คอมเซเว่นปักธง 600 สาขาปั๊มรายได้ 20%

BaNANA Mega Store - สาขาใหญ่สุดมีครบทั้งสินค้ารุ่นใหม่และ outlet โละสต๊อกลดสูงสุด 80% รวมถึงโซนออนไลน์ให้สั่งซื้อของที่อยากได้แต่หาไม่เจอ

ตลาดไอทีปีนี้ยังโตได้ แถมลูกค้ายอมจ่ายแพงขึ้น “คอมเซเว่น” ทุ่ม20 ล้านเปิดตัว BaNANA Mega Store รับกระแส พร้อมขยาย 600 สาขาในสิ้นปี ปรับโฉมเว็บไซต์ก้าวสู่ออมนิแชนเนล ปั๊มรายได้อีก 20% หลัง 6 เดือนแรกโชว์ยอดขายโต 33% เล็งปล่อยสินเชื่อให้ลูกค้าได้ปีหน้า

นายสุระ คณิตทวีกุล ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บมจ.คอมเซเว่นกล่าวว่า ภาพรวมตลาดสินค้าไอทีปีนี้ คาดว่าโตไม่เกิน 10% ด้วยดีมานด์ของผู้บริโภคที่อยากจะเปลี่ยนหรืออัพเกรดเครื่องใหม่ และกระแสของเกม โดยคาดว่าตลาดสมาร์ทโฟนจะมียอดขาย 15 ล้านเครื่อง คอมพิวเตอร์ 2 ล้านเครื่อง และมีราคาเฉลี่ยสูงขึ้น โดยสมาร์ทโฟนที่ขายดีอยู่ในช่วง 7,000-11,000 บาท ส่วนคอมพิวเตอร์ โน้ตบุ๊ก ขยับจาก 13,000 บาท เป็น 18,000 บาท ส่วนลูกค้า Com7 มียอดซื้อเฉลี่ย/บิล 7,000 บาท

ล่าสุดบริษัทจึงได้เปิดตัว “BaNANA Mega Store” ณ ศูนย์การค้าซีคอนสแควร์ ชั้น G พื้นที่ 1,000 ตร.ม. ใหญ่กว่าสาขาปกติ 10 เท่า รองรับการเปิดตัวสินค้าไอทีที่มีรุ่นใหม่ตลอดเวลา

“เดิมมี clearance สินค้าปีละ 3 ครั้งที่โกดัง ยอดขาย 10-20 ล้านบาท/ครั้ง ซึ่งเสียโอกาสถ้าขายไม่กี่วัน จึงเปิดเป็น outlet คาดว่าจะทำรายได้ราว 30-40 ล้านบาท/เดือน ช่วยลดค่าเสื่อมจากสินค้าที่มีปีละ 70-100 ล้านบาทได้ จากสต๊อกที่มี 3,000 กว่าล้านบาท”

โดยใช้งบประมาณ 20 ล้านบาท 150 ล้านบาทที่ใช้ขยายสาขาทั้งปี และมีแผนจะขยาย BaNANA Mega Store ไปมุมเมืองของในกรุงเทพฯ แต่ไม่เกิน 4-5 สาขา ส่วนสาขาธรรมดาจะขยายให้ครบ 600 สาขาในปีนี้ แบ่งเป็นสาขาที่บริหารเอง 500 สาขา แฟรนไชส์ 100 สาขา จากปัจจุบันมี 434 สาขา

ด้านภาพรวมธุรกิจ ครึ่งปีแรกบริษัทมีรายได้ 12,900 ล้านบาท โต 33% โดย 50% มาจากสมาร์ทโฟน จึงปรับเป้ารายได้ทั้งปีจากเติบโต 15% เป็น 20% จากปีก่อนที่ 22,584 ล้านบาท

“บริษัทมีสินค้าที่หลากหลาย และเพิ่งหันมาขายสมาร์ทโฟนบางสาขา จึงยังเติบโตได้อีกมาก และจะขยายไปต่างจังหวัดมากขึ้น มีการขายเครื่องพ่วงซิม และธุรกิจ iCare รวมถึงเจาะกลุ่ม B2B และมุ่งสู่ออมนิแชนเนล โดยช่องทางออนไลน์มียอดขาย 30 ล้านบาท/เดือน และคาดว่าภายใน 6 เดือนจะมียอดขาย 100 ล้านบาท/เดือน”

นอกจากนี้กำลังหาธุรกิจใหม่มาต่อยอดการใช้พื้นที่ในร้าน ล่าสุดลงทุนในธุรกิจลีสซิ่ง ปีหน้าน่าจะได้เห็นการปล่อยสินเชื่อให้กับลูกค้าที่จะมาซื้อสินค้า