของผู้ที่ได้รับผลกระทบ ได้แก่ 1.ข้อมูลการอนุญาตให้ใช้ การติดตามตรวจสอบการใช้คลื่น 2.ความเหมาะสมในการจัดหาความถี่อื่นมาทดแทน 3.ระยะเวลาในการทดแทน แต่ทั้งนี้ต้องไม่เกินระยะเวลาตามสิทธิที่ได้รับอนุญาตเดิ

ขณะที่การจ่ายค่าตอบแทน จะมีเลขาธิการ กสทช. หรือรองฯ ผู้แทนกระทรวงการคลัง สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา สำนักงานอัยการสูงสุด สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ สำนักงบประมาณ และ สำนักงานคณะกรรมการดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ