ไม่ยอมหมดหวัง! “กสทช.” เล็งจัดประมูลคลื่น 900 MHz -1800 MHz อีกรอบ ก.พ 62

ผู้สื่อข่าว “ประชาชาติธุรกิจ” รายงานว่า เมื่อวันที่ 22 ส.ค. 2561 คณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) มีการประชุมบอร์ด โดยมีวาระสำคัญคือ การรับรองผลการประมูลคลื่น 1800 MHz เมื่อวันที่ 19 ส.ค. ที่ผ่านมา

นายฐากร  ตัณฑสิทธิ์ เลขาธิการ กสทช. เปิดเผยว่า ที่ประชุม กสทช. ได้รับรองผลการประมูลคลื่น 1800 MHz  ซึ่งบริษัท ดีแทค ไตรเน็ต จำกัด (DTN) ในเครือดีแทค และบริษัท แอดวานซ์ ไวร์เลส เน็ทเวอร์ค จำกัด (AWN)  ชนะการประมูลบริษัทละ 1  ใบอนุญาต ในราคา 12,511 ล้านบาทต่อไลเซนส์ โดยจะทำหนังสือแจ้งให้ทั้ง 2 บริษัทมาชำระเงินประมูลงวดแรก 50% ของราคาประมูลภายใน 90 วัน

ส่วนคลื่นความถี่ 1800 MHz ที่เหลืออยู่อีก 7 ใบอนุญาต และคลื่น 900 MHz ขณะนี้กำลังอยู่ในระหว่างการศึกษาประเมินความเหมาะสมอีกครั้ง แต่ราคาเริ่มต้นจะยังใช้ราคาเดิม แต่จะมีการขยายระยะเวลาชำระเงิน อาทิ คลื่น 1800 MHz ที่แบ่งการชำระเงินออกเป็น 3 ปี จะขยายเป็น 5 หรือ 6 ปีเพื่อจูงใจ ส่วนคลื่นในย่าน 900 MHz ที่มีเงื่อนไขชำระเงิน 4 ปี อาจจะขยายเป็น 8 – 10 ปีแทน  รวมถึงกระบวนการป้องกันคลื่นรบกวน ซึ่งอาจจะใช้เงินลงทุนจากกองทุน USO ของ กสทช.

“อาจจะใช้เวลาศึกษาราว 2 – 3 สัปดาห์ ก่อนจะเสนอให้บอร์ดพิจารณาต่อไป แต่ไม่ว่าจะเป็นแนวทางใดก็ต้องนำไปรับฟังความเห็นสาธารณะก่อน และปรับปรุงเพื่อให้เกิด 5G ในปี 2563 ให้ได้ กรอบเวลาช้าสุดภายใน 1 เดือนต้องมีแนวทางพร้อมเสนอบอร์ด คร่าวๆ คือ 2 เดือนจะเริ่มนำร่างหลักเกณฑ์การประมูลไปเปิดประชาพิจารณ์ได้ ส่วนการประมูลก็จะเดินหน้าต่อไปโดยบอร์ด กสทช. ซึ่งการเคาะราคาจะทำได้เร็วสุดคือ ก.พ. – มี.ค. 2562  เพียงแต่ยังไม่รู้ว่าบอร์ดชุดนี้จะยังอยู่ในตำแหน่งไปถึงเมื่อไร”

นอกจากนี้ทางดีแทคได้ทำหนังสือขอใช้สิทธิ์เข้าสู่มาตรการเยียวยาทั้งคลื่น 900 และ 1800 MHz เพราะมีความประสงค์จะใช้งานคลื่น เพียงแต่คลื่น 900 MHz มีปัญหาอุปสรรคมากในการใช้คลื่น ทั้งการติดตั้งระบบป้องกันคลื่นรบกวนและงวดการชำระเงิน  ซึ่งสำนักงาน กสทช. จะนำบรรจุเข้าวาระการประชุมอนุกรรมการกลั่นกรองงานด้านโทรคมนาคมวันที่ 29 ส.ค. 2561 ก่อนเข้าที่ประชุมบอร์ด กสทช. ซึ่งต้องให้ได้ข้อสรุปก่อน 15 ก.ย. 2561  โดยปัจจุบันมีลูกค้าคงเหลือในสัมปทานดีแทคราว 1.8 แสนราย

“ดีแทคขอใช้คลื่น 1800 MHz อีก 15 MHz นอกเหนือจากที่ประมูลไปได้ 5 MHz ตามสิทธิ์ในสัมปทานเดิมที่ได้ใช้งาน ซึ่งเป็นส่วนที่ยังไม่ได้ถูกผู้เข้าประมูล  แต่ตามปกติมาตรการเยียวยาจะสิ้นสุดลงเมื่อผู้ชนประมูลคลื่นนำเงินค่าประมูลมาชำระ ก็ต้องให้บอร์ด กสทช. มีมติ  ส่วนคลื่น 900 MHz ก็ขอมาด้วยอีกเหตุผล ซึ่ง กสทช. ต้องให้ความเป็นธรรมกับทุกคน สิ่งใดที่มีเหตุและผลที่ดี เป็นประโยชน์ต่อประเทศก็เลือกตัวนั้นออกมา”

ส่วนคลื่น 900 MHz ที่จัดสรรให้การรถไฟแห่งประเทศไทยไปก่อนหน้านี้  เป็นไปตามที่กระทรวงคมนาคมขอมา เมื่อเป็นนโยบายรัฐ ก็ต้องอนุมัติจัดสรรให้ โดยยังไม่ได้ทำบทวิเคราะห์จากการจัดสรรดังกล่าว จึงต้องเตรียมทำบทวิเคราะห์เสนอให้คณะกรรมการดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม(ดีอี) ซึ่งมีนายกรัฐมนตรีเป็นประธาน พิจารณาถึงผลกระทบที่จะเกิดขึ้นอีกครั้ง