Crazy Socks : กิจการสานฝัน ปันสุข ของหนุ่มดาวน์ซินโดรม

คอลัมน์ สตาร์ตอัพปัญหาทำเงิน
โดย มัชฌิมา จันทร์สว่างภูวนะ

ปลายปี 2016 “จอห์น โครนิน” หนุ่มวัย 22 กับ “มาร์ก” ผู้พ่อ เริ่มต้นธุรกิจด้วยการขายถุงเท้าลายตลก ๆ กวน ๆ “Crazy Socks”ไม่ถึง 2 ปี ทีมพ่อลูกคู่นี้ทำรายได้ไปแล้วกว่า 4 ล้านเหรียญ

ที่น่าประทับใจ คือ “จอห์น” ไม่ได้จบฮาร์วาร์ด หรือมหาวิทยาลัยชื่อดัง เหมือนสตาร์ตอัพรุ่นใหม่ทั่วไป เขาไม่ได้ตั้งหน้าตั้งตาจะมา disrupt ตลาด และไม่ได้มีสุดยอดนวัตกรรมพลิกโฉม

สิ่งที่เขามีคือ passion รักในสิ่งที่ทำ และที่สำคัญ คือ รักและเคารพ “ตัวเอง”

“จอห์น” เกิดมาพร้อมกับโรคดาวน์ซินโดรม เหมือนเด็กอีกหลายล้านคนทั่วโลก แต่โชคดีที่มีครอบครัวที่เข้าใจและให้ความรักอย่างเต็มเปี่ยม ทำให้เขาไม่รู้สึกด้อยกว่าคนอื่น

ในคลิปวิดีโอสัมภาษณ์อันหนึ่ง มาร์กแกล้งถามลูกว่า “จอห์น ลูกเป็นดาวน์ซินโดรมใช่มั้ย” “ครับ” จอห์นตอบ พร้อมยิ้มแฉ่งใส่กล้อง “ผมเป็นดาวน์ซินโดรม แต่ดาวน์ซินโดรม ทำอะไรผมไม่ได้ร็อก (เสียงสูง)” ก่อนชูกำปั้นขวาขึ้นสุดตัวคล้ายเป็นสัญญาณว่า “สู้เว้ย”

การสอนให้ “ยอมรับในสิ่งที่เป็น” ไม่ได้หมายความว่า มาร์กจะปล่อยให้จอห์น “ยอมจำนนต่อโชคชะตา” เขาให้กำลังใจลูกชาย และพร้อมส่งเสริมเสมอเมื่อจอห์นมีไอเดียใหม่ ๆ มาเสนอ

Crazy Socks ก็มาจากจอห์นอยากทำธุรกิจของตัวเองหลังเรียนจบไฮสกูล มาร์กให้ลูกคิดก่อนว่า “ชอบอะไร” ตอนแรก จอห์นอยากเปิด food truck เพราะชอบกิน แต่ติดที่ทั้งเขาและพ่อต่างทำกับข้าวไม่เป็น เลยต้องพับไป จากนั้นก็ปิ๊งไอเดียขายถุงเท้าลายบ๊อง ๆ ตลก ๆ เวลาใครถามว่า ทำไม จอห์นจะตอบว่า “เพราะผมชอบถุงเท้าพวกนี้ มันทั้งสนุก ทั้งขำ มันทำให้ผมมีความคิดสร้างสรรค์ และได้เป็นตัวของตัวเอง”

พ่อลูกถ่ายคลิปสั้น ๆ ให้จอห์นแนะนำแบรนด์ตัวเอง ซึ่งทันทีที่เปิดตัว ก็เริ่มมีออร์เดอร์เพราะคนชอบคลิปของจอห์น พ่อลูกช่วยกันบรรจุของใส่กล่องสีแดงสด แนบการ์ดขอบคุณที่จอห์นเขียนเองกับมือ (พร้อมใส่ลูกอมเข้าไปในกล่องเป็นของแถม) ก่อนขนขึ้นท้ายรถแล้วขับไปส่งถึงหน้าบ้าน พอลูกค้าเปิดประตูมาเจอจอห์นยืนยิ้มหวานพร้อมกล่องถุงเท้าก็พากันปลาบปลื้ม ขอเซลฟีกับหนุ่มจอห์นกันยกใหญ่ ก่อนแชร์ผ่านโซเชียล จากนั้นออร์เดอร์ก็หลั่งไหล จนสต๊อกหมดเกลี้ยงภายในเดือนเดียว

มาร์กบอกว่า Crazy Socks ต้องการกระจาย “ความสุข” ให้สังคม กับ 4 แกน การสร้างแรงบันดาลใจและความหวัง-เพื่อให้สังคมเห็นว่าคนพิการก็ประสบความสำเร็จได้ หากได้รับโอกาส โดยกว่าครึ่งของคนงาน 35 คนของ Crazy Socks เป็นผู้พิการ นอกจากนี้ ยังออกบรรยายตามโรงเรียนและงานสัมมนาเพื่อส่งเสริมเรื่องโอกาสคนพิการ

การตอบแทนสังคม-ตั้งแต่เริ่มกิจการก็มีนโยบายมอบรายได้ 5% ให้โครงการ Special Olympics และยังผลิตคอลเล็กชั่นพิเศษงานการกุศลด้วย เบ็ดเสร็จตั้งแต่เปิดกิจการมา ระดมทุนเพื่อการกุศลได้กว่า 130,000 เหรียญ

การขายถุงเท้าที่เป็นที่ชื่นชอบของทุกคน-Crazy Socks มีกว่า 2,000 ลาย สำหรับทุกเพศทุกวัย และผลิตคอลเล็กชั่นใหม่ต่อเนื่อง ความเป็นกันเอง-สินค้าจะถูกส่งออกวันเดียวกับที่มีออร์เดอร์เข้ามา ที่พิเศษคือ ทุกกล่องจะมีการ์ดขอบคุณด้วยลายมือของจอห์น พร้อมทอฟฟี่แสนอร่อย ถ้าลูกค้าอยู่ไม่ไกล จอห์นก็อาจไปส่งด้วยตัวเอง การ make it personal นี้ ช่วยเพิ่มความเป็นกันเอง และสร้างความผูกพันกับลูกค้า

มาร์กพบว่า การค้าขายไม่จำเป็นต้องจ้องกอบโกยอย่างเดียว ลูกค้าไม่ได้ชอบ Crazy Socks เพราะตัวสินค้าอย่างเดียว แต่ชอบแนวทางการทำธุรกิจด้วย สะท้อนเป็นผลประกอบการที่ดีวันดีคืน ซึ่งยิ่งตอกย้ำความเชื่อของเขาว่า “ยิ่งให้ ก็ยิ่งได้”